Skip to main content

ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก

 
แต่เมื่อมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในโครงการนานาชาติหลายๆ โครงการ มีโอกาสได้ช่วยสอนโครงการนานาชาติในประเทศไทยบ้าง ได้ช่วยเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์บ้าง และขณะนี้มีโอกาสได้มาสอนในสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งในระดับปริญญาตรีและโท-เอก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน
 
ข้อแรก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผมอาจจะโชคดีที่ชั้นเรียนที่ผมเคยสอนส่วนใหญ่เป็นชั้นเรียนที่มีนักศึกษาจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากกว่านักศึกษาไทย ข้อนี้ทำให้แลกเปลี่ยนกันกว้างขวางขึ้น ส่วนนักศึกษาไทยในปัจจุบันมักมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่เติบโตในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็เขตเมืองของต่างจังหวัด แม้แต่การใช้ภาษา นักศึกษาจากจังหวัดต่างๆ ก็ใช้ภาษาถิ่นน้อยลง นี่เป็นเพราะระบบการศึกษาไทยและระบบการครอบงำวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ทำลายภาษาถิ่น ผลก็คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันจำกัดมาก
 
แต่ในห้องเรียนนานาชาติ แม้แต่ที่ธรรมศาสตร์ที่ผมเคยสอน มีนักเรียนจากยุโรปหลายประเทศ และที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ และการบุกเข้ามาของนักเรียนจีนและเอเชียนอื่นๆ ทำให้มีนักเรียนจากเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อผสมกับนักเรียนจากสหรัฐอเมริกาที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และวัฒนธรรมย่อยมากมาย ทำให้ห้องเรียนมีประสบการณ์ที่หลากหลาย นักเรียนสามารถเรียนรู้โลกผ่านเพื่อนๆ ของพวกเขาเองได้มากมาย
 
ข้อต่อมา การเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษจะทำให้อาจารย์ต้องพัฒนาตนเองมากขึ้น ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะการอ่านและการเขียนเพื่อเตรียมสอน รวมทั้งการเขียนบทความและแต่งตำรา แต่ผมคิดว่าวัฒนธรรมการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจารย์ส่วนใหญ่ศึกษามาจากต่างประเทศ น่าจะแตกต่างจากวัฒนธรรมการเรียนการสอนในภาษาไทย วัฒนธรรมการเรียนแบบสากลคือการแลกเปลี่ยน การตั้งคำถาม การถกเถียง รวมทั้งระบบการวัดผล น่าจะเข้าไปอยู่ในชั้นเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าชั้นเรียนไทย 
 
ข้อนี้พูดอีกอย่างก็คือ อาจารย์ก็น่าจะได้เรียนไปพร้อมๆ นักเรียนด้วย นี่พูดแบบให้เกียรติอาจารย์ว่ารู้จักเปิดใจเรียนรู้นะครับ เพราะการเรียนการสอนแบบฝรั่งทำให้อาจารย์เองก็ได้ความรู้จากนักเรียนด้วย ตำราฝรั่งจำนวนมากมักขอบคุณนักเรียนที่ช่วยให้ได้เนื้อหา ตัวอย่าง และวิธีการเล่าเรื่องจากห้องเรียน 
 
ข้อต่อมา การใช้เอกสารภาษาอังกฤษ จะทำให้ไม่ต้องมากังวลกับการอ่านไปแปลภาษาไป แถมยังต้องมาแปลความคิดอีก แต่การแลกเปลี่ยนงานในภาษาอังกฤษจะสามารถอ่านไป ถกเถียง แลกเปลี่ยน หรืออธิบายความเป็นภาษาอังกฤษได้เลย นี่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดทั่วไปของการศึกษาไทย ที่ยังมีตำราน้อย และความรู้ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกภาษาอังกฤษ
 
อีกข้อที่น่าสนใจคือ การมีโอกาสได้สร้างสังคมใหม่ในโลก อย่างน้อยในภูมิภาค การศึกษาไทยในระดับต่างๆ หรือในหลายสาขาวิชา อาจจะไม่ได้อยู่ในระดับดีนักในการจัดอันดับของสำนักจัดอันดับต่างๆ แต่เท่าที่ผมเห็น นักศึกษาจากภูมิภาคอาเซียนมาเรียนในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยไทยอาจจะทำได้ดีกว่า เช่น ด้านเทคโนโลยี 
 
ที่น่าสนใจคือ ด้านสังคมศาสตร์และด้านมนุษยศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษา ที่ด้องการความคิดเชิงวิพากษ์และความรู้สากล มหาวิทยาลัยไทยเปิดโอกาสมากกว่ามหาวิทยาลัยในหลายๆ ประเทศในอาเซียน
 
อย่างไรก็ดี ข้อท้าทายก็คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง เพราะปัญหาใหญ่ของนักศึกษาและอาจารย์ไทยคือ ไม่ค่อยจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนกัน อาจารย์ยังมักเชื่อว่านักเรียนจะยังไม่เข้าใจบทเรียน จึงต้องบรรยายๆๆๆ จนไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนพูด คิด ส่วนนักเรียนไทยก็ยังกลัวผิด-ขี้อาย-ไม่กล้าคิด นี่เป็นสองด้านของความอับจนของการศึกษาไทยที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้
 
ข้อท้าทายอีกข้อคือ จะเป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ ข้อนี้ต้องยอมรับว่า เมื่อเปิดโครงการนานาชาติแล้ว นักเรียนที่มีโอกาสก็จะเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวซึ่งมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงพอที่จะส่งเสริมให้พวกเขาเรียนภาษาอังกฤษได้ การเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบนี้และหามาตรการชดเชยข้อเสียนี้ด้วย เช่นการให้ทุนการศึกษา
 
ข้อท้าทายอีกประการคือ การที่มหาวิทยาลัยไทยเองยังมีความคิดอนุรักษ์นิยม ยังคิดว่า โครงการนานาชาติมีเพื่อสอนให้นักเรียนต่างชาติกลายเป็นคนไทย ยกตัวอย่างในธรรมศาสตร์ ที่พยายามปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนการสอนแบบไทยด้วยการบังคับให้นักศึกษาต่างชาติแต่งชุดนักศึกษา แต่ที่จริงสำหรับนักเรียนต่างชาติหลายคน พวกเขาแต่งเพราะแค่เห็นว่ามันแปลกดีที่ได้ใส่ชุดแบบนี้เท่านั้น เพราะเมื่อกลับไปศึกษาในประเทศเขา พวกเขาก็ไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษาอยู่ดี 
 
ในโลกที่เปลี่ยนไป เราอาจต้องยอมเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้ามสังคม ข้ามประเทศกันมากขึ้น นี่อาจจะเป็นทั้งการพัฒนาตนเองและการได้เรียนรู้กันและกันระหว่างนานาชาติมากขึ้น แต่กระนั้น หากเราทำโครงการนานาชาติโดยไม่ปรับระบบการศึกษาไทยให้เป็นสากล หากเรายังจัดการเรียนการสอนแบบไทยๆ แต่อาศัยสอนด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น ข้อดีของการเปิดโครงการนานาชาติก็จะถูกลบเลือนไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก