Skip to main content

ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน

ประสบการณ์แปลกใหม่ของการสอนที่นี่เริ่มตั้งแต่การปฐมนิเทศพนักงานใหม่เลยมหาวิทยาลัยวิสคอนซินจัดปฐมนิเทศให้ทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยอักษรศาสตร์ (College of Letters and Science ซึ่งมีภาควิชาทั้งทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สังกัดอยู่เป็นจำนวนมาก) พร้อมๆ กัน โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ไม่ใช่ 2-3 วัน หรือเป็นสัปดาห์อย่างมหาวิทยาลัยไทย ที่นี่เขาเริ่มด้วยการกล่าวถึงปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่สลักไว้ที่ตึกบริหารของมหาวิทยาลัย ข้อความดังกล่าวคือ "Whatever may be the limitations which trammel inquiry elsewhere, we believe that the great state University of Wisconsin should ever encourage that continual and fearless sifting and winnowing by which alone the truth can be found."  

ข้อความดังกล่าวแปลคร่าวๆ ได้ว่า "ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดใดที่ขัดขวางการค้นคว้าอยู่ที่แห่งไหน เราเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งรัฐวิสคอนซินจะผลักดันอย่างยิ่งยวดให้การกลั่นกรองแยกแยะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและปราศจากความกลัวเกรงด้วยหลักการนี้เท่านั้นที่ความจริงจะได้รับการค้นพบ" ข้อความดังกล่าวมาจากชาร์ส เค อดัมส์ (Charles K. Adams) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ผู้บริหารซึ่งล้วนเป็นผู้หญิงกล่าวยืนยันว่า นี่เป็นความภูมิใจต่อหลักเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

เมื่อเริ่มเตรียมการสอน ภาควิชามานุษยวิทยาให้ผมเลือกสอนวิชาที่ผมถนัดที่สุด เขาพิจารณาจากประวัติความสนใจและผลงานตีพิมพ์ของผม แล้วพบว่าผมสามารถสอนวิชามานุษยวิทยาภาษา มานุษยวิทยาการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และทฤษฎีและการวิจัยทางมานุษยวิทยา ผมเลือกสอนวิชา "ภาษากับวัฒนธรรม" (หรือมานุษยวิทยาภาษานั่นแหละ) ในภาคแรก ผมเลือกสอนวิชานี้เพราะตั้งใจจะเขียนตำราด้านนี้และเป็นวิชาที่สอนต่อเนื่องถึง 5-6 ปีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้น วิชานี้ก็ไม่ได้เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินมานานเกือบสิบปีแล้วด้วย นี่เป็นหลักการสำคัญของการจัดการสอนในระดับอุดมศึกษา ที่ควรให้อิสระกับผู้สอนที่จะเลือกสอนในวิชาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญที่สุด

ก่อนเปิดภาคการศึกษา อาจารย์จะต้องเตรียมรายชื่อตำราและเอกสารต่างๆ ที่จะใช้ให้พร้อมก่อนอย่างน้อยเป็นเดือน เพื่อที่ห้องสมุดและศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยจะได้สั่งหนังสือได้ทัน สำหรับวิชาของผม ผมกำหนดให้นักศึกษาต้องอ่านหนังสือทั้งเล่ม 3 เล่ม (ปริญญาโทและเอกต้องอ่าน 5 เล่ม) และในแต่ละสัปดาห์ต้องอ่านเอกสารล่วงหน้าก่อนเข้าเรียนประมาณ 70-100 หน้า ที่จริงนี่นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบางวิชาที่กำหนดให้อ่านตั้งแต่ 150-200 หน้าก่อนเข้าเรียน แต่จากประสบการณ์ผม ผมพบว่าเมื่อกำหนดให้นักศึกษาอ่านมากเกินไป พวกเขาก็จะอ่านข้ามๆ ไม่สนใจรายละเอียดเท่าที่ควรเพราะไม่มีเวลาเพียงพอ ก็จะทำให้ไม่เข้าใจตำรับตำราอย่างดีพอ  

สำหรับเอกสารประกอบการอ่าน มหาวิทยาลัยจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งนำเอารายชื่อเอกสารของอาจารย์ไปหาต้นฉบับแล้วถ่ายสำเนาระบบดิจิตอล จากนั้นเขาก็จะนำสำเนาเหล่านั้นขึ้นเว็บไซต์ห้องสมุดเพื่อเป็นเอกสารสำรองของแต่ละวิชา เมื่อนักศึกษาเข้าไปดูเอกสารประกอบการบรรยายของแต่ละวิชา ก็จะเห็นรายละเอียดตามที่อาจารย์ระบุไว้เลยว่าสัปดาห์นี้อ่านเอกสารอะไรบ้าง นักศึกษาก็จะสามารถดาวน์โหลดเอกสารแต่ละชิ้นมาอ่านได้ทันที จะพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษหรือจะอ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ตามสะดวก  

ส่วนหนังสือเล่ม นักศึกษาอาจไปซื้อที่ศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยหรือจะสั่งเองก็ได้ หรือจะไม่ซื้อเลย ก็สามารถอ่านจากที่ห้องสมุดสำรองไว้ให้ตามที่อาจารย์แจ้งไปแต่ละภาคก็ได้

การจัดระบบเหล่านี้อันที่จริงก็ไม่ค่อยต่างจากสมัยที่ผมเคยเรียนที่นี่เท่าใดนักแต่ที่สะดวกมากในปัจจุบันคือการจัดทำเอกสารประกอบการอ่านรายสัปดาห์สำรองในรูปดิจิตอล ทำให้ประหยัดกระดาษและประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก นอกจากนั้น การบริหารจัดการผ่านอีเมล์ ทำให้การบริหารจัดการรวดเร็วและลดการใช้กระดาษได้มากเช่นกัน ระบบดิจิตอลใช้มากระทั่งการส่งเกรดที่ทำได้โดยผ่านการล็อกอิน แล้วกรอกเกรดเป็นอันเสร็จ ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยบางแห่งในประเทศไทยที่มีระบบดิจิตอลเอาไว้ให้เรียกได้ว่ามี แต่พอเอาจริงเอาจังก็กลับต้องพิมพ์กระดาษแล้วลงนามอยู่เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้วเช่นเดิม  

ที่น่าสังเกตอีกข้อคือการจัดห้องเรียนร่วมกันต่างระดับการศึกษา ห้องเรียนในวิชาระดับปริญญาตรีตั้งแต่ปี 3 ขึ้นไป จะเปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกมาร่วมเรียนด้วยกันได้ ส่วนห้องเรียนระดับปริญญาโทและเอกในปีต้นๆ ก็เปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีปีสูงสามารถร่วมเรียนได้เช่นกัน แม้ว่านักศึกษาจะมีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน แต่อาจารย์ก็จะสามารถใช้เกณฑ์การวัดผลที่แตกต่างกันระหว่างนักศึกษาต่างระดับได้ เช่น ห้องเรียนที่ผมสอนในภาคที่แล้ว มีนักศึกษาทั้งหมด 10 คน มี 4 คน ที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก  

ข้อดีของการจัดให้นักศึกษาต่างระดับกันเรียนร่วมกันคือ ข้อแรก ประหยัดต้นทุนของการจัดการศึกษา ที่สำคัญคือทำให้อาจารย์ไม่ต้องแยกสอนเป็นห้องๆ ในแต่ละระดับ อย่างที่ผมเคยสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาเดียวกันนี้ หากเปิดภาคเรียนเดียวกัน ผมต้องเปิดถึง 3 ห้อง สอนเนื้อหาคล้ายๆ กันในระดับปริญญาตรี โท และเอก หากผมทำอย่างนี้ก็จะนับเป็นผลงานการสอนจำนวน 3 วิชา แต่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเปิดเพียงวิชาเดียว และนับเป็นจำนวนวิชาสอนเพียงหนึ่งวิชา ดังนั้น มหาวิทยาลัยก็จะประหยัดค่าจ้างสอน นอกจากนั้นยังประหยัดห้องเรียน แทนที่จะต้องจัดห้อง 3 ห้อง ก็จัดเพียงห้องเดียว

ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ นักศึกษาจะได้แลกเปลี่ยนกันข้ามระดับการศึกษา นักศึกษาปริญญาตรีจะได้เรียนรู้จากนักศึกษาระดับสูงขึ้นไป ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกก็จะได้เรียนรู้จากนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้เช่นกัน เนื่องจากนักศึกษาปริญญาตรีมักยังไม่มีกรอบจำกัดการคิดมาก เมื่อตั้งคำถามอะไรจึงมักเต็มไปด้วยความท้าทาย กล้าคิดมากกว่า เท่าที่ผมสอนมายังไม่เคยรู้สึกกังวลว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีจะตามไม่ทันรุ่นพี่ๆ เนื่องจากในบทเรียนที่เหมือนๆ กัน นักศึกษาแต่ละระดับก็จะเรียนรู้ได้แตกต่างกัน ระดับปริญญาตรีเน้นทำความเข้าใจเนื้อหามากกว่า ส่วนระดับปริญญาโทและเอกเน้นความลึกซึ้ง สามารถนำไปดัดแปลงสู่การวิจัยได้ และมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

ประสบการณ์ที่ดีในภาคการศึกษาที่ผ่านมาอีกประการหนึ่งคือ การสอนในห้องเรียนที่มีนักศึกษาจากหลายๆ ประเทศ หลายๆ สาขาวิชามาเรียนร่วมกัน นักศึกษาจำนวน 10 คนในห้องผม มีทั้งนักศึกษาอเมริกันครึ่งฝรั่งเศส อเมริกันครึ่งฟินแลนด์ อเมริกันครึ่งอเมริกาใต้ อเมริกันครึ่งไทย-จีน มีนักศึกษาจีนสองคน นักศึกษาไทยที่ศึกษาเกี่ยวกับพม่าหนึ่งคน นักศึกษาอเมริกันที่เคยอยู่ประเทศลาวหนึ่งคน นักศึกษาเกาหลีใต้ที่เคยอาศัยในอินโดนีเซียหนึ่งคน และนักศึกษาซาอุดีอาระเบียอีกหนึ่งคน นอกจากนั้น ส่วนผสมของสาขาวิชาของนักศึกษาก็น่าสนใจ ผมมีนักศึกษาเรียนเอกเศรษฐศาสตร์ เอกมานุษยวิทยา เอกภาษาศาสตร์ นักเรียนวิศวกรรมศาสตร์ นักเรียนเอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอกภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ส่วนผสมที่แตกต่างกันมากมายนี้ช่วยทำให้ห้องเรียนที่ผมสอนภาคที่แล้วกลายเป็นห้องสนทนาที่นักศึกษาแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์กันเองผ่านบทเรียนของแต่ละสัปดาห์อ่านสนุกสนานถึงขั้นเมามัน หลังจบภาคการศึกษา นักศึกษาหลายคนเอ่ยปากกันเองว่า "เสียดายที่จะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว"  

มหาวิทยาลัยนานาชาติเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างประเทศ ระหว่างวัฒนธรรมได้อย่างกว้างขวาง ข้อนี้นับเป็นข้อได้เปรียบของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทย ห้องเรียนโครงการนานาชาติที่ผมเคยสอนมีน้อยครั้งที่จะได้พบกับห้องเรียนที่มีส่วนผสมที่หลากหลายเช่นนี้ ส่วนใหญ่เป็นห้องเรียนที่นักศึกษาไทยมาฝึกใช้ภาษาอังกฤษกันมากกว่า ขาดการเรียนรู้จากกันและกัน นอกจากนั้น โครงการนานาชาติแบบมหาวิทยาลัยไทยยังยัดเยียดความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยมและอำนาจนิยมให้กับนักศึกษาทั้งต่างชาติและไทย

โครงการนานาชาติในมหาวิทยาลัยไทยจึงมักเหมือนโรงเรียนมัธยมไทยที่เรียกหลักสูตรตนเองว่าอุดมศึกษาแต่ใช้ภาษาอังกฤษจัดการเรียนการสอนแทนเท่านั้นเอง

สิ่งที่แตกต่างอย่างมากกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยคือเมื่อหมดภาคการศึกษา ส่งเกรดเรียบร้อยแล้ว อาจารย์ไม่จำเป็นต้องเขียนรายงานตอบคำถามแปลกๆ เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนว่าได้สอนครบตามเนื้อหาหรือไม่ ขาดตรงไหนไปมากกว่า 25% หรือไม่ ทำไมถึงขาด คราวต่อไปถ้าสอนจะชดเชยอะไร อย่างไร ฯลฯ ไม่ต้องตอบคำถามตั้งแต่ต้นภาคการศึกษาแบบที่ต้องตอบที่มหาวิทยาลัยไทยว่า วิชาที่สอนตอบโจทย์ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของวิชานี้หรือไม่ อย่างไร ที่นี่มีการประเมินจากนักศึกษาเพียงครั้งเดียว จากนั้นตลอดภาคการศึกษาไม่ต้องรายงานอะไรใครทั้งสิ้น  

พูดง่ายๆ คือ มหาวิทยาลัยที่นี่ให้อิสระในการจัดการเรียนการสอนและให้เกียรติคณาจารย์ว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ ไม่ใช่ลูกจ้างที่นายจ้างต้องคอยสอดส่องจับจ้องเหมือนในมหาวิทยาลัยไทย  

อันที่จริงผมได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายจากการสอนหนังสือที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักศึกษา แต่หลักๆ ที่สำคัญคือ ผมพบว่าแม้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วในห้องเรียน นักศึกษาที่นี่จะมีคุณภาพสูงกว่านักศึกษาในประเทศไทย แต่นักศึกษาที่เรียนดี ซึ่งก็คือตั้งใจเรียน ทำงานหนักสม่ำเสมอ มีความสามารถในการสื่อสารดี และมีความคิดสร้างสรรค์สูงนั้น มีคุณภาพไม่ได้สูงเกินไปกว่านักศึกษาไทยที่ผมเคยรู้จักมามากมาย พูดง่ายๆ คือ นักศึกษาที่เก่งที่สุดที่นี่ก็ไม่ได้เก่งไปกว่านักศึกษาไทยที่เก่งที่สุดเลย แต่ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อนักศึกษาไทยเติบโตไปแล้ว มีอะไรหรือที่ทำให้นักศึกษาไทยจึงไม่สามารถพัฒนาให้ความสามารถพวกเขาเติบโตไปได้อย่างนักศึกษาที่นี่  

ผมคิดว่าหลักการพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ระบบมหาวิทยาลัยที่นี่แตกต่างจากระบบมหาวิทยาลัยไทยคือหลักการเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งจะต้องส่งเสริมการเรียนรู้อย่างถึงที่สุด ผมคิดว่าการศึกษาไทยแพ้การศึกษาอเมริกันที่ตรงนี้นี่เอง

 
(ที่มา:มติชนรายวัน 12 มกราคม 2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย