Skip to main content

"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที

สวนนี้ตั้งอยู่ข้างทะเลสาบหนึ่งในสามของทะเลสาบประจำเมืองนี้ ชื่อทะเลสาบวิงกร้า พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงเป็นป่าชายเลน เป็นแหล่งดูนกได้ดีทีเดียว แต่พื้นที่อีกส่วนใหญ่เป็นป่าเมเปิล ป่าโอ้ค ป่าสน นอกจากนั้นก็เป้นสวนที่สะสมพันธ์ุไม้พื้นเมืองของวิสคอนซิน และพื้นที่ขนาดใหญ่อีกส่วนหนึ่งเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของอาร์บอรีทั่ม นั่นคือทุ่งหญ้าแพรรี่ 

ตั้งแต่มาอาศัยอยู่วิสคอนซินเมื่อหลายปีก่อน (นึกย้อนไปก็ตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว!) ผมค่อยๆ ทำความรู้จักกับสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ทีละเล็กละน้อย เริ่มตั้งแต่ไปเที่ยวพักผ่อนริมทะเลสาบวิงกร้าในฤดูร้อน เพลิดเพลินกับสีสันของป่าเมเปิลในฤดูใบไม่ร่วง เดินชมกิ่งก้านไม้โกร๋นตัดกับสีฟ้าในปลายฤดูหนาว และตื่นเต้นละลานตากับดอกไม้ที่ประชันกันในฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็ยังมีพื้นที่กว้างขวางอีกมากมายที่ยังไม่เคยเดินไปถึง 

วันนี้เอง (22 ตุลาคม 2557) ที่ได้ไปเดินในทุ่งหญ้าแพรรี่ที่ช่างภาพอาชีพคนหนึ่งแนะนำให้รู้จักในวันที่เขาลากผมไปถ่ายรูปลงวารสารด้านสิทธิมนุษยชนเล่มหนึ่ง นั่นทำให้ได้รู้ว่า การเดินในทุ่งหญ้าแพรรี่ในฤดูใบไม้ร่วง ผ่านเข้าไปในป่าเมเปิล ป่าต้นโอ้ค ในฤดูนี้ให้ความรู้สึกอย่างไร 

อาร์บอรีทั่มมีสองประตู ประตูหนึ่งติดทะเลสาบ ประตูนั้นติดตัวเมืองมากกว่าอีกประตูหนึ่ง ส่วนใหญ่คนจึงเข้าทางนั้น ประตูทะเลสาบเข้ามาแล้วจะผ่านป่าชายเลน แล้วผ่านป่าเมเปิลส่วนหนึ่ง แล้วเข้าไปยังพื้นที่ตรงกลางที่มีอาคารรับรองผู้มาเยือนตั้งอยู่ บริเวณนั้นจะเป็นสวนไม้สะสมกับทุ่งแพรรี่ ส่วนอีกประตูหนึ่งเข้ามาผ่านป่าโอ้ค แล้วเจอกับทุ่งแพรรี่เลย ต่อเนื่องมาจนถึงอาคารรับรอง วันธรรมดาสามารถขับรถทะลุจากประตูหนึ่งไปอีกประตูหนึ่งได้ 

วันนี้ผมถีบจักรยานไปเข้าประตูป่าโอ้ค แล้วหยุดสาละวนถ่ายรูปในทุ่งแพรรี่ เนื่องจากอากาศดีเป็นพิเศษ อุณหภูมิราวๆ 12-14 องศาเซลเซียส แดดจัดจ้า ทำให้เห็นสีสันของต้นไม้หลายหลายมาก ทุ่งหญ้าแห้งกับใบไม้แห้ง ส่งกลิ่นปะปนกันหลายอย่าง เปลี่ยนไปตามพันธ์ุไม้แต่ละพื้นที่ ผมต้องตากับผลหญ้าชนิดหนึ่ง ที่เป็นพวงสีแดงก่ำ วนเวียนถ่ายรูปชื่นชมใกล้บ้างไกลบ้างอยู่นาน ยิ่งได้สีใบเมเปิล ใบโอ้คเป็นฉากหลัง ยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ 

เมื่อเข้าไปเดินในทุ่งหญ้าอีกส่วนหนึ่ง จึงได้รู้ว่าทุ่งหญ้าที่นี่ได้รับการปลูกและฟื้นฟูมาตั้งแต่ปี 1935 อันที่จริงเดิมทีพื้นที่มลรัฐวิสคอนซินร่วม 20% เคยปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าแพรี่ นับเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ คนจึงย้ายเข้ามาถากถางทำการเกษตร จนปัจจุบันแทบไม่เหลือทุ่งหญ้า ทางมหาวิทยาลัยจึงศึกษาและรื้อฟื้นพันธ์ุไม้ในทุ่งหญ้า แล้วดูแลรักษาอย่างดีต่อเนื่องมาจนขณะนี้  

อันที่จริงหากมาในฤดูร้อนจะได้เห็นดอกหญ้านานาพันธ์ุ สังเกตได้จากใบหญ้า ลำต้นหญ้า ดอกหญ้า และผลหญ้าแห้งๆ ที่สลับสับเปลี่ยนรูปทรงไปตามพื้นที่ต่างๆ เป็นหย่อมๆ แม้ว่าจะแห้งกรอบเกือบหมดแล้วในขณะนี้ แต่หญ้าเหล่านี้ก็ยังทิ้งรูปลักษณ์ สีสันบางอย่าง พร้อมกลิ่นเฉพาะตัวของพวกมันไว้ให้พอทำความรู้จักกัน 

สัปดาห์นี้คงเป็นสัปดาห์สุดท้ายแล้วสำหรับการเยี่ยมชมใบไม้เปลี่ยนสี หลายๆ พื้นที่ใบไม้พากันร่วงหมดแล้ว ผมได้แต่นึกสนทนากับใบไม้ในใจเรื่อยเปื่อยไปว่า "เราได้พบกันช้าเกินไป" พวกเธอพากันร่วงหล่นบนดินไปเสียมากแล้ว แต่นั่นก็กลับทำให้ได้เห็นความงามยามโรยราของใบไม้ที่ยังติดอยู่บนกิ่งอย่างหร๋อมแหรม ฉากหลังสีฟ้า รองรับใบไม้เหลืองที่ยังดื้อดึงยึดกิ่งก้านเรียวยาวอยู่ ชวนให้แหงนหน้ามองจนลืมเมื่อย 

เมื่อละตาจากเมเปิลอันสะดุดตามาหลายปีได้ ผมกลับเพิ่งเห็นสีสันของใบโอ้ค บางต้นใบสีน้ำตาลแก่ บางต้นสีน้ำตาลอ่อน บางต้นสีน้ำตาลแดง "เสียดายที่เรารู้จักกันช้าไป" ผมรำพึงกับใบโอ้ค นั่นเพียงเพราะความฉูดฉาดของเมเปิลทีเดียว ที่มักดึงสายตาให้เหลือบมอง จนมองข้ามความงามของใบโอ้ค ที่ไม่ใช่เพียงแค่สีเข้มลึก แต่ยังทรวดทรงของลำต้น และรูปรอยหยักของขอบใบที่งดงามซับซ้อนเกินเมเปิลเป็นไหนๆ 

บทสนทนากับใบไม้พาให้ผ่านวันนี้และหวังว่าจะพาให้ผ่านช่วงปลายของฤดูใบไม้ร่วงไปได้อย่างเข้มแข็ง น่าแปลกใจที่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตของสีสันเหล่านี้กลับไม่สร้างบทสนทนาอะไรกับใครบางคนเลย แต่กับบางคน มันตำตาและติดตรึงจนชวนให้เหลียวมองและเผลอพูดคุยด้วยได้ไม่รู้เบื่อ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย