Skip to main content

เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน


ภาคการศึกษานี้ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม : ทฤษฎีและชาติพันธ์ุนิพนธ์" ซึ่งก็เหมือนเป็นเวรเป็นกรรมเพราะเคยเบื่อที่จะสอนวิชานี้ไปนานแล้ว แต่ก็ดีที่จะได้ทบทวนการสอนวิชานี้อีกครั้ง แถมคราวนี้ต้องสอนให้นักศึกษานานาชาติ (ย้ำว่า นานาชาติ เพราะเดี๋ยวนี้มีนักเรียนเอเชียนมากจริงๆ) ก็ยิ่งน่าสนุกขึ้นมาบ้าง

ผมเคยสอนวิชานี้ตั้งแต่เมื่อจบปริญญาโทใหม่ๆ เริ่มทำงานสอนจริงจังก็สอนวิชานี้เลย ตอนนั้นสอนไปมึนไป เพราะการอ่านเมื่อคราวเป็นนักเรียนกับเมื่อต้องซดเนื้อหาหนักๆ เต็มๆ แล้วต้องยืนเวิ้งว้างหน้าชั้นเรียนเพื่ออธิบายทุกอย่างคนเดียวนี่ มันคนละอารมณ์กันเลย ภายหลังนักศึกษาที่เคยเรียนด้วยในปีแรกๆ ซึ่งตอนนี้เขาเป็นอาจารย์แล้ว มาบอกว่า "คนที่เข้าไปเรียนกันน่ะ เขาคิดว่่าคงมีอะไรใหม่ๆ แต่บอกเลยว่า เรียนกันไม่รู้เรื่องเลย" ตอนนั้นผมก็แอบคิดว่า สอนยากแล้วเท่ แต่จริงๆ เปล่าหรอก เพราะถ้านักเรียนไม่รู้เรื่องก็คืออาจารย์สอนไม่รู้เรื่องนั่นแหละ

อาจารย์ที่สอนหนังสือไม่รู้เรื่องนี่ ผมว่ามีสามแบบ หนึ่งคือ เนื้อหายากมาก ยากจนนักเรียนไม่รู้เรื่องเอง สอง อาจารย์ถ่ายทอดไม่เก่ง ก็เลยทำเรื่องยากให้เข้าใจไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วผมว่าอย่างที่สามคือ อาจารย์ไม่ได้เตรียมสอนหรือไม่ก็ไม่รู้เรื่องในสิ่งที่ตัวเองสอน ก็เลยสอนไม่รู้เรื่อง 

กลับเข้าเรื่องวิชาที่สอนเทอมนี้ดีกว่า เมื่อจบปริญญาเอกกลับไปเมืองไทย ผมก็รับหน้าที่สอนวิชานี้ที่ธรรมศาสตร์ ผมให้นักศึกษาอ่านหนังสือมหาศาล แต่นั่นก็แค่ในมาตรฐานขั้นต่ำเตี้ยของนักเรียนปริญญาตรีที่อเมริกา ก็คือ 70-100 หน้าต่อสัปดาห์ ผมพยายามหาเอกสารภาษาไทยให้อ่าน จะได้อ้างไม่ได้ว่าอ่านไม่ออก นักศึกษาก็อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง จนสุดท้ายก็ไม่อ่านเลย ผลที่สุดผมก็ไม่แน่ใจว่านักศึกษาได้อะไรบ้าง รู้แต่ว่าหลายคนก็ทำงานส่งกันมาได้ดี

มาเทอมนี้ ผมนำวิธีการสอนและเนื้อหาของสองวิชามารวมกัน วิชาหนึ่งคือวิชาทฤษฎี อีกวิชาหนึ่งคือวิชาชาติพันธ์ุนิพนธ์ เนื้อหาเหล่านี้ผมได้มาจากอาจารย์หลายๆ ท่านผสมกัน ประกอบกับเนื้อหาจากประสบการณ์การสอนสองวิชานี้รวม 7 ปีทั้งชั้นเรียนระดับตรี โท เอก ก็เลยได้เป็นเค้าโครงตามนี้ 

ผมแบ่งเนื้อหาเป็น 5 ส่วน สี่ส่วนแรกกำหนดให้นักศึกษาอ่าน ทำบันทึก แล้วส่งบันทึกมาให้ทางอีเมลก่อนเข้าเรียน แต่ส่วนสุดท้าย จะต้องทำงานวิจัยของแต่ละคน นอกจากนั้น ผมยังกำหนดให้พวกเขาอ่านและเขียนบทวิจารณ์หนังสืออีกคนละสองเล่ม งานมากอย่างนี้กระมังที่ทำให้พวกเขาถอนกันไปนับสิบ

ส่วนแรกแนะนำวิชา ผมเคยลองใช้เอกสารหลายแบบ ถ้าเป็นระดับปริญญาเอก ผมไม่ใช้เวลาและเอกสารแค่นี้ แต่จะเพิ่มเป็นสองสัปดาห์ เพราะจะอ่านทั้งประวัติทฤษฎีและวิธีวิจัยทั้งของกระแสหลักและกระแสรองด้วย จะได้เห็นว่าความรู้ไม่ได้มาจากตะวันตกอย่างเดียว เพียงแต่ก่อนนี้เราไม่ค่อยเรียนกำเนิดและพัฒนาการความรู้จากทิศทางอื่นๆ กัน

ส่วนที่สอง ผมเดินตามขนบแบบมานุษยวิทยาดั้งเดิม คืออ่านงานที่เป็นบรรพบุรุษของมานุษยวิทยา ไล่มาจากทฤษฎีวิวัฒนาการ แล้วก็งานของนักทฤษฎีสังคมสำคัญ 3 คนคือ มาร์กซ เวเบอร์ เดอร์กไคม์ ถึงสัปดาห์นี้ก็เพิ่งเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการ ส่วนที่สาม จะเข้าเรื่องแนวทฤษฎีหลักๆ ของมานุษยวิทยา ไล่มาจาก "โครงสร้าง-การหน้าที่" ไปจนถึง "สัญลักษณ์และการตีความ" แล้วส่วนที่สี่ก็ต่อด้วยแนวทฤษฎีร่วมสมัย ซึ่งเมื่อถามอายุนักศึกษาแล้ว ก็พบว่า ที่ว่า "ร่วมสมัย" น่ะ ก็ยังมีอายุมากกว่านักศึกษาปริญญาตรีปี 3 เสียอีก

ส่วนที่น่าจะทำให้นักศึกษากังวลและถอนกันไปมากคือส่วนสุดท้าย ซึ่งเท่าที่ผมสืบย้อนไปได้ ก็ยังไม่เคยมีอาจารย์คนไหนที่นี่สอนแบบนี้กันมาก่อนในรายวิชานี้ นั่นก็คือให้นักศึกษาทำวิจัยแล้วเขียน "บันทึกภาคสนาม" ส่งแต่ละสัปดาห์ แต่ละคนจะต้องมีโครงการวิจัยส่วนตัว แล้วเก็บข้อมูล จดบันทึกข้อมูล นำมาให้เพื่อนอ่านและวิจารณ์กันในชั้นเรียน ใครที่เคยเรียนวิชา "ชาติพันธ์ุนิพนธ์" กับผม ซึ่งก็คือที่มาของการเปิดเพจนี้ ก็คงระลึกได้ดีว่าสนุกสนานอลม่านกันขนาดไหน

แต่ละภาคการศึกษา ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ แม้ว่าเทอมนี้จะประหม่านิดหน่อยเมื่อเริ่มต้นเพราะต้องสอนนักศึกษาปริญญาตรี จึงเกร็งที่จะต้องพูดมาก จะต้องพยายามทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องยากๆ แต่เมื่อผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ผมก็เริ่มตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากมุมมอง คำถาม และประสบการณ์ของนักศึกษา จากการอ่านเอกสารที่เคยอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า และจากการหาคำอธิบายใหม่ๆ ให้กับความรู้เดิมๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย