Skip to main content

เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน


ภาคการศึกษานี้ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม : ทฤษฎีและชาติพันธ์ุนิพนธ์" ซึ่งก็เหมือนเป็นเวรเป็นกรรมเพราะเคยเบื่อที่จะสอนวิชานี้ไปนานแล้ว แต่ก็ดีที่จะได้ทบทวนการสอนวิชานี้อีกครั้ง แถมคราวนี้ต้องสอนให้นักศึกษานานาชาติ (ย้ำว่า นานาชาติ เพราะเดี๋ยวนี้มีนักเรียนเอเชียนมากจริงๆ) ก็ยิ่งน่าสนุกขึ้นมาบ้าง

ผมเคยสอนวิชานี้ตั้งแต่เมื่อจบปริญญาโทใหม่ๆ เริ่มทำงานสอนจริงจังก็สอนวิชานี้เลย ตอนนั้นสอนไปมึนไป เพราะการอ่านเมื่อคราวเป็นนักเรียนกับเมื่อต้องซดเนื้อหาหนักๆ เต็มๆ แล้วต้องยืนเวิ้งว้างหน้าชั้นเรียนเพื่ออธิบายทุกอย่างคนเดียวนี่ มันคนละอารมณ์กันเลย ภายหลังนักศึกษาที่เคยเรียนด้วยในปีแรกๆ ซึ่งตอนนี้เขาเป็นอาจารย์แล้ว มาบอกว่า "คนที่เข้าไปเรียนกันน่ะ เขาคิดว่่าคงมีอะไรใหม่ๆ แต่บอกเลยว่า เรียนกันไม่รู้เรื่องเลย" ตอนนั้นผมก็แอบคิดว่า สอนยากแล้วเท่ แต่จริงๆ เปล่าหรอก เพราะถ้านักเรียนไม่รู้เรื่องก็คืออาจารย์สอนไม่รู้เรื่องนั่นแหละ

อาจารย์ที่สอนหนังสือไม่รู้เรื่องนี่ ผมว่ามีสามแบบ หนึ่งคือ เนื้อหายากมาก ยากจนนักเรียนไม่รู้เรื่องเอง สอง อาจารย์ถ่ายทอดไม่เก่ง ก็เลยทำเรื่องยากให้เข้าใจไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วผมว่าอย่างที่สามคือ อาจารย์ไม่ได้เตรียมสอนหรือไม่ก็ไม่รู้เรื่องในสิ่งที่ตัวเองสอน ก็เลยสอนไม่รู้เรื่อง 

กลับเข้าเรื่องวิชาที่สอนเทอมนี้ดีกว่า เมื่อจบปริญญาเอกกลับไปเมืองไทย ผมก็รับหน้าที่สอนวิชานี้ที่ธรรมศาสตร์ ผมให้นักศึกษาอ่านหนังสือมหาศาล แต่นั่นก็แค่ในมาตรฐานขั้นต่ำเตี้ยของนักเรียนปริญญาตรีที่อเมริกา ก็คือ 70-100 หน้าต่อสัปดาห์ ผมพยายามหาเอกสารภาษาไทยให้อ่าน จะได้อ้างไม่ได้ว่าอ่านไม่ออก นักศึกษาก็อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง จนสุดท้ายก็ไม่อ่านเลย ผลที่สุดผมก็ไม่แน่ใจว่านักศึกษาได้อะไรบ้าง รู้แต่ว่าหลายคนก็ทำงานส่งกันมาได้ดี

มาเทอมนี้ ผมนำวิธีการสอนและเนื้อหาของสองวิชามารวมกัน วิชาหนึ่งคือวิชาทฤษฎี อีกวิชาหนึ่งคือวิชาชาติพันธ์ุนิพนธ์ เนื้อหาเหล่านี้ผมได้มาจากอาจารย์หลายๆ ท่านผสมกัน ประกอบกับเนื้อหาจากประสบการณ์การสอนสองวิชานี้รวม 7 ปีทั้งชั้นเรียนระดับตรี โท เอก ก็เลยได้เป็นเค้าโครงตามนี้ 

ผมแบ่งเนื้อหาเป็น 5 ส่วน สี่ส่วนแรกกำหนดให้นักศึกษาอ่าน ทำบันทึก แล้วส่งบันทึกมาให้ทางอีเมลก่อนเข้าเรียน แต่ส่วนสุดท้าย จะต้องทำงานวิจัยของแต่ละคน นอกจากนั้น ผมยังกำหนดให้พวกเขาอ่านและเขียนบทวิจารณ์หนังสืออีกคนละสองเล่ม งานมากอย่างนี้กระมังที่ทำให้พวกเขาถอนกันไปนับสิบ

ส่วนแรกแนะนำวิชา ผมเคยลองใช้เอกสารหลายแบบ ถ้าเป็นระดับปริญญาเอก ผมไม่ใช้เวลาและเอกสารแค่นี้ แต่จะเพิ่มเป็นสองสัปดาห์ เพราะจะอ่านทั้งประวัติทฤษฎีและวิธีวิจัยทั้งของกระแสหลักและกระแสรองด้วย จะได้เห็นว่าความรู้ไม่ได้มาจากตะวันตกอย่างเดียว เพียงแต่ก่อนนี้เราไม่ค่อยเรียนกำเนิดและพัฒนาการความรู้จากทิศทางอื่นๆ กัน

ส่วนที่สอง ผมเดินตามขนบแบบมานุษยวิทยาดั้งเดิม คืออ่านงานที่เป็นบรรพบุรุษของมานุษยวิทยา ไล่มาจากทฤษฎีวิวัฒนาการ แล้วก็งานของนักทฤษฎีสังคมสำคัญ 3 คนคือ มาร์กซ เวเบอร์ เดอร์กไคม์ ถึงสัปดาห์นี้ก็เพิ่งเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการ ส่วนที่สาม จะเข้าเรื่องแนวทฤษฎีหลักๆ ของมานุษยวิทยา ไล่มาจาก "โครงสร้าง-การหน้าที่" ไปจนถึง "สัญลักษณ์และการตีความ" แล้วส่วนที่สี่ก็ต่อด้วยแนวทฤษฎีร่วมสมัย ซึ่งเมื่อถามอายุนักศึกษาแล้ว ก็พบว่า ที่ว่า "ร่วมสมัย" น่ะ ก็ยังมีอายุมากกว่านักศึกษาปริญญาตรีปี 3 เสียอีก

ส่วนที่น่าจะทำให้นักศึกษากังวลและถอนกันไปมากคือส่วนสุดท้าย ซึ่งเท่าที่ผมสืบย้อนไปได้ ก็ยังไม่เคยมีอาจารย์คนไหนที่นี่สอนแบบนี้กันมาก่อนในรายวิชานี้ นั่นก็คือให้นักศึกษาทำวิจัยแล้วเขียน "บันทึกภาคสนาม" ส่งแต่ละสัปดาห์ แต่ละคนจะต้องมีโครงการวิจัยส่วนตัว แล้วเก็บข้อมูล จดบันทึกข้อมูล นำมาให้เพื่อนอ่านและวิจารณ์กันในชั้นเรียน ใครที่เคยเรียนวิชา "ชาติพันธ์ุนิพนธ์" กับผม ซึ่งก็คือที่มาของการเปิดเพจนี้ ก็คงระลึกได้ดีว่าสนุกสนานอลม่านกันขนาดไหน

แต่ละภาคการศึกษา ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ แม้ว่าเทอมนี้จะประหม่านิดหน่อยเมื่อเริ่มต้นเพราะต้องสอนนักศึกษาปริญญาตรี จึงเกร็งที่จะต้องพูดมาก จะต้องพยายามทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องยากๆ แต่เมื่อผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ผมก็เริ่มตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากมุมมอง คำถาม และประสบการณ์ของนักศึกษา จากการอ่านเอกสารที่เคยอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า และจากการหาคำอธิบายใหม่ๆ ให้กับความรู้เดิมๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ