Skip to main content

ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้


เคยได้ยินไหมครับว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยโด่งดังบางคนสอนมากมายจนกระทั่งนับได้ว่า 8 วิชาต่อหนึ่งภาคการศึกษา เคยได้ยินไหมครับว่าอาจารย์บางคนเข้าห้องสอนแล้วสอนไปจนหมดชั่วโมงก็เพิ่งจะรู้ว่าสอนเนื้อหาผิดวิชา ผมไม่ได้จะโทษอาจารย์หรอก แต่จะโทษระบบมหาวิทยาลัยไทยมากกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วโดยทั่วๆ ไปมหาวิทยาลัยมักกำหนดภาระการสอนที่ "ต้องสอน" ไว้เพียง 4 วิชาต่อปี (บางคณะในธรรมศาสตร์เคยกำหนดไว้เพียง 2 วิชาต่อปีเท่านั้น แต่เกิดอะไรไร้สาระบางอย่างขึ้น ขอไม่เล่า สุดท้ายต้องสอน 4 วิชาต่อปี) แต่เมื่อทำตารางสอนจริงๆ อาจารย์ส่วนใหญ่จะสอนมากกว่านั้น จนอาจจะถึง 10 วิชาต่อปีทีเดียว

ในต่างประเทศ ที่อื่นผมไม่แน่ใจ แต่ที่สหรัฐอเมริกา เขาแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม1. มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย 2. มหาวิทยาลัยเพื่อการสอน 3. มหาวิทยาลัยศิลปศาสตร์ (liberal arts college*) แบบที่สามเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่เน้นการสอนระดับปริญญาตรี นักศึกษาจะเรียนร่วมกันหมดร่วม 2 ปี เรียนวิชาคละเคล้ากันแล้วแต่จะชอบ แล้วค่อยมาระบุเอาในปีสูงๆ ว่า ตกลงสนใจจะเน้นสาขาวิชาอะไร เท่าที่ผมรู้ มหาวิทยาลัยแบบนี้ไม่มีในประเทศไทย 

แต่สองแบบแรกเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ และผมอยากจะบอกว่า ที่จริงมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่เป็นแบบที่สอง คือเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการจัดการเรียนการสอน มากกว่าที่จะเน้นการส่งเสริมการวิจัย ทำไมจะไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ ก็ดูจากภาระการสอนก็ได้ อาจารย์ส่วนใหญ่สอนกันอย่างน้อย 3-4 วิชาต่อภาคการศึกษา แล้วจะเอาเวลา เอาสมอง เอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปคิดทำงานวิจัย ไปเขียนบทความวิชาการ ไปสัมมนาวิชาการ ไปเขียนหนังสือ ไปแต่งตำราได้ล่ะ

ไม่ใช่ว่าอาจารย์ที่ทำได้จะไม่มี แต่มีน้อย และด้วยเงื่อนไขพิเศษบางอย่างเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ ระบบมหาวิทยาลัยไทยไม่เอื้อกับการสร้างมหาวิทยาลัยวิจัย ที่คุยกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยน่ะ ก็แค่โอ้อวดกัน แต่ส่วนใหญ่ถ้าเอาภาระงานสอนตั้งหารด้วยผลงานวิชาการแล้วล่ะก็ ภาระงานสอนจะมากกว่าผลงานวิชาการหลายเท่าตัวทีเดียว

ทำไมมหาวิทยาลัยไทยจึงเน้นการสอน เดิมที ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ที่ผมเพิ่งเริ่มเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (ผมเริ่มงานปี 2539) คณะผมเพิ่งจะพัฒนาระบบการคิดภาระงานของอาจารย์ ผมได้รับมอบหมายให้ร่างระบบภาระงานขึ้นมา ขณะนั้นยังไม่มีแนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยวิจงวิจัยอะไร ผลงานอาจารย์จะตีค่าออกมาเป็นคะแนน เมื่อดูระบบที่เคยใช้อยู่จึงได้รู้ว่า ระบบเดิมไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเขียนงานวิชาการ ผมเสนอว่า หากใครจะได้สองขั้น ควรมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเป็นอย่างน้อย หลายคนทักว่า จะเอาอย่างนั้นเลยเหรอ จะไม่มีคนได้ 2 ขั้นเลยนะ

การเร่งให้คณาจารย์ผลิตงานวิจัยเพิ่งจะมีมาเมื่อไม่ถึง 10 ปีมานี้เอง ที่จริงผมคิดว่าไม่ถึง 5 ปีดีด้วยซ้ำ เมื่อผมกลับไปทำงานหลังจบปริญญาเอกใหม่ๆ ผมเสนอให้คณะมีฝ่ายวิจัยเป็นตัวเป็นตน คณะยังไม่ทำเลย มาจนเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมานี้เองที่เริ่มมีฝ่ายวิจัยทั่วทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดิมไม่มีหรอกครับ ไม่ใช่เพียงเพราะโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอะไรนั่นหรอก แต่เพราะระบบประกันคุณภาพกับการแข่งขันในระดับโลกที่ทบวงฯ นำเข้ามาใช้อย่างงูๆ ปลาๆ นั่นเอง ที่เพิ่งจะมากระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทยเร่งงานวิจัย โดยเฉพาะทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 

พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือ เพราะระบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาทำให้เกิดการแปลงสินค้าสาธารณะให้เป็นสินค้าเอกชนให้หมด เกิดการ privatization มหาวิทยาลัยกันทั่วโลก รวมทั้งเกิดการ privatization กิจการของรัฐ ทั้งการสาธารณะสุข โรงพยาบาล การศึกษาระดับต่างๆ นั่นหละ ที่ส่งผลกระทบให้มหาวิทยาลันต้องแข่งขัน ต้องเร่งสร้างงานวิจัย

แต่ผลมันไม่อย่างนั้น เพราะแทนที่ระบบทั้งหมดมันจะปรับไปทางนั้น แต่มันกลับกลายเป็นว่า อาจารย์ทุกวันนี้มีแรงบีบทั้งด้านการสอนและการวิจัย เดิมที อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยก็มักทำงานสอนไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ทำวิจัยไปเรื่อยๆ เมื่อผลงานมากพอ ถ้าไม่ยอมบากหน้าหอบเอกสารไปขอตำแหน่งทางวิชาการเอง ก็มักจะมีลูกศิษย์ลูกหาที่เห็นใจ อยากให้อาจารย์ตนมีหน้ามีตา ก็ช่วยกรอกผลงาน ช่วยขอตำแหน่งให้ อาจารย์ไทยส่วนใหญ่จึงเป็นศาสตราจารย์กันยากใกล้เกษียณ หรือจนเกษียณแล้วไม่ขอตำแหน่งทางวิชาการเลยก็มี

แต่ทุกวันนี้ไม่อย่างนั้น ถ้าใครเข้ามาทำงาน ต้องขอตำแหน่งภายในกี่ปีกี่ปี เขาระบุไว้ในสัญญาเลย หากได้ ผศ. แล้ว จะต้องได้ รศ. ภายในกี่ปี เขาก็ระบุไว้ หากไม่ได้ ศ. หรือเป็น รศ. แต่ไม่มี ดร. เขาก็จะไม่ต่ออายุหลังเกษียณให้ ระบบนี้ดีไหม ก็ดีนะครับถ้าเห็นว่าเป็นการเร่งรัดและบีบให้อาจารย์ทำงานวิชาการ แต่ในทางกลับกัน ภาระงานสอนมากมายมันค้ำคออาจารย์อยู่ 

ถามว่าทำไมอาจารย์ต้องสอนมากด้วยเล่า ผมว่ามีสองสาเหตุด้วยกัน หนึ่ง อาจารย์เลือกสอนมากเอง เพราะงานสอนในมหาวิทยาลัย เมื่อสอนเกินจากภาระงานขั้นต่ำ ก็จะมีรายได้พิเศษ พูดง่ายๆ คือ รับสอนเกินภาระงานก็เพราะจะได้ค่าสอนพิเศษเพิ่มขึ้น ยิ่งหากสอนโครงการพิเศษ ก็จะได้รายได้มากมาย มากขนาดที่อาจารย์บางคนสอนหนังสืออย่างเดียวอาจมีรายได้เดือนละเป็นแสนเลยทีเดียว

สอง เลือกไม่ได้ เพราะหากไม่สอนมากกว่าภาระขั้นต่ำ ก็จะกลายเป็นคนไร้น้ำใจ เพราะเพื่อนๆ อาจารย์สอนกันเป็นส่วนใหญ่ ที่ต้องช่วยๆ กันสอน เพราะแต่ละคณะ แต่ละภาควิชาในมหาวิทยาลัยขณะนี้จะมีแหล่งรายได้พิเศษของตนเองกัน นั่นก็คือบรรดาโครงการพิเศษต่างๆ นั่นเอง พวกนักศึกษาที่เรียนโครงการพิเศษจงรู้ไว้เถิดว่า เงินจากกระเป๋าสตางค์พ่อแม่ผู้ปกครองคุณขณะนี้เป็นเงินหลักที่ใช้เลี้ยงดูระบบมหาวิทยาลัยไทยอยู่ ดูอย่างคณะผม มีเพียงโครงการพิเศษปริญญาตรีโครงการเดียว รับนักศึกษาปีละ 100 คน เพียงเท่านี้ รายได้จากโครงการพิเศษก็เป็นสัดส่วนหลักของงบประมาณของคณะแล้ว 

คณะใหญ่ๆ บางคณะก็จัดการคนละแบบ เช่น บางที่ให้อาจารย์ทุกคนเฉลี่ยภาระงานกันอย่างเสมอหน้า แล้วนำเอารายได้ทั้งหมดมาเฉลี่ยให้อาจารย์ หรือบางคณะก็จ่ายเป็นโบนัสแทน บางคณะจ่ายเป็นการพาเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ โดยรวมแล้ว พลังงานของแต่ละคณะล้วนทุ่มเทไปที่การสอน ลองคิดดูว่า คณะที่มีโครงการพิเศษเป็น 10 โครงการ จะมีรายได้ปีละมากเท่าไร แล้วอย่างนี้ใครจะมีแรงมาทำวิจัย หรือไม่ก็คือ ใครจะอยากทุ่มเททำวิจัย

เอาเป็นว่าขอเล่าเรื่องภาระงานสอนที่เป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนางานวิชาการไว้แค่นี้ก่อน ตอนต่อไปค่อยเล่าปัญหาใหญ่ๆ อื่นๆ ต่อครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก