Skip to main content

เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน


ภาคการศึกษานี้ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม : ทฤษฎีและชาติพันธ์ุนิพนธ์" ซึ่งก็เหมือนเป็นเวรเป็นกรรมเพราะเคยเบื่อที่จะสอนวิชานี้ไปนานแล้ว แต่ก็ดีที่จะได้ทบทวนการสอนวิชานี้อีกครั้ง แถมคราวนี้ต้องสอนให้นักศึกษานานาชาติ (ย้ำว่า นานาชาติ เพราะเดี๋ยวนี้มีนักเรียนเอเชียนมากจริงๆ) ก็ยิ่งน่าสนุกขึ้นมาบ้าง

ผมเคยสอนวิชานี้ตั้งแต่เมื่อจบปริญญาโทใหม่ๆ เริ่มทำงานสอนจริงจังก็สอนวิชานี้เลย ตอนนั้นสอนไปมึนไป เพราะการอ่านเมื่อคราวเป็นนักเรียนกับเมื่อต้องซดเนื้อหาหนักๆ เต็มๆ แล้วต้องยืนเวิ้งว้างหน้าชั้นเรียนเพื่ออธิบายทุกอย่างคนเดียวนี่ มันคนละอารมณ์กันเลย ภายหลังนักศึกษาที่เคยเรียนด้วยในปีแรกๆ ซึ่งตอนนี้เขาเป็นอาจารย์แล้ว มาบอกว่า "คนที่เข้าไปเรียนกันน่ะ เขาคิดว่่าคงมีอะไรใหม่ๆ แต่บอกเลยว่า เรียนกันไม่รู้เรื่องเลย" ตอนนั้นผมก็แอบคิดว่า สอนยากแล้วเท่ แต่จริงๆ เปล่าหรอก เพราะถ้านักเรียนไม่รู้เรื่องก็คืออาจารย์สอนไม่รู้เรื่องนั่นแหละ

อาจารย์ที่สอนหนังสือไม่รู้เรื่องนี่ ผมว่ามีสามแบบ หนึ่งคือ เนื้อหายากมาก ยากจนนักเรียนไม่รู้เรื่องเอง สอง อาจารย์ถ่ายทอดไม่เก่ง ก็เลยทำเรื่องยากให้เข้าใจไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วผมว่าอย่างที่สามคือ อาจารย์ไม่ได้เตรียมสอนหรือไม่ก็ไม่รู้เรื่องในสิ่งที่ตัวเองสอน ก็เลยสอนไม่รู้เรื่อง 

กลับเข้าเรื่องวิชาที่สอนเทอมนี้ดีกว่า เมื่อจบปริญญาเอกกลับไปเมืองไทย ผมก็รับหน้าที่สอนวิชานี้ที่ธรรมศาสตร์ ผมให้นักศึกษาอ่านหนังสือมหาศาล แต่นั่นก็แค่ในมาตรฐานขั้นต่ำเตี้ยของนักเรียนปริญญาตรีที่อเมริกา ก็คือ 70-100 หน้าต่อสัปดาห์ ผมพยายามหาเอกสารภาษาไทยให้อ่าน จะได้อ้างไม่ได้ว่าอ่านไม่ออก นักศึกษาก็อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง จนสุดท้ายก็ไม่อ่านเลย ผลที่สุดผมก็ไม่แน่ใจว่านักศึกษาได้อะไรบ้าง รู้แต่ว่าหลายคนก็ทำงานส่งกันมาได้ดี

มาเทอมนี้ ผมนำวิธีการสอนและเนื้อหาของสองวิชามารวมกัน วิชาหนึ่งคือวิชาทฤษฎี อีกวิชาหนึ่งคือวิชาชาติพันธ์ุนิพนธ์ เนื้อหาเหล่านี้ผมได้มาจากอาจารย์หลายๆ ท่านผสมกัน ประกอบกับเนื้อหาจากประสบการณ์การสอนสองวิชานี้รวม 7 ปีทั้งชั้นเรียนระดับตรี โท เอก ก็เลยได้เป็นเค้าโครงตามนี้ 

ผมแบ่งเนื้อหาเป็น 5 ส่วน สี่ส่วนแรกกำหนดให้นักศึกษาอ่าน ทำบันทึก แล้วส่งบันทึกมาให้ทางอีเมลก่อนเข้าเรียน แต่ส่วนสุดท้าย จะต้องทำงานวิจัยของแต่ละคน นอกจากนั้น ผมยังกำหนดให้พวกเขาอ่านและเขียนบทวิจารณ์หนังสืออีกคนละสองเล่ม งานมากอย่างนี้กระมังที่ทำให้พวกเขาถอนกันไปนับสิบ

ส่วนแรกแนะนำวิชา ผมเคยลองใช้เอกสารหลายแบบ ถ้าเป็นระดับปริญญาเอก ผมไม่ใช้เวลาและเอกสารแค่นี้ แต่จะเพิ่มเป็นสองสัปดาห์ เพราะจะอ่านทั้งประวัติทฤษฎีและวิธีวิจัยทั้งของกระแสหลักและกระแสรองด้วย จะได้เห็นว่าความรู้ไม่ได้มาจากตะวันตกอย่างเดียว เพียงแต่ก่อนนี้เราไม่ค่อยเรียนกำเนิดและพัฒนาการความรู้จากทิศทางอื่นๆ กัน

ส่วนที่สอง ผมเดินตามขนบแบบมานุษยวิทยาดั้งเดิม คืออ่านงานที่เป็นบรรพบุรุษของมานุษยวิทยา ไล่มาจากทฤษฎีวิวัฒนาการ แล้วก็งานของนักทฤษฎีสังคมสำคัญ 3 คนคือ มาร์กซ เวเบอร์ เดอร์กไคม์ ถึงสัปดาห์นี้ก็เพิ่งเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการ ส่วนที่สาม จะเข้าเรื่องแนวทฤษฎีหลักๆ ของมานุษยวิทยา ไล่มาจาก "โครงสร้าง-การหน้าที่" ไปจนถึง "สัญลักษณ์และการตีความ" แล้วส่วนที่สี่ก็ต่อด้วยแนวทฤษฎีร่วมสมัย ซึ่งเมื่อถามอายุนักศึกษาแล้ว ก็พบว่า ที่ว่า "ร่วมสมัย" น่ะ ก็ยังมีอายุมากกว่านักศึกษาปริญญาตรีปี 3 เสียอีก

ส่วนที่น่าจะทำให้นักศึกษากังวลและถอนกันไปมากคือส่วนสุดท้าย ซึ่งเท่าที่ผมสืบย้อนไปได้ ก็ยังไม่เคยมีอาจารย์คนไหนที่นี่สอนแบบนี้กันมาก่อนในรายวิชานี้ นั่นก็คือให้นักศึกษาทำวิจัยแล้วเขียน "บันทึกภาคสนาม" ส่งแต่ละสัปดาห์ แต่ละคนจะต้องมีโครงการวิจัยส่วนตัว แล้วเก็บข้อมูล จดบันทึกข้อมูล นำมาให้เพื่อนอ่านและวิจารณ์กันในชั้นเรียน ใครที่เคยเรียนวิชา "ชาติพันธ์ุนิพนธ์" กับผม ซึ่งก็คือที่มาของการเปิดเพจนี้ ก็คงระลึกได้ดีว่าสนุกสนานอลม่านกันขนาดไหน

แต่ละภาคการศึกษา ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ แม้ว่าเทอมนี้จะประหม่านิดหน่อยเมื่อเริ่มต้นเพราะต้องสอนนักศึกษาปริญญาตรี จึงเกร็งที่จะต้องพูดมาก จะต้องพยายามทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องยากๆ แต่เมื่อผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ผมก็เริ่มตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากมุมมอง คำถาม และประสบการณ์ของนักศึกษา จากการอ่านเอกสารที่เคยอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า และจากการหาคำอธิบายใหม่ๆ ให้กับความรู้เดิมๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน