Skip to main content

เมื่อเห็นข่าวว่ามีการพูดถึงคนไทยมาจากเขาอัลไตกันขึ้นมาอีก ผมก็ระลึกขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนี้ได้ข้อตกลงกันไปชัดเจนนานแล้วนี่นาว่า เป็นความรู้ที่ผิดพลาด 

แล้วก็เลยนึกไปถึงข้อถกเถียงถึงถิ่นกำเนิดคนไท ซึ่งมีคนค้นคว้ามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วยังมีการพิมพ์งานวิชาการเกี่ยวกับข้อถกเถียงนี้อยู่ ก็เลยอยากลองประมวลดูคร่าวๆ เพื่อสะสมไว้เป็นความรู้ของตนเองด้วย หากจะประมวลข้อเสนอสำคัญๆ ที่กล่าวถึงคุ้นเคยกัน ก็นับได้ว่ามี 5 แนวคิดด้วยกัน 

1. คนไท(ย)มาจากอัลไต ข้อเสนอนี้นับว่าเป็นข้อเสนอเก่าแก่ สืบค้นกันไปได้ถึงผลงานเรื่อง The Tai Race: Elder Brother of the Chinese (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1923 หรือ พ.ศ. 2466) เขียนโดยหมอเผยแพร่ศาสนาชื่อ William C. Dodd หมอดอดด์สรุปว่าคนไทเป็นพวก Ugro-Altaic (อูโกร-อัลไตอิก) ที่น่าสนใจคือ เมื่อข้เสนอนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยแล้ว กลับกลายเป็นว่า "คนไทมาจากเทือกเขาอัลไต" ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ในหนังสือของหมอดอดด์ในต้นฉบับที่พิมพ์ปี 1923 ก็ไม่พบว่าหมอดอดด์เอ่ยถึง "เทือกเขาอัลไต" ตรงๆ แต่อย่างใด เพียงแต่อ้างถึงจากงานนักวิชาการอื่นว่า คนไทเป็นพวกพูดภาษาตระกูล อูโกร-อัลไตอิกเท่านั้น  

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปที่ว่าคนไทเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้นั้น หมอดออด์ "ลาก" เอาภาษาตระกูลนั้นมาปะปนกับภาษาตระกูลไทโดยไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ แล้วหมอดอดด์ยัง "ลาก" เอาเผ่าพันธ์ุทางกายภาพที่ว่าคนไทส่วนหนึ่งมีหน้าตาละม้ายคล้ายคนจีน ซึ่งก็มีบางส่วนที่พูดภาษาอูโกร-อัลไตอิกโดยไม่มีข้ออ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ใดๆ แล้วหมอดอดด์ก็จึงสรุปเอาง่ายๆ ว่า คนพูดภาษาอูโกร-อัลไตอิกมีคนไทอยู่ด้วย และยังสรุปอีกว่า นั่นน่าจะเป็นถิ่นเก่าแก่ที่สุดของคนไท 

ด้วยความไม่รัดกุม ไม่เป็นระบบของหมอดอดด์ ข้อเสนอของหมอดอดด์จึงถูกปัดตกไปได้ง่ายๆ หากแต่เป็นข้อเสนอที่เข้าตานักวิชาการชาตินิยมของประเทศไทย จึงถูกหยิบมาสรุปความโดยขุนวิจิตรมาตรา แล้วผลิตซ้ำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งโรงเรียนทหารของไทยก็คงยังใช้ตำราที่ล้าสมัยนี้อยู่ 

2. คนไท(ย)มาจากน่านเจ้า หนังสือของหมอดอดด์ก็นำข้อเสนอนี้ไปกล่าวถึงเช่นกัน ว่าเป็นยุคแรกๆ ที่มีการบันทึกถึงคนไทอย่างชัดเจนในเอกสารจีน คนไทยมักรู้จักเรื่องน่านเจ้าในนาม "อาณาจักรน่านเจ้า" แล้วก็นับเนื่องว่าเป็นอาณาจักรไทยในอดีตก่อนอพยพลงมายังดินแดนไทยปัจจุบัน เหตุหนึ่งที่ดินแดนนี้ถูกเชื่อมโยงมาสู่คนไทก็อาจจะเพราะชื่อ Ai-Lao หรือที่คนไทยและคนลาวออกเสียงว่า "อ้าย-ลาว" เพื่อโยงให้ได้ว่าหมายถึงต้นตระกูลลาวและไทยอย่างแน่นอน 

ดินแดนน่านเจ้าตั้งอยู่ระหว่างมองโกลเลียกับจีนจีนตอนใต้บริเวณมณฑลยูนนานปัจจุบัน* (ข้อความเดิมน่าจะผิดพลาดคลาดเคลื่อน) นักประวัติศาสตร์ค่อนข้างยอมรับกันว่าน่าจะมีดินแดนนี้อยู่จริงในอดีต หากแต่มีข้อพิสูจน์กันมากมายว่าดินแดนนี้เป็นดินแดนที่คนพูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) อาศัยอยู่ ไม่ใช่คนพูดภาษาตระกูลไท หากใครสนใจข้อถกเถียงล่าสุดเรื่องนี้ อ่านได้จากบทความของ Grant Evans ชื่อ "The Ai-Lao and Nan Chao/Tali Kingdom: A Re-orientation" ในวารสาร Journal of the Siam Society, Vol. 102 พิมพ์ปี 2014 คือปีที่แล้วนี้เอง  

แต่ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า แม้ว่าในทางวิชาการจะยอมรับกันแล้วว่าข้อเสนอที่ว่าน่านเจ้าเป็นอาณาจักรคนไท(ย)มาก่อนนั้นเป็นข้อเสนอที่ผิดพลาด ข้อถกเถียงนี้ถูกนำเสนออย่างแข็งขันด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลจีนเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้เกิดความคิดแบ่งแยกเชื้อชาติ ดูงานของ Liang Yongjia ชื่อ "Inalienable Narration: The Nanzhao History between Thailand and China" เสนอต่อ ARI ปี 2010 

3. คนไท(ย)มาจากกวางสี ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอทางภาษาศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ลงความเห็นค่อนข้างชัดเจนและเห็นพ้องต้องกันในปัจจุบันว่า ภาษาตระกูลไทมีถิ่นกำเนิดบริเวณจีนตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้เพราะเป็นถิ่นที่มีแขนงของภาษาถิ่นของภาษาตระกูลไทกระจุกตัวอยู่บริเวณนั้นมากมาย หากยึดตามทัศนะนี้ ภาษาไทก็กระจายตัวออกมาทางตะวันตกเฉียงใต้ไปเรื่อยๆ แนวคิดแบบภาษาศาสตร์มีน้ำหนักตรงที่วางอยู่บนข้อมูลที่แน่นหนาและหลักเหตุผลที่เป็นระบบ มีชุมชนวิชาการคอยตรวจสอบวิจารณ์กันอย่างแข็งขันต่อเนื่อง 

แต่การที่จะกล่าวว่าถิ่นกำเนิดของกลุ่มคนพิจารณาได้จากถิ่นกำเนิดของภาษาเพียงเท่านั้นก็ดูจะจำกัดกลุ่มคนเกินไป เช่น ภาษาไม่ได้จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับคนในทางกายภาพ คนพูดภาษาตระกูลหนึ่งที่เดินทางมาจากทิศทางหนึ่ง อาจอพยพมาจากอีกทิศทางหนึ่ง เช่น ภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ที่เดินทางไปทั่วโลก ขณะที่คนพูดภาษาอังกฤษก็มาจากหลายถิ่นเช่นกัน ในอดีต อาจมีเงื่อนไขทางการเมืองบางอย่างที่ทำให้ภาษาตระกูลไทเดินทางจากจีนตะวันออกเฉียงใต้มายังประเทศเวียดนาม ลาว ไทย พม่า และอินเดีย แต่กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทในถิ่นต่างๆ อาจเดินทางในทางเชื้อชาติมาจากจีนบ้าง อินเดียบ้าง อาหรับบ้าง หรือจากทะเลจากหมู่เกาะบ้างก็ได้ 

นอกจากนั้น ภาษาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายวัฒนธรรมได้หมด หากนับความเป็นคนไททางวัฒนธรรม อาจมีมิติอื่นๆ ที่คนไทมีร่วมกับสังคมอื่นๆ ที่พูดภาษาอื่นๆ หรือบางทีคนใช้ภาษาตระกูลไทที่แม้จะมีชุดคำศัพท์และไวยากรณ์ที่ใกล้เคียงกันมาก ก็อาจมีวัฒนธรรมแตกต่างกันมาก เช่น คนพูดภาษาตระกูลไทในจีนตะวันออกเฉียงใต้และเวียดนามเหนือที่ส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนาพุทธแบบคนพูดภาษาตระกูลไทที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมฮินดูและพุทธในประเทศไทยและจีนตอนใต้ 

4. คนไท(ย)ไม่ได้มาจากไหนแต่อยู่ในอุษาคเนย์ ทฤษฎีนี้เสนอว่า ความเป็นคนไท(ย) แบบที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ กำเนิดมาจากการเป็นคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เอง การเป็นคนไท(ย)จึงเป็นการผสมผสานทั้งชาติพันธ์ุ ภาษา วัฒนธรรมด้านต่างๆ ของทั้งที่มาจากที่อื่น ที่เคยมีอยู่ก่อน และที่สร้างกันขึ้นมาใหม่ แนวคิดนี้หาอ่านได้จากงานชิ้นต่างๆ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ "คนไทยอยู่ที่นี่อุษาคเนย์" พิมพ์ครั้งแรกปีพ.ศ. 2537 ดาวน์โหลดได้ที่ (http://www.sujitwongthes.com/2010/…/คนไทยอยู่ที่นี่-ที่อุษา/

5. คนไท(ย)ถูกสร้างจากจินตกรรม แนวคิดนี้เสนอต่างออกไปอีกว่า ความเป็นคนไทนั้นไม่ได้เกิดมาจากที่ไหนหรอก หากแต่เกิดมาจากการ "สร้าง" ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของคนขึ้นมาเพื่อให้มีชื่อ มีตัวตน หรือที่เรียกว่ามีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นนั่นเอง ตามข้อเสนอแนวนี้ ความเป็นคนไทหรือความเป็นคนไท"ย"จึงถูกสร้างขึ้นภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์และการเมืองอยู่เสมอ และเมื่อสังคมสร้างจิตนาการเกี่ยวกับกลุ่มคนขึ้นมาแล้ว ก็จะนำมาซึ่งแนวทางการปฏิบัติต่อคนกล่มนั้นแบบใดแบบหนึ่งด้วย ข้อเสนอนี้มีในงานหลายๆ ชิ้น ที่สำคัญได้แก่บทความของ Charles F. Keyes ชื่อ "Who Are the Tai?" พิมพ์ปี 1996  

การสร้างความเป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้นอาจจะมาจากกลุ่มคนกันเอง (เช่น คนไทใหญ่ในพม่าก็พยายามสร้างความเป็นไทให้แตกต่างจากคนพม่าและคนชาติพันธ์ุอื่นๆ หรือคนไทยสยามสร้างภาพความเป็นคนลาวขึ้นมาให้ต่างจากตนเอง) หรือมาจากรัฐบางของประเทศที่ "คนไท" เป็นคนกลุ่มใหญ่เองสร้างภาพตนเองขึ้นมา (เช่น ประเทศไทย สร้างภาพคนไทยให้ดูราวกับว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สืบทอดเผ่าพันธ์ุเดียวกันมายาวนาน ประเทศลาวก็ทำเช่นเดียวกัน) หรือมาจากการที่รัฐบาาลจัดกลุ่มชนชาติพันธ์ุต่างๆ ในประเทศ (เช่น ประเทศเวียดนามแยก "คนถาย" ออกจาก "คนไต่" แม้ว่าสำหรับนักภาษาศาสตร์คนทั้งสองกลุ่มก็เป็นคนพูดภาษาตระกูลไทเดียวกัน)  

ผมเขียนมาเสียยืดยาว ลงรายละเอียดบ้าง ไม่ลงบ้าง ก็พอหอมปากหอมคอ ทั้งหมดเพื่อจะรวบรวมประเด็นกว้างๆ ที่มีการถกเถียงกัน แต่จะเห็นได้ว่า การศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดคนไทก้าวไปถึงไหนแล้ว และที่สำคัญคือ ข้อถกเถียงมักสัมพันธ์กับทั้งความหนักแน่นทางวิชาการ มุมมองของสาขาวิชาความรู้ และกรอบการเมืองของความรู้ 

หากใครอยากจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดคนไทหรือคนไทย อย่างน้อยก็ควรจะหาหนังสืออ่านเสียบ้าง ไม่ใช่เชื่อๆ ตามๆ ลมปากคนอื่นเขามาแล้วมาปล่อยไก่ให้คนจับไปเชือดในวันตรุษจีนอย่างพล่อยๆ 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน