Skip to main content

เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป

ภายใต้เงื่อนไขการบังคับด้วยด้วยกฎอัยการศึก ในขณะนี้ ก็คงพอจะเห็นได้ไม่ยากว่า ขบวนการประชาชนหลังรัฐประหาร 2557 กำลังเงียบงันและแทบจะเรียกได้ว่าหมดน้ำยาไปเลยทีเดียว เดิมที่เคยเดินขบวนต้านการสร้างเขื่อน ก็เงียบสูญ ที่เคยต้านคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ต้านการนิรโทษกรรมตนเอง ต้านการแต่งตั้งคนในครอบครัว ต้านคนใกล้ชิดดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้านการโยกย้ายข้าราชการอย่างข้ามคืน ต้านอะไรต่างๆ นานา ก็ต้องเงียบงันกันไปหมด หากแต่การเงียบงันนั้นมีนัยเฉพาะบางอย่าง การเงียบงันนั้นไม่สามารถเป็นตัวแทนขบวนการประชาชนได้ทั้งหมด การเงียบงันนั้นเป็นการเลือกที่จะไม่แสดงออกมากกว่าการถูกกำรายให้เงียบงันหรือไม่ 

แต่คำถามสำคัญยิ่งกว่านั้นคือขบวนการประชาชนจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปหรือไม่ ขบวนการประชาชนก่อนและหลังรัฐประหาร 2557 จะยังคงเหมือนเดิมหรือไม่ หากยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว ขบวนการประชาชนจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมหรือไม่ อดีตผู้สนับสนุนขบวนการ กปปส. ขบวนการพันธมิตรฯ และขบวนการคนเสื้อแดงจะยังคงมั่นคงเหมือนเดิมหรือไม่ การรัฐประหารครั้งนี้มีสาระสำคัญอะไรในการเปลี่ยนแปลงขบวนการประชาชนหรือไม่ ในอีกระดับหนึ่งที่ลึกกว่านั้น ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการอะไรใหม่ๆ ในขบวนการประชาชนไทยหรือไม่ ความใหม่นั้นไปพ้นจากการรัฐประหารครั้งนี้หรือไม่ แล้วความใหม่นั้นจะข้ามพ้นภาวะกฎอัยการศึกหรืออยู่รอดตลอดจนกลับมาแสดงพลังอีกหลังกฎอัยการศึกอย่างไรหรือไม่

มองย้อนกลับไปตั้งแต่หลังขบวนการคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ2520 ขบวนการประชาชนเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงในระบบโลกที่ทุนนิยมและเสรีนิยมเข้าครอบครอง ในประเทศไทย เห็นได้ชัดว่าขบวนการประชาชนในรูปแบบใหม่ซึ่งนำโดยองค์กรพัฒนาเอกชนหรือที่เรียกกันว่า "เอ็นจีโอ" นั้น ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่แปลงกายมาจากคนในขบวนการคอมมิวนิสต์เดิม เอ็นจีโอกลายมาเป็นทางเลือกของการดำรงชีวิตของคนหนุ่มสาวในทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา เมื่ออาชีพเอ็นจีโอตอบทั้งโจทย์ของอุดมการณ์และการเป็นแหล่งรายได้แก่ผู้ยึดการทำงานเอ็นจีโอเป็นอาชีพ ในทศวรรษ 2520-2530 เอ็นจีโอสามารถเลี้ยงตนเองได้จากเงินช่วยเหลือต่างประเทศ เอ็นจีโอจึงเสนอทางเลือกใหม่ๆ ในแง่ของการพัฒนาสังคมได้อย่างเป็นอิสระจากรัฐ

กระทั่งในระยะหลังทศวรรษ 2540 กล่าวได้ว่าเอ็นจีโอมีบทบาทสูงในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและการตรวจสอบการทำงานของรัฐด้านต่างๆจนกระทั่งถือได้ว่าเอ็นจีโอกลายเป็นสถาบันทางการเมือง ด้วยการเสนอประเด็นและต่อสู้เพื่อสร้างความตระหนักต่อประเด็นต่างๆ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องเพศภาวะและเพศวิถี เรื่องเด็ก เรื่องชุมชน เรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศ เอ็นจีโอมีพลังต่อรองในการเมืองไทยสูงขึ้น และกลายเป็นพลังสำคัญของการเคลื่อนไหวบนท้องถนนในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนับเนื่องมาได้ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเอ็นจีโอเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขบวนการประชาชน หากจะประเมินเอ็นจีโอ ก็ควรประเมินในภาพรวมที่กว้างกว่านั้น ในภาพกว้างแล้ว ขบวนการประชาชนไทยในทศวรรษ 2550 มีความซับซ้อนหลายประการ

ประการแรก ขบวนการประชาชนไทยจำนวนมากกลายสภาพไปเป็น "ขบวนการประชาชนของรัฐ" เพราะเป็นขบวนการประชาชนที่แบมือขอเงินรัฐ ผ่านการเขียนโครงการขอแหล่งทุนขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากการตวจสอบของประชาชนองค์กรหนึ่ง องค์กรนี้ไม่ได้ทำรายได้อะไรของตนเอง หากแต่ผันเอาเงินภาษีของประชาชนมากระจายให้เอ็นจีโอที่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของตน ขบวนการประชาชนและหน่วยงานของรัฐจึงเริ่มกำกวม แยกไม่ขาดจากกัน จนทำให้บางครั้งบรรดาคนในขบวนการประชาชนเองก็หลงลืมไปแล้วว่า ตนเองกำลังเสนอทางเลือกจากข้อเสนอกระแสหลักของรัฐ หรือกำลังรับใช้อุดมการณ์หลักของรับในอีกลักษณะหนึ่งกันแน่ ที่น่าเป็นห่วงคือ องค์กรที่เป็นแหล่งทุนนี้ย่อมมีข้อเรียกร้องของตนเอง ทำให้เอ็นจีโอที่แบมือขอเงินรัฐไม่สามารถทำงานที่เป็นอิสระจากข้อเรียกร้องเหล่านั้น ซึ่งหลายครั้งก็มีแนวโน้มสะท้อนค่านิยมอนุรักษนิยมและคับแคบขององค์กรอุปถัมภ์นั้นได้

ประการต่อมา"ขบวนการประชาชนแยกขาดกับรัฐสภา" ขบวนการประชาชนไทยส่วนหนึ่งยังมีความแยกขาดกับการเมืองในระบบรัฐสภาหรือเป็นเอกเทศจากการเมืองในระบบรัฐสภาข้อนี้ดูได้จากตัวอย่างจากการนำเสนอรายงานในการประชุมไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมื่อวันที่ 17-19 ตุลาคมที่ผ่านมา มีงานศึกษา 3 ชิ้น ที่ชี้ให้เห็นถึงขบวนการประชาชนในทศวรรษ 2550 คือขบวนการนิติราษฎร์ ขบวนการต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ และขบวนการกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ขบวนการแรกพยายามแยกตัวออกจากนักการเมือง พยายามสื่อให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวทางกฎหมายของพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง และเคลื่อนไหวโดยลำพัง ขาดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา

ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการที่ประเด็นข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในระดับถึงรากถึงโคนจึงทำให้นักการเมืองเองก็ขลาดกลัวที่จะเข้าร่วมด้วย ในขณะที่อันที่จริงแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าขบวนการประชาชนที่สนับสนุนนิติราษฎร์นั้นเป็นขบวนการที่สนับสนุนพรรคการเมืองด้วย ประเด็นนี้จะกล่าวถึงให้ชัดขึ้นในตอนท้าย ส่วนขบวนการที่สองพยายามยับยั้งโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยไม่อาศัยกระบวนการทางการเมืองแบบรัฐสภา ยิ่งกว่านั้น นักวิจัยที่นำเสนอยังชี้ว่า การเคลื่อนไหวต้านเขื่อนแม่วงก์เป็นขบวนการที่อาศัยโซเซียลมีเดียเป็นหลักด้วยซ้ำ จึงขาดการเชื่อมโยงกับการเมืองในระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน

ส่วนการเรียกร้องสิทธิของชนบนที่สูงในขณะนี้กลับอาศัยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แทนที่จะอาศัยช่องทางการเมืองในระบบรัฐสภา เพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชนที่สูง

การเคลื่อนไหวเหล่านี้ชี้ให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ขบวนการประชาชนไทยรังเกียจการเมืองระบอบรัฐสภา และแม้ว่าจะสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ในท้ายที่สุดก็กลับส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เลวร้ายของการเมืองในระบบรัฐสภา หรืออาจมองอีกด้านหนึ่งได้ว่า การเมืองในระบบรัฐสภาปิดช่องทางที่จะให้ขบวนการประชาชนได้เข้าถึงทำให้ขบวนการประชาชนตัดขาดจากการเมืองระบบรัฐสภา

ประการที่สามสืบเนื่องจากข้างต้น เราจึงมี "ขบวนการประชาชนเลี้ยวขวา" ด้วยความที่เขาคิดว่า และข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งก็เป็นเช่นนั้นว่า การเมืองระบบรัฐสภาไม่สามารถเป็นที่พึ่งของขบวนการประชาชนได้ ขบวนการประชาชนไทยจึงมีโอกาสที่จะกลายเป็นขบวนการที่จับมือกับชนชั้นนำอนุรักษนิยมกลุ่มน้อย และกลายเป็นขบวนการประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาชนเสียเองได้ และดังนั้น เอ็นจีโอก็ไม่จำเป็นต้องก้าวล้ำสมัยไปกันได้กับการเมืองที่ก้าวหน้าไปสู่การสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสมอไปข้อนี้อาจเปรียบเทียบกับในอดีตตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขบวนการประชาชนที่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมมีส่วนสนับสนุนให้พัฒนาขึ้นมานั้นก็กลับเป็นขบวนการประชาชนเลี้ยวขวาที่นำมวลชนปิดล้อมและสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ใกล้เข้ามาในปัจจุบัน ในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเอ็นจีโอหลายกลุ่มหลายคนเข้าร่วมเรียกร้องให้มีการรัฐประหาร คนเหล่านี้ยอมดูดายกับการสังหารประชาชนโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ในแง่นี้ ขบวนการประชาชนในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐเสมอไป หากแต่ขบวนการประชาชนไทยกลับกลายเป็นขบวนการที่มุ่งเข้าสู่อำนาจรัฐ สนับสนุนอำนาจรัฐบางกลุ่ม และยอมรับการยึดอำนาจรัฐด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือกระทั่งสนับสนุนการล้มการเลือกตั้ง ผลสุดท้ายจึงลงเอยแบบที่เห็นและต้องอยู่ร่วมกันไปในขณะนี้ คือขบวนการประชาชนที่โอนอำนาจให้ทหาร แล้วคิดว่าตนจะได้เข้ามาร่วมปฏิรูป แต่กลับทำลายกระบวนการประชาธิปไตย ทำลายการมีส่วนร่วมทางการเมือง ยอมดูดายเพิกเฉยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประการที่สี่ "ขบวนการประชาชนที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง" ที่เห็นได้ชัดคือขบวนการ กปปส. และขบวนการคนเสื้อแดง ในส่วนของขบวนการ กปปส. ซึ่งแม้ว่าจะเป็นขบวนการที่แยกไม่ออกจากพรรคการเมือง แต่ในระดับหนึ่งก็ต้องถือว่าเป็นพัฒนาการก้าวที่พรรคการเมืองเองมีส่วนสร้างพลังประชาชนนอกระบบการเมืองแบบรัฐสภาผ่านการเลือกตั้ง

หากแต่ว่าขบวนการ กปปส. กลับนำพลังไปใช้ในการสนับสนุนอำนาจนอกระบบรัฐสภา ล้มการเลือกตั้ง ทำลายกระบวนการประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาไปในที่สุด

อีกขบวนการหนึ่งที่ต้องถือว่าเป็นขบวนการประชาชนลักษณะนี้คือขบวนการ"คนเสื้อแดง" ถึงแม้จะมีความพยายามปรามาสกันว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นขบวนการที่ถูกจัดตั้งโดยพรรคการเมือง หากแต่มีข้อเท็จจริงหลายประการที่ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงนั้นสนับสนุนแนวทางของพรรค หากแต่ก็มีความเป็นเอกเทศของตนเอง เป็นต้นว่า ในการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนข้อเสนอให้แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของนิติราษฎร์ ขบวนการคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งเลือกสนับสนุนการเสนอขอแก้ไข แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะคัดค้านการแก้ไขอย่างเต็มที่ ยิ่งกว่านั้น ในการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม "ฉบับสุดซอย" ของพรรคเพื่อไทยนั้น ขบวนการคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็คัดค้านอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์และผู้สนับสนุนเขา หรือแม้แต่ นปช. ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นมวลชนหลักของพรรคเพื่อไทย ก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว

จึงกล่าวได้ว่า ขบวนการคนเสื้อแดงเป็นขบวนการประชาชนที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง หากแต่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในบางลักษณะที่เป็นเอกเทศของตนเอ

หลายคนปรามาสว่าขบวนการประชาชนจบสิ้นแล้วหลังการรัฐประหารบางคนตั้งคำถามอย่างหมดหวังว่า ขบวนการประชาชนอย่างเสื้อแดง เสื้อเหลือง กปปส. (ไม่ว่าเราจะนิยมชมชอบพวกเขาหรือไม่ก็ตาม) จบสิ้นแล้วหลังการรัฐประหาร แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วเราจะเห็นความหลากหลายของขบวนการประชาชน ที่ต่างก็มีแนวทางที่อาจขัดแย้งกัน มีหลักการในทางการเมืองแตกต่างกัน ขบวนการประชาชนไทยในทศวรรษ 2550 ไม่ได้มีแต่เอ็นจีโอ ไม่ได้มีเฉพาะขบวนการที่แยกขาดกับการเมือง ไม่ได้มีเฉพาะเอ็นจีโอเลี้ยวขวา แต่ยังมีขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง  

ในจำนวนนี้ ขบวนการประชาชนที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองน่าจะเป็นมิติใหม่ของขบวนการประชาชนในประเทศไทย แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่สามารถแสดงตนได้ภายใต้กฎอัยการศึก หากแต่พวกเขาได้เติบโตตั้งมั่นขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว ลำพังการโฆษณาชวนเชื่อหรือการปราบปรามอย่างรุนแรงก็ไม่สามารถกล่อมเกลาหรือบังคับให้พวกเขากลับไปหลับใหลงมงายอย่างเดิมได้อีกต่อไป  

ในทศวรรษต่อไปข้างหน้าหากขบวนการประชาชนจะยังคงพลังสร้างสรรค์สังคมต่อไป ก็น่าที่จะต้องปรับทิศทางการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยให้มากขึ้น กล้าและมีศรัทธาที่จะเชื่อมโยงตนเองเข้ากับพรรคการเมืองในระบอบรัฐสภามากขึ้น หาไม่แล้วขบวนการประชาชนก็อาจจะทำได้แค่เพียงทอดสะพานให้กับการสืบทอดอำนาจของชนชั้นนำอนุรักษนิยม กลายเป็นขบวนการประชาชนเลี้ยวขวา ที่ยอมแลกการสูญเสียสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของปวงชน เพียงหวังว่าตนจะได้ส่วนแบ่งอำนาจจากชนชั้นนำกลุ่มน้อย

(ที่มา:มติชนรายวัน 4 พ.ย.2557)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก