Skip to main content

TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 

ต้องเท้าความกลับไปนิดหนึ่งว่า บทเรียนหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของมานุษยวิทยาภาษาคือ การศึกษาว่าภาษามีส่วนกำหนดความคิด การกระทำ และวัฒนธรรมได้หรือไม่ ข้อเสนอนี้ย้อนกลับไปได้ไกลมาก ไกลถึงนักภาษาศาสตร์รุ่นคลาสสิคอย่างฮุมโบล์ดต์ (F. W. H. Alexander von Humboldt,1769-1859)  

ความคิดนี้มาโด่งดังด้วยลูกศิษย์ของฟรานซ์ โบแอส คือเอ็ดเวิร์ด ซาเปียร์ ที่ส่งอิทธิพลให้เบนจามิน ลี วอร์ฟคิดเรื่องนี้ต่อ กลายมาเป็นแนวคิด "สัมพัทธ์นิยมทางภาษา" (linguistic relativism) ในปัจจุบัน ความคิดนี้แพร่หลายมาก มีการศึกษากระจายออกไปมากมาย เชื่อมโยงกับเรื่อง cognitive science คำศัพท์เรียกสี ethnoscience พร้อมๆ กับมีข้อถกเถียงที่ตอบโต้กับแนวคิดนี้มากมายว่าภาษากับความคิดและการกระทำสัมพันธ์กันแค่ไหน อย่างไร เฉพาะแค่จะอ่านเรื่องนี้กันให้แตกฉาน ก็ต้องใช้เวลาทั้งภาคการศึกษาทีเดียว 

กลับมาที่คีท เชน เขาเสนอว่า ภาษากับการออมน่าจะสัมพันธ์กัน เขาสังเกตเห็นว่า ประเทศที่มีการออมสูงๆ นั้น มักเ็นประเทศที่ใช้ภาษาที่ไม่มีการระบุเวลาในอนาคตชัดเจน (เชนเรียกว่า futureless language)เช่น ภาษาเอเชียส่วนใหญ่ ภาษาเยอรมัน ฯลฯ ส่วนภาษาอย่างภาษาอังกฤษ การจะพูดถึงอดีต ปัจจุบัน อนาคตจะต้องมีการระบุอย่างชัดเจน แล้วเขาก็เชื่อมโยงเข้าสู่พฤติกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการคิดถึงอนาคตด้วย และก็พบแบบแผนที่เขาเชื่อว่า คนพูดภาษาที่ไม่ต้องระบุอนาคตจะคำนึงถึงพฤติกรรมที่ส่งผลต่ออนาคตมากกว่าคนพูดภาษาที่ระบุอนาคตชัดเจน 

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมก็เลยเอาคลิปเรื่องภาษากับการออมนี้ไปเปิดให้นักศึกษาถกกันในชั้น นักศึกษาวิจารณ์คลิปนี้กันยับเยิน แถมยังช่วยอธิบายสิ่งที่เชนไม่ได้อธิบายในคลิปนี้ด้วย 

นักเรียนภาษาและวรรณคดีเอเชียที่ก็เป็นชาวจีน (เหมือนคีท เชน) อธิบายคำถามที่ผมสารภาพกับนักเรียนในชั้นว่า ผมไม่เข้าใจทำไมคนภาษาที่ไม่ระบุอนาคตจึงคิดถึงอนาคตมากกว่าคนพูดภาษาที่ระบุอนาคต นักเรียนคนนี้ตอบว่า น่าจะเพราะเมื่อคิดถึงอนาคต ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่จำเกิดในอนาคต ก็เลยยังไม่กังวลว่ามันจะมาถึงอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่ระบุอนาคต ก็จะไม่คิดว่าอนาคตเป็นเรื่องไกลตัว 

นักเรียนเอกภาษาศาสตร์ที่พูดภาษาฟินนิชที่บ้านบอกว่า แค่บอกว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เป็น future language ก็ผิดแล้ว เพราะการพูดถึงอนาคตในภาษาอังกฤษ ไม่ได้ต่างจากภาษาที่ไม่มี future tense แท้ๆ อื่นๆ คือต้องเพิ่มคำเข้าไปในประโยคจึงจะทำให้เป็น future tense ไม่ใช่ว่าจะสามารถเปลี่ยน tense ได้จากในตัวคำกิริยาเองเลยเมื่อไหร่ 

นักเรียนจีนสองคนและนักเรียนเกาหลีที่เรียนเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามว่า เกาหลีเป็นตัวอย่างหนึ่งของคีท เชน ที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการออมสูง แต่ถ้าจะจัดภาษาเกาหลีแบบที่คีท เชนจัดประเภท ก็จะต้องเป็นภาษา futureless แล้วทำไมจึงมีการออมสูงมาก 

นักเรียนหลายคนจึงเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับการออมเป็น coincidence คือแค่พ้องต้องกัน หรือมี correlation กันจริง กันแน่ คือแค่ข้อมูลตรงกัน แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันหรือเปล่า 

นักเรียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่เป็นลูกครึ่งฝรั่งเศสเห็นว่า ในแต่ละประเทศที่คีท เชนยกมาในแท่งกราฟว่าเป็นประเทศที่มีการออมสูงหรือต่ำนั้น ก็มีความหลากหลายของชนชั้นทางเศรษฐกิจอยู่ คนมีรายได้มากย่อมออมได้มาก ประเทศกรีซนั้นเห็นได้ชัดว่ายากจนในยุโรป ก็ย่อมมีการออมต่ำ ถ้าในประเทศเดียวกันพูดภาษาเดียวกันยังออมไม่เท่ากัน แล้วภาษาจะเกี่ยวกับการออมได้อย่างไร 

นักเรียนหลายคนยังเห็นว่า มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการออมด้วย แม้แต่ภาษาต่างกัน ก็อาจออมสูงหรือต่ำต่างกันได้ หรือถ้าภาษาเดียวกัน แต่คนมีวัฒนธรรมการบริโภคต่างกัน ก็มีการออมต่างกัน 

น่าจะส่งข้อวิจารณ์เหล่านี้กลับไปให้คีท เชนกับทีมวิจัยนะครับ จะได้ไม่เปลืองเงินทำวิจัยยืนยันความเชื่อตัวเองต่อไป 

แต่ที่สำคัญคือ การเรียนที่ดีก็ต้องเป็นแบบนี้ครับ คือหาเหตุผลและข้อมูลมาโต้เถียงกัน ไม่ใช่ท่องจำและเชื่อฟังอย่างงมงาย คงอีกนานที่การศึกษาไทยจะเจริญ เพราะเรายังท่องจำและเชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้นำ คนมีอำนาจ และคนที่เชื่อว่าดี กันอย่างงมงายอยู่เลย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี