Skip to main content

เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน


ภาคการศึกษานี้ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม : ทฤษฎีและชาติพันธ์ุนิพนธ์" ซึ่งก็เหมือนเป็นเวรเป็นกรรมเพราะเคยเบื่อที่จะสอนวิชานี้ไปนานแล้ว แต่ก็ดีที่จะได้ทบทวนการสอนวิชานี้อีกครั้ง แถมคราวนี้ต้องสอนให้นักศึกษานานาชาติ (ย้ำว่า นานาชาติ เพราะเดี๋ยวนี้มีนักเรียนเอเชียนมากจริงๆ) ก็ยิ่งน่าสนุกขึ้นมาบ้าง

ผมเคยสอนวิชานี้ตั้งแต่เมื่อจบปริญญาโทใหม่ๆ เริ่มทำงานสอนจริงจังก็สอนวิชานี้เลย ตอนนั้นสอนไปมึนไป เพราะการอ่านเมื่อคราวเป็นนักเรียนกับเมื่อต้องซดเนื้อหาหนักๆ เต็มๆ แล้วต้องยืนเวิ้งว้างหน้าชั้นเรียนเพื่ออธิบายทุกอย่างคนเดียวนี่ มันคนละอารมณ์กันเลย ภายหลังนักศึกษาที่เคยเรียนด้วยในปีแรกๆ ซึ่งตอนนี้เขาเป็นอาจารย์แล้ว มาบอกว่า "คนที่เข้าไปเรียนกันน่ะ เขาคิดว่่าคงมีอะไรใหม่ๆ แต่บอกเลยว่า เรียนกันไม่รู้เรื่องเลย" ตอนนั้นผมก็แอบคิดว่า สอนยากแล้วเท่ แต่จริงๆ เปล่าหรอก เพราะถ้านักเรียนไม่รู้เรื่องก็คืออาจารย์สอนไม่รู้เรื่องนั่นแหละ

อาจารย์ที่สอนหนังสือไม่รู้เรื่องนี่ ผมว่ามีสามแบบ หนึ่งคือ เนื้อหายากมาก ยากจนนักเรียนไม่รู้เรื่องเอง สอง อาจารย์ถ่ายทอดไม่เก่ง ก็เลยทำเรื่องยากให้เข้าใจไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วผมว่าอย่างที่สามคือ อาจารย์ไม่ได้เตรียมสอนหรือไม่ก็ไม่รู้เรื่องในสิ่งที่ตัวเองสอน ก็เลยสอนไม่รู้เรื่อง 

กลับเข้าเรื่องวิชาที่สอนเทอมนี้ดีกว่า เมื่อจบปริญญาเอกกลับไปเมืองไทย ผมก็รับหน้าที่สอนวิชานี้ที่ธรรมศาสตร์ ผมให้นักศึกษาอ่านหนังสือมหาศาล แต่นั่นก็แค่ในมาตรฐานขั้นต่ำเตี้ยของนักเรียนปริญญาตรีที่อเมริกา ก็คือ 70-100 หน้าต่อสัปดาห์ ผมพยายามหาเอกสารภาษาไทยให้อ่าน จะได้อ้างไม่ได้ว่าอ่านไม่ออก นักศึกษาก็อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง จนสุดท้ายก็ไม่อ่านเลย ผลที่สุดผมก็ไม่แน่ใจว่านักศึกษาได้อะไรบ้าง รู้แต่ว่าหลายคนก็ทำงานส่งกันมาได้ดี

มาเทอมนี้ ผมนำวิธีการสอนและเนื้อหาของสองวิชามารวมกัน วิชาหนึ่งคือวิชาทฤษฎี อีกวิชาหนึ่งคือวิชาชาติพันธ์ุนิพนธ์ เนื้อหาเหล่านี้ผมได้มาจากอาจารย์หลายๆ ท่านผสมกัน ประกอบกับเนื้อหาจากประสบการณ์การสอนสองวิชานี้รวม 7 ปีทั้งชั้นเรียนระดับตรี โท เอก ก็เลยได้เป็นเค้าโครงตามนี้ 

ผมแบ่งเนื้อหาเป็น 5 ส่วน สี่ส่วนแรกกำหนดให้นักศึกษาอ่าน ทำบันทึก แล้วส่งบันทึกมาให้ทางอีเมลก่อนเข้าเรียน แต่ส่วนสุดท้าย จะต้องทำงานวิจัยของแต่ละคน นอกจากนั้น ผมยังกำหนดให้พวกเขาอ่านและเขียนบทวิจารณ์หนังสืออีกคนละสองเล่ม งานมากอย่างนี้กระมังที่ทำให้พวกเขาถอนกันไปนับสิบ

ส่วนแรกแนะนำวิชา ผมเคยลองใช้เอกสารหลายแบบ ถ้าเป็นระดับปริญญาเอก ผมไม่ใช้เวลาและเอกสารแค่นี้ แต่จะเพิ่มเป็นสองสัปดาห์ เพราะจะอ่านทั้งประวัติทฤษฎีและวิธีวิจัยทั้งของกระแสหลักและกระแสรองด้วย จะได้เห็นว่าความรู้ไม่ได้มาจากตะวันตกอย่างเดียว เพียงแต่ก่อนนี้เราไม่ค่อยเรียนกำเนิดและพัฒนาการความรู้จากทิศทางอื่นๆ กัน

ส่วนที่สอง ผมเดินตามขนบแบบมานุษยวิทยาดั้งเดิม คืออ่านงานที่เป็นบรรพบุรุษของมานุษยวิทยา ไล่มาจากทฤษฎีวิวัฒนาการ แล้วก็งานของนักทฤษฎีสังคมสำคัญ 3 คนคือ มาร์กซ เวเบอร์ เดอร์กไคม์ ถึงสัปดาห์นี้ก็เพิ่งเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการ ส่วนที่สาม จะเข้าเรื่องแนวทฤษฎีหลักๆ ของมานุษยวิทยา ไล่มาจาก "โครงสร้าง-การหน้าที่" ไปจนถึง "สัญลักษณ์และการตีความ" แล้วส่วนที่สี่ก็ต่อด้วยแนวทฤษฎีร่วมสมัย ซึ่งเมื่อถามอายุนักศึกษาแล้ว ก็พบว่า ที่ว่า "ร่วมสมัย" น่ะ ก็ยังมีอายุมากกว่านักศึกษาปริญญาตรีปี 3 เสียอีก

ส่วนที่น่าจะทำให้นักศึกษากังวลและถอนกันไปมากคือส่วนสุดท้าย ซึ่งเท่าที่ผมสืบย้อนไปได้ ก็ยังไม่เคยมีอาจารย์คนไหนที่นี่สอนแบบนี้กันมาก่อนในรายวิชานี้ นั่นก็คือให้นักศึกษาทำวิจัยแล้วเขียน "บันทึกภาคสนาม" ส่งแต่ละสัปดาห์ แต่ละคนจะต้องมีโครงการวิจัยส่วนตัว แล้วเก็บข้อมูล จดบันทึกข้อมูล นำมาให้เพื่อนอ่านและวิจารณ์กันในชั้นเรียน ใครที่เคยเรียนวิชา "ชาติพันธ์ุนิพนธ์" กับผม ซึ่งก็คือที่มาของการเปิดเพจนี้ ก็คงระลึกได้ดีว่าสนุกสนานอลม่านกันขนาดไหน

แต่ละภาคการศึกษา ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ แม้ว่าเทอมนี้จะประหม่านิดหน่อยเมื่อเริ่มต้นเพราะต้องสอนนักศึกษาปริญญาตรี จึงเกร็งที่จะต้องพูดมาก จะต้องพยายามทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องยากๆ แต่เมื่อผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ผมก็เริ่มตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากมุมมอง คำถาม และประสบการณ์ของนักศึกษา จากการอ่านเอกสารที่เคยอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า และจากการหาคำอธิบายใหม่ๆ ให้กับความรู้เดิมๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี