Skip to main content

เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป

ภายใต้เงื่อนไขการบังคับด้วยด้วยกฎอัยการศึก ในขณะนี้ ก็คงพอจะเห็นได้ไม่ยากว่า ขบวนการประชาชนหลังรัฐประหาร 2557 กำลังเงียบงันและแทบจะเรียกได้ว่าหมดน้ำยาไปเลยทีเดียว เดิมที่เคยเดินขบวนต้านการสร้างเขื่อน ก็เงียบสูญ ที่เคยต้านคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ต้านการนิรโทษกรรมตนเอง ต้านการแต่งตั้งคนในครอบครัว ต้านคนใกล้ชิดดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้านการโยกย้ายข้าราชการอย่างข้ามคืน ต้านอะไรต่างๆ นานา ก็ต้องเงียบงันกันไปหมด หากแต่การเงียบงันนั้นมีนัยเฉพาะบางอย่าง การเงียบงันนั้นไม่สามารถเป็นตัวแทนขบวนการประชาชนได้ทั้งหมด การเงียบงันนั้นเป็นการเลือกที่จะไม่แสดงออกมากกว่าการถูกกำรายให้เงียบงันหรือไม่ 

แต่คำถามสำคัญยิ่งกว่านั้นคือขบวนการประชาชนจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปหรือไม่ ขบวนการประชาชนก่อนและหลังรัฐประหาร 2557 จะยังคงเหมือนเดิมหรือไม่ หากยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว ขบวนการประชาชนจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมหรือไม่ อดีตผู้สนับสนุนขบวนการ กปปส. ขบวนการพันธมิตรฯ และขบวนการคนเสื้อแดงจะยังคงมั่นคงเหมือนเดิมหรือไม่ การรัฐประหารครั้งนี้มีสาระสำคัญอะไรในการเปลี่ยนแปลงขบวนการประชาชนหรือไม่ ในอีกระดับหนึ่งที่ลึกกว่านั้น ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการอะไรใหม่ๆ ในขบวนการประชาชนไทยหรือไม่ ความใหม่นั้นไปพ้นจากการรัฐประหารครั้งนี้หรือไม่ แล้วความใหม่นั้นจะข้ามพ้นภาวะกฎอัยการศึกหรืออยู่รอดตลอดจนกลับมาแสดงพลังอีกหลังกฎอัยการศึกอย่างไรหรือไม่

มองย้อนกลับไปตั้งแต่หลังขบวนการคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ2520 ขบวนการประชาชนเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงในระบบโลกที่ทุนนิยมและเสรีนิยมเข้าครอบครอง ในประเทศไทย เห็นได้ชัดว่าขบวนการประชาชนในรูปแบบใหม่ซึ่งนำโดยองค์กรพัฒนาเอกชนหรือที่เรียกกันว่า "เอ็นจีโอ" นั้น ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่แปลงกายมาจากคนในขบวนการคอมมิวนิสต์เดิม เอ็นจีโอกลายมาเป็นทางเลือกของการดำรงชีวิตของคนหนุ่มสาวในทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา เมื่ออาชีพเอ็นจีโอตอบทั้งโจทย์ของอุดมการณ์และการเป็นแหล่งรายได้แก่ผู้ยึดการทำงานเอ็นจีโอเป็นอาชีพ ในทศวรรษ 2520-2530 เอ็นจีโอสามารถเลี้ยงตนเองได้จากเงินช่วยเหลือต่างประเทศ เอ็นจีโอจึงเสนอทางเลือกใหม่ๆ ในแง่ของการพัฒนาสังคมได้อย่างเป็นอิสระจากรัฐ

กระทั่งในระยะหลังทศวรรษ 2540 กล่าวได้ว่าเอ็นจีโอมีบทบาทสูงในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและการตรวจสอบการทำงานของรัฐด้านต่างๆจนกระทั่งถือได้ว่าเอ็นจีโอกลายเป็นสถาบันทางการเมือง ด้วยการเสนอประเด็นและต่อสู้เพื่อสร้างความตระหนักต่อประเด็นต่างๆ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องเพศภาวะและเพศวิถี เรื่องเด็ก เรื่องชุมชน เรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศ เอ็นจีโอมีพลังต่อรองในการเมืองไทยสูงขึ้น และกลายเป็นพลังสำคัญของการเคลื่อนไหวบนท้องถนนในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนับเนื่องมาได้ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเอ็นจีโอเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขบวนการประชาชน หากจะประเมินเอ็นจีโอ ก็ควรประเมินในภาพรวมที่กว้างกว่านั้น ในภาพกว้างแล้ว ขบวนการประชาชนไทยในทศวรรษ 2550 มีความซับซ้อนหลายประการ

ประการแรก ขบวนการประชาชนไทยจำนวนมากกลายสภาพไปเป็น "ขบวนการประชาชนของรัฐ" เพราะเป็นขบวนการประชาชนที่แบมือขอเงินรัฐ ผ่านการเขียนโครงการขอแหล่งทุนขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากการตวจสอบของประชาชนองค์กรหนึ่ง องค์กรนี้ไม่ได้ทำรายได้อะไรของตนเอง หากแต่ผันเอาเงินภาษีของประชาชนมากระจายให้เอ็นจีโอที่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของตน ขบวนการประชาชนและหน่วยงานของรัฐจึงเริ่มกำกวม แยกไม่ขาดจากกัน จนทำให้บางครั้งบรรดาคนในขบวนการประชาชนเองก็หลงลืมไปแล้วว่า ตนเองกำลังเสนอทางเลือกจากข้อเสนอกระแสหลักของรัฐ หรือกำลังรับใช้อุดมการณ์หลักของรับในอีกลักษณะหนึ่งกันแน่ ที่น่าเป็นห่วงคือ องค์กรที่เป็นแหล่งทุนนี้ย่อมมีข้อเรียกร้องของตนเอง ทำให้เอ็นจีโอที่แบมือขอเงินรัฐไม่สามารถทำงานที่เป็นอิสระจากข้อเรียกร้องเหล่านั้น ซึ่งหลายครั้งก็มีแนวโน้มสะท้อนค่านิยมอนุรักษนิยมและคับแคบขององค์กรอุปถัมภ์นั้นได้

ประการต่อมา"ขบวนการประชาชนแยกขาดกับรัฐสภา" ขบวนการประชาชนไทยส่วนหนึ่งยังมีความแยกขาดกับการเมืองในระบบรัฐสภาหรือเป็นเอกเทศจากการเมืองในระบบรัฐสภาข้อนี้ดูได้จากตัวอย่างจากการนำเสนอรายงานในการประชุมไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมื่อวันที่ 17-19 ตุลาคมที่ผ่านมา มีงานศึกษา 3 ชิ้น ที่ชี้ให้เห็นถึงขบวนการประชาชนในทศวรรษ 2550 คือขบวนการนิติราษฎร์ ขบวนการต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ และขบวนการกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ขบวนการแรกพยายามแยกตัวออกจากนักการเมือง พยายามสื่อให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวทางกฎหมายของพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง และเคลื่อนไหวโดยลำพัง ขาดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา

ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการที่ประเด็นข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในระดับถึงรากถึงโคนจึงทำให้นักการเมืองเองก็ขลาดกลัวที่จะเข้าร่วมด้วย ในขณะที่อันที่จริงแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าขบวนการประชาชนที่สนับสนุนนิติราษฎร์นั้นเป็นขบวนการที่สนับสนุนพรรคการเมืองด้วย ประเด็นนี้จะกล่าวถึงให้ชัดขึ้นในตอนท้าย ส่วนขบวนการที่สองพยายามยับยั้งโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยไม่อาศัยกระบวนการทางการเมืองแบบรัฐสภา ยิ่งกว่านั้น นักวิจัยที่นำเสนอยังชี้ว่า การเคลื่อนไหวต้านเขื่อนแม่วงก์เป็นขบวนการที่อาศัยโซเซียลมีเดียเป็นหลักด้วยซ้ำ จึงขาดการเชื่อมโยงกับการเมืองในระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน

ส่วนการเรียกร้องสิทธิของชนบนที่สูงในขณะนี้กลับอาศัยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แทนที่จะอาศัยช่องทางการเมืองในระบบรัฐสภา เพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชนที่สูง

การเคลื่อนไหวเหล่านี้ชี้ให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ขบวนการประชาชนไทยรังเกียจการเมืองระบอบรัฐสภา และแม้ว่าจะสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ในท้ายที่สุดก็กลับส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เลวร้ายของการเมืองในระบบรัฐสภา หรืออาจมองอีกด้านหนึ่งได้ว่า การเมืองในระบบรัฐสภาปิดช่องทางที่จะให้ขบวนการประชาชนได้เข้าถึงทำให้ขบวนการประชาชนตัดขาดจากการเมืองระบบรัฐสภา

ประการที่สามสืบเนื่องจากข้างต้น เราจึงมี "ขบวนการประชาชนเลี้ยวขวา" ด้วยความที่เขาคิดว่า และข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งก็เป็นเช่นนั้นว่า การเมืองระบบรัฐสภาไม่สามารถเป็นที่พึ่งของขบวนการประชาชนได้ ขบวนการประชาชนไทยจึงมีโอกาสที่จะกลายเป็นขบวนการที่จับมือกับชนชั้นนำอนุรักษนิยมกลุ่มน้อย และกลายเป็นขบวนการประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาชนเสียเองได้ และดังนั้น เอ็นจีโอก็ไม่จำเป็นต้องก้าวล้ำสมัยไปกันได้กับการเมืองที่ก้าวหน้าไปสู่การสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสมอไปข้อนี้อาจเปรียบเทียบกับในอดีตตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขบวนการประชาชนที่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมมีส่วนสนับสนุนให้พัฒนาขึ้นมานั้นก็กลับเป็นขบวนการประชาชนเลี้ยวขวาที่นำมวลชนปิดล้อมและสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ใกล้เข้ามาในปัจจุบัน ในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเอ็นจีโอหลายกลุ่มหลายคนเข้าร่วมเรียกร้องให้มีการรัฐประหาร คนเหล่านี้ยอมดูดายกับการสังหารประชาชนโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ในแง่นี้ ขบวนการประชาชนในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐเสมอไป หากแต่ขบวนการประชาชนไทยกลับกลายเป็นขบวนการที่มุ่งเข้าสู่อำนาจรัฐ สนับสนุนอำนาจรัฐบางกลุ่ม และยอมรับการยึดอำนาจรัฐด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือกระทั่งสนับสนุนการล้มการเลือกตั้ง ผลสุดท้ายจึงลงเอยแบบที่เห็นและต้องอยู่ร่วมกันไปในขณะนี้ คือขบวนการประชาชนที่โอนอำนาจให้ทหาร แล้วคิดว่าตนจะได้เข้ามาร่วมปฏิรูป แต่กลับทำลายกระบวนการประชาธิปไตย ทำลายการมีส่วนร่วมทางการเมือง ยอมดูดายเพิกเฉยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประการที่สี่ "ขบวนการประชาชนที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง" ที่เห็นได้ชัดคือขบวนการ กปปส. และขบวนการคนเสื้อแดง ในส่วนของขบวนการ กปปส. ซึ่งแม้ว่าจะเป็นขบวนการที่แยกไม่ออกจากพรรคการเมือง แต่ในระดับหนึ่งก็ต้องถือว่าเป็นพัฒนาการก้าวที่พรรคการเมืองเองมีส่วนสร้างพลังประชาชนนอกระบบการเมืองแบบรัฐสภาผ่านการเลือกตั้ง

หากแต่ว่าขบวนการ กปปส. กลับนำพลังไปใช้ในการสนับสนุนอำนาจนอกระบบรัฐสภา ล้มการเลือกตั้ง ทำลายกระบวนการประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาไปในที่สุด

อีกขบวนการหนึ่งที่ต้องถือว่าเป็นขบวนการประชาชนลักษณะนี้คือขบวนการ"คนเสื้อแดง" ถึงแม้จะมีความพยายามปรามาสกันว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นขบวนการที่ถูกจัดตั้งโดยพรรคการเมือง หากแต่มีข้อเท็จจริงหลายประการที่ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงนั้นสนับสนุนแนวทางของพรรค หากแต่ก็มีความเป็นเอกเทศของตนเอง เป็นต้นว่า ในการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนข้อเสนอให้แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของนิติราษฎร์ ขบวนการคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งเลือกสนับสนุนการเสนอขอแก้ไข แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะคัดค้านการแก้ไขอย่างเต็มที่ ยิ่งกว่านั้น ในการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม "ฉบับสุดซอย" ของพรรคเพื่อไทยนั้น ขบวนการคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็คัดค้านอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์และผู้สนับสนุนเขา หรือแม้แต่ นปช. ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นมวลชนหลักของพรรคเพื่อไทย ก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว

จึงกล่าวได้ว่า ขบวนการคนเสื้อแดงเป็นขบวนการประชาชนที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง หากแต่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในบางลักษณะที่เป็นเอกเทศของตนเอ

หลายคนปรามาสว่าขบวนการประชาชนจบสิ้นแล้วหลังการรัฐประหารบางคนตั้งคำถามอย่างหมดหวังว่า ขบวนการประชาชนอย่างเสื้อแดง เสื้อเหลือง กปปส. (ไม่ว่าเราจะนิยมชมชอบพวกเขาหรือไม่ก็ตาม) จบสิ้นแล้วหลังการรัฐประหาร แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วเราจะเห็นความหลากหลายของขบวนการประชาชน ที่ต่างก็มีแนวทางที่อาจขัดแย้งกัน มีหลักการในทางการเมืองแตกต่างกัน ขบวนการประชาชนไทยในทศวรรษ 2550 ไม่ได้มีแต่เอ็นจีโอ ไม่ได้มีเฉพาะขบวนการที่แยกขาดกับการเมือง ไม่ได้มีเฉพาะเอ็นจีโอเลี้ยวขวา แต่ยังมีขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง  

ในจำนวนนี้ ขบวนการประชาชนที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองน่าจะเป็นมิติใหม่ของขบวนการประชาชนในประเทศไทย แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่สามารถแสดงตนได้ภายใต้กฎอัยการศึก หากแต่พวกเขาได้เติบโตตั้งมั่นขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว ลำพังการโฆษณาชวนเชื่อหรือการปราบปรามอย่างรุนแรงก็ไม่สามารถกล่อมเกลาหรือบังคับให้พวกเขากลับไปหลับใหลงมงายอย่างเดิมได้อีกต่อไป  

ในทศวรรษต่อไปข้างหน้าหากขบวนการประชาชนจะยังคงพลังสร้างสรรค์สังคมต่อไป ก็น่าที่จะต้องปรับทิศทางการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยให้มากขึ้น กล้าและมีศรัทธาที่จะเชื่อมโยงตนเองเข้ากับพรรคการเมืองในระบอบรัฐสภามากขึ้น หาไม่แล้วขบวนการประชาชนก็อาจจะทำได้แค่เพียงทอดสะพานให้กับการสืบทอดอำนาจของชนชั้นนำอนุรักษนิยม กลายเป็นขบวนการประชาชนเลี้ยวขวา ที่ยอมแลกการสูญเสียสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของปวงชน เพียงหวังว่าตนจะได้ส่วนแบ่งอำนาจจากชนชั้นนำกลุ่มน้อย

(ที่มา:มติชนรายวัน 4 พ.ย.2557)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร