Skip to main content

หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด

 
แต่หลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน ที่นักศึกษาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งด้านอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม คงยังจำ "ยังแพด" กลุ่มเด็กโข่งที่นำโดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสถาบันหนึ่งได้ ตามมาด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยแถวบางกะปิ ที่เกี่ยวข้องกับการปะทะกันในการชุมนุมคนเสื้อแดงแถวบางกะปิเมื่อปีกลาย
 
หลังการรัฐประหาร นักศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างกลุ่มต่างก็เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก พวกเขาล้วนเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมนักศึกษากันมาก่อน เดิมทีพวกเขาอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก ทุกวันนี้พวกเขาจำนวนหนึ่งถูกจองจำ เพราะพวกเขาจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ยอมจำนนกับระบอบเผด็จการ 
 
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในทศวรรษ 2550 มีข้อน่าสังเกตบางประการดังนี้
 
หนึ่ง ไม่เป็นขบวนการใหญ่โต เท่าที่ผ่านมา พวกเขายังไม่ได้รวมตัวกันอย่างเป็นเครือข่ายใหญ่โต แม้จะมีความพยายามบ้างในระยะเวลาแคบๆ อย่าง "ยังแพด" หรือมีการอาศัยองค์กรเดิมที่เคยแสดงออกในนาม "นิสิต" หรือ "นักศึกษา" แต่การรวมตัวในลักษณะนั้นก็กลับไม่มีพลังรับใช้พวกเขาได้อีกต่อไป พวกเขาจึงไม่ได้ใช้กลยุทธแบบที่นักศึกษารุ่นพ่อรุ่นแม่เขาเคยใช้มา หรือไม่อย่างนั้น พวกเขาก็ไม่ได้สนใจที่จะสร้างองค์กรใหญ่โตเทอะทะเพื่อทำกิจกรรมแต่อย่างใด สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากลักษณะเด่นของนักศึกษาปัจจุบันที่จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า
 
สอง กระจายตัวในหลายๆ จังหวัด ไม่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ ขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันไม่ได้มีธรรมศาสตร์ จุฬา มหิดล รามคำแหง เป็นหัวหอก เป็นศูนย์กลางดังแต่ก่อนในทศวรรษ 2510 นี่แสดงให้เห็นว่า การศึกษากระจายตัวจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดแล้วอย่างเป็นผลสำคัญ จนทำให้นอกเหนือจากการมีสถานศึกษาแล้ว ยังมี "ผู้มีการศึกษา" ผู้ใช้ความรู้ความคิดในการทำกิจกรรมทางสังคมในสถานศึกษาเหล่านั้น นอกจากจังหวัดที่มีสถาบันการศึกษาใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ที่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นต้นแล้ว นอกเชียงใหม่ ที่โดดเด่นขณะนี้มีนักศึกษาที่ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี หรือแม้กระทั่งที่ชลบุรีและปัตตานี จังหวัดเหล่านี้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ทั้งสิ้น
 
การกระจายตัวนี้สอดคล้องกับการกระจายตัวทางการเมือง การกระจายตัวของกิจกรรมนักศึกษาแสดงว่าการเมืองกระจายตัวออกจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ต่างจังหวัดในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นชนบท เพราะมหาวิทยาลัยส่วนมากล้วนตั้งอยู่ในเขตเมือง หากแต่ที่สำคัญคือ นี่แสดงให้เห็นถึงดอกผลของการกระจายอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเมืองของนักศึกษาเองก็ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่เช่นเดิมอีกต่อไป
 
สาม ประเด็นเคลื่อนไหวหลากหลาย มีทั้งประเด็นเคลื่อนไหวการเมืองระดับชาติและประเด็นสิทธิเฉพาะด้าน ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากประเด็นคลาสสิคคือการที่นักศึกษาเป็นปากเป็นเสียงให้ "ชาวบ้าน" ให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เรื่องที่ทำกิน เรื่องสิทธิทางกฎหมายต่างๆ แล้ว นักศึกษายังเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองมากขึ้น เช่นการต่อสู้แสดงสิทธิ์ในด้านอัตลักษณ์ทางเพศ เรื่องสิทธิการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา เป็นต้น
 
อย่างไรก็ดี ไม่ควรมองข้ามว่า นักศึกษาจะเลิกสืบทอดการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิเสรีภาพต่อเนื่องจากคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรื่อง "ส่วนตัว" มาก่อน หรือต่อสู้เพื่อ "ประเด็นปัญหาเฉพาะ" จำนวนมากในขณะนี้ ได้แปลงการรวมตัวของพวกเขามาต่อสู้เพื่อประเด็นสิทธิเสรีภาพ นี่แสดงว่าพวกเขาคงเล็งเห็นว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเป็นการต่อสู้ในประเด็นพื้นฐานของสิทธิอื่นๆ 
 
สี่ การแปลงวัฒนธรรมบริโภคนิยมเป็นสื่อการเมือง นี่เป็นแง่มุมที่แหลมคมของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบัน นั่นก็คือการอาศัยสื่อสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย และพื้นที่การแสดงออกของคนรุ่นเขาเองในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งอาหารฟาสฟูด ฉากจากภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ย่านช้อปปิ้ง วัตถุทางวัฒนธรรมสมัยนิยมเหล่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เป็นภาษาการเมืองของนักศึกษารุ่นปัจจุบัน 
 
การที่พวกเขาดึงเอาการเมืองออกมาจากพื้นที่สัญลักษณ์เดิมๆ ที่เคยจำกัดอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย หรือนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปเป็นพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะพื้นที่ทางการเมืองดั้งเดิมอย่างมหาวิทยาลัยและอนุสาวรีย์ กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกทำให้ปลอดประชาธิปไตย ถูกควบคุมจนหมดพลังประชาธิปไตยไปเนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ที่ไม่แสดงบทบาทปกป้องประชาธิปไตยไม่พอและกลับยังเข้าไปร่วมมือกับคณะรัฐประหาร แต่อีกส่วนหนึ่ง การเคลื่อนไหวแบบใหม่ๆ ของนักศึกษาก็ได้นำประชาธิปไตยไปสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของพวกเขามากขึ้น นำประชาธิปไตยไปสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไปมากขึ้น
 
ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะยุยงใคร เพียงแต่จะตอบย้ำข้อสังเกตโดยตลอดต่อเนื่องมาของผมว่า บทบาทของนักศึกษาไม่เคยห่างหายจากการเมืองไทย การปรากฏตัวของนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกวันนี้ตรงชัด แหลมคม สร้างสรรค์ แสบทรวง และใกล้ชิดประชาชน ในแบบฉบับของคนรุ่นปัจจุบันเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด