คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี
การวิจารณ์ไม่เพียงมีหลายมิติ หากแต่ยังมีหลายกระบวนวิธีด้วยกัน มีหลายแนวทางจนกระทั่งกลายเป็นศาสตร์ของการวิจารณ์ ในสาขาวิชาบางสาขาอย่างวรรณคดีและทัศนศิลป์นั้น หากห้ามวิจารณ์ขึ้นมา ก็ถึงกับจะต้องยุบยกเลิกศาสตร์นั้นกันไปเลยทีเดียว
ในโลกศิลปะและวรรณคดีบ้านเรา คนทำงานศิลปะมักไม่ชอบถูกวิจารณ์ ศิลปินบางคนอิดเอื้อน ไม่อ่านบทวิจารณ์ ศิลปินบางคนดูแคลนการวิจารณ์ บางครั้งกล่าวว่า คนิจารณ์จะมาเข้าใจผู้สร้างงานได้อย่างไร นักเสพศิลปะบางคนกล่าวว่า นักวิจารณ์ส่วนมากคิดไปเอง คิดเกินไปกว่าเจ้าของผลงานศิลปะ คำพูดเหล่านี้มีมากในแวดวงศิลปะและวรรณคดีในประเทศไทย และดังนั้น แวดวงของการวิจารณ์ศิลปะก็จึงเติบโตในขอบเขตแคบๆ
นักวิจารณ์คือผู้สร้างงานศิลปะอีกคนหนึ่ง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ผลงานศิลปะเป็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างตัวชิ้นงานและการวิจารณ์ ปฏิกิริยาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างกันนี้ทำให้การวิจารณ์มีได้ทั้งการส่งเสริมและทำลาย เพราะกล่าวอย่างหยาบๆ ผู้วิจารณ์ไม่เพียงชี้ข้อด้อยของผลงานหากแต่ยังชี้ให้เห็นข้อเด่นที่ผู้สร้างผลงานอาจจะยังไม่ได้พัฒนาให้เด่นยิ่งขึ้นเพียงพอ
หากแต่ในศาสตร์ของการวิจารณ์นั้น มีอะไรมากกว่าเพียงชี้ข้อเด่นข้อด้อย ศาสตร์ของการวิจารณ์ (นี่ว่าเฉพาะในทางศิลปะนะครับ) ยังชี้ให้เห็นถึงแง่มุมต่างๆ ที่แม้แต่ผู้สร้างผลงานเองก็ไม่ทันได้คิดถึงได้ ทั้งนี้เพราะผลงานสร้างสรรค์ใดๆ ก็ตามไม่ได้เป็นเพียงผลผลิตของตัวชิ้นงานและผู้สร้าง หากแต่ยังเป็นผลผลิตของปัจจัยแวดล้อมที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้สร้างงานต่างๆ นานา ทั้งในทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ตลอดจนจิตไร้สำนึก
ในแวดวงของวิชาการด้านสังคมศาสตร์ก็เช่นกัน หลักใหญ่ใจความของการวิจารณ์ได้แก่การหาความสมเหตุสมผลของผลงาน ไปจนกระทั่งความสอดคล้องต้องกันของข้อมูลและหลักเหตุผลที่ใช้ การวิจารณ์ผลงานวิชาการที่ดีไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องใช้หลักทฤษฎีของตนเองไปหักล้าง โค่นล้ม หรือตัดสินกันข้ามกรอบของการศึกษา
อย่างไรก็ดี การวิจารณ์งานวิชาการก็มีหลายระดับ ในระดับของการทำงานของนักวิจัยหน้าใหม่ เช่น ผลงานของนักศึกษาไม่ว่าจะในระดับใด ปกติแล้วผมยึดหลักการวิจารณ์โดยที่ไม่ทำลายหลักคิดของนักศึกษา เนื่องจากเป็นไปได้ที่นักศึกษาจะพัฒนาแนวคิดมาจากกรอบการศึกษาที่แตกต่างอย่างยิ่งจากอาจารย์ผู้สอน บางทีอาจารย์จึงควรปล่อยให้นักศึกษาได้พัฒนาความคิดไปจนสุดทางของเขาบ้าง ประคับประคองกันบ้าง
นักศึกษาหรือนักวิจัยหน้าใหม่หลายคนมักไม่เข้าใจว่าผลงานของตนเองจะต้องถูกวิจารณ์ได้และต้องสามารถถูกปรับเปลี่ยนได้ และนักศึกษาอาจไม่เข้าใจว่า งานวิชาการไม่ว่าจะในระดับใด นับตั้งแต่ อาจารย์ ไปจนกระทั่ง ศาสตราจารย์ ย่อมต้องถูกวิจารณ์ได้ทั้งสิ้น
หากแต่สำหรับนักวิจัยมืออาชีพ ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่มักจะต้องวิจารณ์กันตั้งแต่รากฐานของวิธีคิด ไปจนถึงกระบวนการวิจัย การตีความข้อมูล และการนำเสนอผลงาน กระนั้นก็ตาม การวิจารณ์ที่ดีก็จะต้องอยู่บนการเคารพซึ่งหลักเหตุผล หรืออย่างน้อยที่สุด ทั้งผู้วิจารณ์และผู้ถูกวิจารณ์ต่างก็จะต้องแลกเปลี่ยนความเห็นและหลักเหตุผลซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างตั้งใจปิดหูปิดตาอีกฝ่ายให้ฟังตนอยู่เพียงผู้เดียว
การวิจารณ์เป็นวัฒนธรรมที่พัฒนาขึ้นมาหลังยุคของความเชื่องมงายและยุคของอำนาจเบ็ดเสร็จ หากเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ใดๆ เกรงกลัวการวิจารณ์ ก็ย่อมจะไม่ก่อให้การสร้างสรรค์ได้พัฒนาก้าวหน้าไปได้ หากใครทำงานสร้างสรรค์แล้วหลีกเลี่ยงการถูกวิจารณ์ เขาก็กำลังกักขังตนเองและสังคมให้อยู่ในบ่วงของความดักดาน