Skip to main content

ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก

 
แต่เมื่อมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในโครงการนานาชาติหลายๆ โครงการ มีโอกาสได้ช่วยสอนโครงการนานาชาติในประเทศไทยบ้าง ได้ช่วยเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์บ้าง และขณะนี้มีโอกาสได้มาสอนในสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งในระดับปริญญาตรีและโท-เอก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน
 
ข้อแรก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผมอาจจะโชคดีที่ชั้นเรียนที่ผมเคยสอนส่วนใหญ่เป็นชั้นเรียนที่มีนักศึกษาจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากกว่านักศึกษาไทย ข้อนี้ทำให้แลกเปลี่ยนกันกว้างขวางขึ้น ส่วนนักศึกษาไทยในปัจจุบันมักมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่เติบโตในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็เขตเมืองของต่างจังหวัด แม้แต่การใช้ภาษา นักศึกษาจากจังหวัดต่างๆ ก็ใช้ภาษาถิ่นน้อยลง นี่เป็นเพราะระบบการศึกษาไทยและระบบการครอบงำวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ทำลายภาษาถิ่น ผลก็คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันจำกัดมาก
 
แต่ในห้องเรียนนานาชาติ แม้แต่ที่ธรรมศาสตร์ที่ผมเคยสอน มีนักเรียนจากยุโรปหลายประเทศ และที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ และการบุกเข้ามาของนักเรียนจีนและเอเชียนอื่นๆ ทำให้มีนักเรียนจากเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อผสมกับนักเรียนจากสหรัฐอเมริกาที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และวัฒนธรรมย่อยมากมาย ทำให้ห้องเรียนมีประสบการณ์ที่หลากหลาย นักเรียนสามารถเรียนรู้โลกผ่านเพื่อนๆ ของพวกเขาเองได้มากมาย
 
ข้อต่อมา การเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษจะทำให้อาจารย์ต้องพัฒนาตนเองมากขึ้น ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะการอ่านและการเขียนเพื่อเตรียมสอน รวมทั้งการเขียนบทความและแต่งตำรา แต่ผมคิดว่าวัฒนธรรมการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจารย์ส่วนใหญ่ศึกษามาจากต่างประเทศ น่าจะแตกต่างจากวัฒนธรรมการเรียนการสอนในภาษาไทย วัฒนธรรมการเรียนแบบสากลคือการแลกเปลี่ยน การตั้งคำถาม การถกเถียง รวมทั้งระบบการวัดผล น่าจะเข้าไปอยู่ในชั้นเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าชั้นเรียนไทย 
 
ข้อนี้พูดอีกอย่างก็คือ อาจารย์ก็น่าจะได้เรียนไปพร้อมๆ นักเรียนด้วย นี่พูดแบบให้เกียรติอาจารย์ว่ารู้จักเปิดใจเรียนรู้นะครับ เพราะการเรียนการสอนแบบฝรั่งทำให้อาจารย์เองก็ได้ความรู้จากนักเรียนด้วย ตำราฝรั่งจำนวนมากมักขอบคุณนักเรียนที่ช่วยให้ได้เนื้อหา ตัวอย่าง และวิธีการเล่าเรื่องจากห้องเรียน 
 
ข้อต่อมา การใช้เอกสารภาษาอังกฤษ จะทำให้ไม่ต้องมากังวลกับการอ่านไปแปลภาษาไป แถมยังต้องมาแปลความคิดอีก แต่การแลกเปลี่ยนงานในภาษาอังกฤษจะสามารถอ่านไป ถกเถียง แลกเปลี่ยน หรืออธิบายความเป็นภาษาอังกฤษได้เลย นี่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดทั่วไปของการศึกษาไทย ที่ยังมีตำราน้อย และความรู้ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกภาษาอังกฤษ
 
อีกข้อที่น่าสนใจคือ การมีโอกาสได้สร้างสังคมใหม่ในโลก อย่างน้อยในภูมิภาค การศึกษาไทยในระดับต่างๆ หรือในหลายสาขาวิชา อาจจะไม่ได้อยู่ในระดับดีนักในการจัดอันดับของสำนักจัดอันดับต่างๆ แต่เท่าที่ผมเห็น นักศึกษาจากภูมิภาคอาเซียนมาเรียนในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยไทยอาจจะทำได้ดีกว่า เช่น ด้านเทคโนโลยี 
 
ที่น่าสนใจคือ ด้านสังคมศาสตร์และด้านมนุษยศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษา ที่ด้องการความคิดเชิงวิพากษ์และความรู้สากล มหาวิทยาลัยไทยเปิดโอกาสมากกว่ามหาวิทยาลัยในหลายๆ ประเทศในอาเซียน
 
อย่างไรก็ดี ข้อท้าทายก็คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง เพราะปัญหาใหญ่ของนักศึกษาและอาจารย์ไทยคือ ไม่ค่อยจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนกัน อาจารย์ยังมักเชื่อว่านักเรียนจะยังไม่เข้าใจบทเรียน จึงต้องบรรยายๆๆๆ จนไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนพูด คิด ส่วนนักเรียนไทยก็ยังกลัวผิด-ขี้อาย-ไม่กล้าคิด นี่เป็นสองด้านของความอับจนของการศึกษาไทยที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้
 
ข้อท้าทายอีกข้อคือ จะเป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ ข้อนี้ต้องยอมรับว่า เมื่อเปิดโครงการนานาชาติแล้ว นักเรียนที่มีโอกาสก็จะเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวซึ่งมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงพอที่จะส่งเสริมให้พวกเขาเรียนภาษาอังกฤษได้ การเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบนี้และหามาตรการชดเชยข้อเสียนี้ด้วย เช่นการให้ทุนการศึกษา
 
ข้อท้าทายอีกประการคือ การที่มหาวิทยาลัยไทยเองยังมีความคิดอนุรักษ์นิยม ยังคิดว่า โครงการนานาชาติมีเพื่อสอนให้นักเรียนต่างชาติกลายเป็นคนไทย ยกตัวอย่างในธรรมศาสตร์ ที่พยายามปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนการสอนแบบไทยด้วยการบังคับให้นักศึกษาต่างชาติแต่งชุดนักศึกษา แต่ที่จริงสำหรับนักเรียนต่างชาติหลายคน พวกเขาแต่งเพราะแค่เห็นว่ามันแปลกดีที่ได้ใส่ชุดแบบนี้เท่านั้น เพราะเมื่อกลับไปศึกษาในประเทศเขา พวกเขาก็ไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษาอยู่ดี 
 
ในโลกที่เปลี่ยนไป เราอาจต้องยอมเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้ามสังคม ข้ามประเทศกันมากขึ้น นี่อาจจะเป็นทั้งการพัฒนาตนเองและการได้เรียนรู้กันและกันระหว่างนานาชาติมากขึ้น แต่กระนั้น หากเราทำโครงการนานาชาติโดยไม่ปรับระบบการศึกษาไทยให้เป็นสากล หากเรายังจัดการเรียนการสอนแบบไทยๆ แต่อาศัยสอนด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น ข้อดีของการเปิดโครงการนานาชาติก็จะถูกลบเลือนไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้