Skip to main content
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน

 
 
1. Karl Marx และ Friederich Engels "Manifesto of the Communist Party" (1848) เล่มนี้หลุดลิขสิทธิ์มานานแล้วครับท่านหาอ่านฟรีๆ ได้ไม่ยาก อ่านแล้วจะได้รู้บ้างว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างไร สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเกี่ยวกันอย่างไร ไม่ต้องอ่านตอนท้ายที่แนะนำแนวทางการปฏิวัติก็ได้ เพราะยังไงท่านก็รู้วิธีอยู่แล้ว เพียงแต่ท่านไม่มีบทวิเคราะห์ที่ดี ก็เลยแนะนำบ้างอะไรบ้าง เล่มนี้มีแปลเป็นไทยแล้วนะ หาดูในเน็ตก็แล้วกัน รู้ใช่ไหม
 
   
 
2. และ 3. Anthony Reid "Southeast Asia in the Age of Commerce" (1988) มีสองเล่ม สองเล่มนี้จะช่วยให้ท่านผู้นำเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ไทยเข้ากับประวัติศาสตร์ภูมิภาคอาเซียนและประวัติศาสตร์โลกได้บ้าง เผื่อท่านจะเข้าใจว่า สมัยก่อนเขาไม่ได้รบกันเลือดพุ่งตายเป็นเบือแบบความรู้จากหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวร เพราะเขารบกันเพื่อเอาแรงงาน แถมมีประวัติศาสตร์เรื่องเพศ ที่พวกผู้ชายต้องคอยเอาใจหญิงๆ รวมทั้งประวัติความยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมาย รับรองว่าจะทำให้ท่านดูฉลาดหน้าจอไปได้อีกนานเท่านานทีเดียว สองเล่มนี้ก็มีแปลแล้วนะ แต่ต้องหาซื้อนะ ของฟรีไม่มีบ่อยๆ หรอก เข้าใจนะ
 
 
4. Plato "Republic" (380 ปีก่อนคริสตกาล) หนังสือเล่มนี้มีชายคนหนึ่ง ชื่อโสเกรติส เป็นคนช่างสงสัย เที่ยวถามคนเรื่องต่างๆ ที่ใหญ่ๆ โตๆ ทั้งสิ้น ที่จริงเพลโตเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม แต่แนะนำเล่มนี้ก็เพื่อว่าท่านจะได้เอาไว้อวดคนได้ เพราะคนรู้จักเล่มนี้มากหน่อย ที่จริงเพลโตเป็นคนเขียน แต่โสกราตีส ที่ว่ากันว่าเป็นอาจารย์เพลโต เป็นคนเล่าเรื่อง เป็นคนเที่ยวซักคนอื่นๆ อย่างน้อยถ้าท่านอ่าน ก็จะได้อ่านไปคิดตามไป รับรองว่าฉลาดขึ้นภายในชั่วอายุขัยที่เหลืออยู่ของท่านได้แน่นอน เล่มนี้มีแปลมากกว่าหนึ่ง version แล้วนะ เข้าใจนะ (สำนวนแปลล่าสุดของเวทัส โพธารามิก ดาวน์โหลดได้ฟรี)
 
 
5. Milinda Panha (มิลินทปัญหา) (100 ปีก่อนคริสตกาล) เพื่อเอาใจท่าน ขอแนะนำหนังสือที่ชื่อดูไทย แต่ที่จริงเป็นเรื่องที่มีฉากแข้กแขก ชื่อเรื่องก็เป็นภาษาแขกแล้ว แต่ท่านอ่านเถอะ สนุกมาก เป็นการถามตอบระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน ว่ากันว่าพระเจ้ามิลินท์น่าจะมีตัวตนจริงแต่พระนาคเสนน่ะไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร แต่ที่มาของหนังสือไม่ทำให้น่าอ่านเท่ากับเรื่องราวที่ท่านทั้งสองถามตอบกันหรอก สนุกและชวนคิดไปอ่านไปไม่แพ้ Republic แน่นอน ที่จริงหากท่านอ่านแค่ 2 เล่มนี้ ก็บันเทิงสมองมากมายแล้ว เล่มนี้น่ะมีภาษาไทยนะ หนาหน่อย แต่อ่านเถอะ จะได้ไม่กลัวการตอบคำถามนักข่าว เข้าใจนะ
 
 
6. ยศ สันตสมบัติ "สืบสายเลือด" (2531) เป็นรวมเรื่องสั้นที่เขียนจากเรื่องราวชีวิตจริงของคนที่ต่างๆ ทั่วโลก จากประสบการณ์ของนักมานุษยวิทยา นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมซื้อแจกเพื่อนๆ ไปทั่ว ท่านผู้นำก็ควรจะได้รับแจกจากผมเช่นกัน แต่แค่แจกชื่อให้ท่าน ท่านก็คงมีปัญญาไปหาซื้อเองได้แหละ หนังสือเล่มนี้อ่านแล้วกินใจ ทำให้การเข้าใจคนในสังคมต่างๆ ไม่แห้งแล้ง ทำให้เห็นมนุษย์หลายมุมมองมากขึ้น ช่วยให้อ่อนโยนต่อทางเลือกในการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ท่านจะได้เข้าใจคำพูดที่ท่านชอบพูดติดปากว่า "เข้าใจใช่ไหม" "เข้าใจนะ" มากขึ้นว่า การเข้าใจนั้น ที่จริงแล้วคืออะไรกันแน่ เข้าใจนะ
 
 
7. Italo Cavino "Difficult Loves" (1970) ที่จริงมีวรรณกรรมหลายเล่มนะที่ท่านอาจชอบ ก็ไม่รู้เหมือนกันทำไมที่เมื่อทำตามกฎที่เขาว่าให้นึกเร็วๆ แล้ว เล่มนี้ขึ้นมาก่อน คงมีอะไรเกี่ยวกับท่านบ้างแหละ เล่มนี้รวมเรื่องสั้นของคู่รักแปลกๆ หลายแบบ ท่านอาจชอบหรือไม่ชอบก็เรื่องของท่าน แต่มันสร้างจินตนาการสมจริงในการดิ่งเข้าไปทำความเข้าใจโลกอันขัดแย้งกันระหว่างชีวิตกับความใคร่ได้พิลึกดี ท่านไม่อ่านก็ไม่เป็นไรนะ แนะนำไว้เผื่อว่าท่านจะสนใจน่ะ เท่าที่รู้เล่มนี้ยังไม่มีแปลนะ ลองพิมพ์เอาคำแปลใน google translate เอาก็แล้วกัน บันเทิงไปอีกแบบนะ
 
 
8. จิตร ภูมิศักดิ์ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และชื่อชนชาติขอม" (2519) ถ้าท่านอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการน่ะ ท่านจะรู้มุมมองด้านเดียว แต่ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองไม่เป็นทางการน่ะ ท่านจะได้อ่านมากกว่าหนึ่งมุมมองในเล่มเดียวกัน เพราะอะไรน่ะเหรอ ก็เพราะคนที่จะเถียงน่ะ เขาก็จะสรุปทั้งมุมมองที่เขาจะเถียงด้วยและมุมมองของเขาให้ท่านอ่านไง อย่างน้อยท่านจะได้รู้ว่า เมื่อท่านเอาปัญญาชนไปขังน่ะ เขากลับจะทำงานทางปัญญาได้มากกว่าปัญญาชนที่ปรี่เข้าไปรับใช้ท่าน แต่นอกจากนั้น ท่านอาจกลับใจเพราะรู้ขึ้นมาบ้างว่า ความเป็นไทยน่ะ ไม่ได้จำกัดอยู่ในเขตแดนแคบๆ อย่างที่ประวัติศาสตร์ในโรงเรียนทหารท่านสอนหรอกนะ
 
 
9. Nancy Scheper-Hughes "Death Without Weeping: The Violence of Everyday Life in Brazil" (1993) ที่จริงก็ไม่ค่อยอยากแนะนำหนังสือภาษาอังกฤษให้ท่านหลายเล่มหรอกนะ แต่เพราะคิดว่า ท่านคงอ่านภาษาอังกฤษออกน่ะแหละ เล่มนี้หนาหน่อยนะ รวม 600 หน้า ทำไมควรรู้เกี่ยวกับบราซิล (เดิมพิมพ์ผิดเป็นแม็กซิโก) น่ะหรอ ไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ คนเราอ่านหนังสือเพื่อเรียนวิธีคิดไปพร้อมๆ กับอ่านเอาเรื่องน่ะ โลกนี้มีการอ่านที่ "อ่านเอาเรื่อง" และ "อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง" น่ะ อ่านแบบหลังนี่รู้จักไหมท่าน หางานของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์มาอ่านแล้วท่านจะรู้ เข้าใจนะ หนังสือของเชฟเปอร์-ฮิวส์น่ะ ช่วยให้เข้าใจว่าทำไมคนจนที่นั่นจึงยอมรับความตายก่อนวัยของเด็กๆ ได้ ทำไมความรักของแม่จึงไม่ใช่สิ่งสากล ทำไมอารมณ์ ฐานะทางเศรษฐกิจ และการกดขี่ในระดับโลกจึงสัมพันธ์กัน 
 
 
10. Eric Williams "Capitalism and Slavery" (1944) ที่จริงหนังสือทำนองนี้มีมากนะท่าน จะให้จัดชุดแนะนำให้ก็ได้ คือแบบที่เกี่ยวกับระบบโลกน่ะ น่าอ่านมากมาย แต่เล่มนี้น่ะประทับใจหลายอย่าง คนเขียนเป็น "คนพื้นเมือง" เอง คือชาวทรินิแดด เขียนถึงบ้านเมืองตัวเองหลังจากไปร่ำเรียนในประเทศเจ้าอาณานิคมของตน แล้วเขียนวิจารณ์เจ้าอาณานิคม ว่าด้วยสามเหลี่ยมการค้าทาส ทำไมคนไทยต้องเข้าใจการค้าทาสน่ะเหรอ น่าจะช่วยให้เข้าใจบ้างนะว่าโลกปัจจุบันน่ะ (ที่จริงเล่มนี้พิมพ์ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดด้วยซ้ำ) ฝรั่งถูกวิจารณ์มากขนาดไหน เสียเครดิตไปมากขนาดไหน แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครเขาจะหันหลังให้แนวคิดก้าวหน้าสากลอย่างประชาธิปไตยหรอกนะ
 
สองเล่มหลังนี่ไม่มีแปลหรอก พยายามหน่อยก็แล้วกันถ้าอยากฉลาดก่อนหมดอายุขัย
 
เอาล่ะนะ จะให้แนะนำหนังสือท่านผู้นำสักร้อยเล่ม ก็จะกินแรงท่านเกินไป พอดีพอร้ายอ่านมากเข้าท่านจะพาลฉลาดเกินผู้นำทหารแล้วกลายมาแย่งอาชีพผมล่ะก็จะแย่เลย อ่านที่คนอื่นแนะนำบ้างสักเล็กน้อย ของผมบ้างสักหน้าสองหน้าจากแต่ละเล่ม ท่านก็มีอะไรมาโม้มากกว่าที่ให้ความบันเทิงประชาชนอยู่ทุกวันนี้แล้วล่ะ เข้าใจนะ
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย