Skip to main content

แนวโน้มของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจของประชาชนลง แนวโน้มนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายของผู้เฝ้าติดตามการเมืองไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกระบวนการต่อเนื่องของการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557 ที่เกิดปรากฏการณ์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการชุมนุมทางการเมืองและใช้กำลังรุนแรงของมวลชนเข้าไปปิดล้อมทำลายการเลือกตั้ง 

ทำไมกลุ่มการเมืองบางกลุ่มจึงต้องทำลายการเลือกตั้ง คำตอบอย่างซื่อๆ ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบของผู้ที่จงใจเข้าร่วมหรือมีส่วนสนับสนุนทางอ้อมให้เกิดการทำลายการเลือกตั้งก็คือ เพราะธุรการเลือกตั้งไม่ได้ดำเนินไปด้วยความสุจริต เที่ยงตรง เพราะมีการซื้อเสียงทำให้การลงคะแนนเสียงไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเมื่อนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศแล้ว พวกเขาเข้ามาโกงกินกอบโกยผลประโยชน์ หากแต่ว่าคำตอบเหล่านี้ละเลยข้อเท็จจริงหลายประการซึ่งเกินกว่าที่ข้อเขียนเล็กๆ นี้จะตอบโต้ 

แต่ประเด็นหนึ่งที่คำตอบลักษณะนี้มองข้ามไปและข้อเขียนนี้จะพยายามอธิบายก็คือ กลไกทางสังคมของการเลือกตั้งŽ ที่ดำเนินไปควบคู่กับความขัดแย้งในกระบวนการการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย 

ผมขอยกตัวอย่างจากงานวิจัยที่ผมเคยทำเมื่อปี 2554 ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตชนบทจังหวัดชัยภูมิ ขอเรียกว่า บ้านสหกรณ์Ž หมู่บ้านนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหมู่บ้านอย่างยิ่ง เป็นหมู่บ้านที่มีคนมาดูงานสม่ำเสมอ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าบ้านสหกรณ์สามารถจัดระบบการเงินและการลงทุนได้อย่างดีเยี่ยม จนชาวบ้านแทบทุกคนยินดีร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์การเงินของหมู่บ้าน ด้านหนึ่ง หมู่บ้านนำเงินกองทุนของหมู่บ้านไปลงทุนสร้างลานรับซื้อผลผลิต สร้างโรงสีชุมชน อีกด้านหนึ่ง หมู่บ้านให้สมาชิกกู้เงินและรับออมเงินของสมาชิก สมาชิกยังจะได้เงินปันผลที่ให้แก่สมาชิกและดอกเบี้ยจากการออมเงิน 

นับเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้วที่ระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาในบ้านสหกรณ์ จนทุกวันนี้เงินกองทุนนี้เติบโตขึ้นทุกปีๆ จนแทบจะทำให้แหล่งเงินกู้นอกระบบหายไปจากหมู่บ้าน ส่วนลานรับซื้อผลผลิตนั้น มีบทบาทเป็นเสมือนพ่อค้าคนกลาง แทนที่ชาวบ้านรายย่อยแต่ละรายจะนำผลผลิตการเกษตรไปขายให้ลานรับซื้อเอกชนด้วยตนเอง การนำผลผลิตมาขายให้ลานรับซื้อของหมู่บ้านช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้หมู่บ้าน และให้ความเชื่อมั่นกับชาวบ้านในการนำผลผลิตทางการเกษตรมาขาย นอกจากนั้น ชาวบ้านยังรู้สึกว่าตนเองก็ร่วมเป็นเจ้าของกิจการนี้ด้วย 

จึงกล่าวได้ว่า บ้านสหกรณ์ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบสหกรณ์ของชุมชนขึ้นมาจนอยู่รอดได้ในท่ามกลางกระแสของการไหลเวียนทางการเงิน ทุน และการตลาดในระบบทุนนิยมปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องถอยหลังไปหาระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองแบบทำแค่อยู่แค่กินอย่างที่บางคนเสนอว่านั่นเป็นทางออกเดียวของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชนบทไทย หากแต่การพึ่งตนเองในระบบตลาดเสรีก็สามารถช่วยให้บ้านสหกรณ์อยู่รอดได้ดีเช่นกัน 

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของกิจการนี้ไม่ได้มาจากเพียงแค่การมีเงินกองทุนของหมู่บ้าน หากแต่ได้มาด้วยระบบการบริหารจัดการที่เข้มแข็งและชาญฉลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มาด้วยการมีภาวะผู้นำของผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกสภาตำบลที่มาจากการเลือกตั้งของชาวบ้านเอง ผู้ใหญ่บ้านบ้านสหกรณ์ได้รับเลือกตั้งมาต่อเนื่องในระยะสิบกว่าปีที่โครงการสหกรณ์นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ชาวบ้านเล่าถึงกระบวนการการเลือกตั้งที่นำผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันขึ้นมาสู่ตำแหน่งว่า เป็นผลมาจากการโค่นอำนาจของผู้ใหญ่บ้านคนก่อนหน้า ที่ชาวบ้านเห็นว่าไม่สามารถช่วยพัฒนาหมู่บ้านได้ ชาวบ้านจึงสร้างเครือข่ายขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันได้รับเลือกตั้ง 

เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ผู้ใหญ่คนนี้ก็จัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่ประกอบด้วยตัวแทนจาก คุ้มŽ บ้าน หรือหน่วยย่อยของหมู่บ้านที่เป็นตัวแทนชาวบ้านสัก 10-15 ครัวเรือนรอบๆ หมู่บ้าน รวมทั้งผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านอย่างสมาชิกสภาตำบลของหมู่บ้าน ได้แก่ ผู้ที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ เช่น ครูและผู้ที่มีความสามารถอื่นๆ เช่น เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จทางการผลิตและการตลาด เข้ามาร่วมเป็นกรรมการผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้าน มีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างระบบที่ชาวบ้านเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำที่ไม่เพียงนิสัยดี บุคลิกดี และพูดเก่ง หากแต่ยังเป็นนักธุรกิจการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ สามารถเก็งกำไรจากการค้าผลผลิตการเกษตรได้อย่างแม่นยำ และมีเครือข่ายการค้าที่ถูกแปลงมาเป็นทุนทางเศรษฐกิจ ช่วยเหลือกิจการของชุมชนได้ คุณสมบัติเหล่านี้ช่วยให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากการขายสินค้าการเกษตรให้ลานรับซื้อผลผลิตจากชุมชนเป็นอย่างดี 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ใหญ่บ้านคนนี้จะเป็นที่รักของชาวบ้านมากแค่ไหน มีเกร็ดน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านมักเล่าให้ผมฟังเมื่อไปทำวิจัยว่า เคยมีกลุ่มนายอำเภอจากต่างจังหวัดมาเยี่ยมชมกิจการของบ้านสหกรณ์ นายอำเภอคนหนึ่งในคณะที่มานั้นเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง เมื่อเห็นผู้ใหญ่บ้านคนนี้ซึ่งเป็นคนแต่งตัวง่ายๆ ใส่เสื้อยืด กางเกงเก่าๆ รองเท้าแตะ ไปต้อนรับบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ นายอำเภอคนนั้นก็ไม่พอใจ แล้วตำหนิว่าทำไมผู้ใหญ่บ้านจึงแต่งตัวไม่เรียบร้อย ไม่ให้เกียรติผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่บ้านก็เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจนเปรยกับชาวบ้านว่าอยากจะลาออก ในที่สุดชาวบ้านบ้านสหกรณ์จึงรวมตัวกันไปเรียกร้องที่จังหวัด ให้ดำเนินการให้นายอำเภอคนนั้นมาขอโทษผู้ใหญ่ของพวกเขา 

ชาวบ้านคนหนึ่งที่เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังกล่าวด้วยความคับแค้นใจตอนหนึ่งว่า คุณเป็นใคร ทำไมจึงมาดูถูกผู้ใหญ่บ้านที่เราเลือกตั้งมาได้ พวกเราไม่ยอม ต้องมาขอโทษŽ เรื่องจบลงที่ว่านายอำเภอคนนั้นมาขอโทษผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่ก็ยังคงทำงานอยู่ต่อมา 

แม้ว่ากรณี้นี้จะเป็นกรณีเล็กๆ และค่อนข้างเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเป็นพิเศษ แต่ก็แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าการเลือกตั้งเป็นกลไกสร้างสังคมแบบใดขึ้นมา 

ประการแรก สังคมที่ประชาชนกำหนดชีวิตตนเอง การเลือกตั้งช่วยให้ประชาชนกำหนดวิถีชีวิตตนเองได้ ชาวบ้านแห่งบ้านสหกรณ์เลือกทิศทางการพัฒนาว่าจะดำเนินชีวิตในระบบการตลาดอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เมื่อผู้ใหญ่บ้านคนนี้มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์จากการดำเนินกิจการของตนเอง และแสดงให้เห็นว่ารับผิดชอบงานส่วนรวมจนพัฒนาหมู่บ้านให้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้ดี ชาวบ้านจึงให้ความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการบริหารทรัพยากรของชุมชน ในที่นี้คือกองทุนต่างๆ ที่ชาวบ้านล้วนมีส่วนลงทุนกันเองนั้น ได้รับการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและตอบแทนกลับมายังชุมชนอย่างได้ผลชัดเจน ทำให้ชาวบ้านมองเห็นว่า ผู้นำที่เขาเลือกตอบโจทย์ที่พวกเขาต้องการได้เป็นอย่างดี นี่คือคุณค่าที่ชาวบ้านเลือก ไม่ใช่แค่เป็นผู้นำที่อ้างว่ามีคุณธรรมอย่างเลื่อนลอย และไร้หลักประกันว่าจะสามารถก่อประโยชน์อะไรถึงปากถึงท้องชาวบ้านได้ 

ประการที่สอง สังคมที่แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ การเลือกตั้งมีกระบวนการผ่อนคลายความขัดแย้งอย่างสันติ เมื่อย้อนกลับไปก่อนหน้าที่หมู่บ้านจะได้ผู้ใหญ่คนนี้ ชาวบ้านมีความขัดแย้งกันในการยอมรับ-ไม่ยอมรับผู้นำ ผู้นำคนเก่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ แต่เพื่อที่จะเปลี่ยนตัวผู้นำ ชาวบ้านอาศัยกระบวนการการเลือกตั้งในการแก้ปัญหา กระบวนการนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของชาวบ้านหลายๆ คน ผ่านการถกเถียงพูดคุย ผ่านการแลกเปลี่ยนความเห็นจนเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง มีการระดมสร้างเครือข่ายสนับสนุนผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ที่พวกเขาคิดว่าจะนำประโยชน์มาสู่หมู่บ้านได้มากกว่า แล้วก็ใช้การเลือกตั้งเพื่อยืนยันให้ผู้ใหญ่คนนี้อยู่ในตำแหน่งสืบมา ทำให้ผู้ใหญ่คนนี้ได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องมาหลายสมัยแล้ว แม้ในสมัยที่ผู้ใหญ่บ้านยังต้องได้รับเลือกตั้งตามวาระ ไม่ใช่อยู่ในวาระจนเกษียณอายุราชการแบบในปัจจุบัน การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการทางสังคมที่อาศัยเวลาและอาศัยการถกเถียงแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าคูหาลงคะแนนไม่กี่วินาที 

ประการที่สาม สังคมที่คนเท่ากัน การเลือกสร้างสังคมที่ยอมรับให้คนเท่ากัน เท่ากันทั้งในอำนาจในการเลือก และเท่ากันในโอกาสที่จะได้รับเลือกให้บริหารชุมชน การเลือกตั้งจึงสร้างระบบคุณค่าที่ทำให้คนต้องยอมรับความเท่าเทียมกันนี้ ดังจะเห็นได้ว่าผู้ได้รับเลือกตั้ง ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรก็ยังได้รับการยกย่องนับถือ ไม่ได้ต่างไปจากข้าราชการ การที่ชาวบ้านไม่พอใจข้าราชการที่ดูถูกผู้ใหญ่ที่พวกเขาเลือกมา คือการแสดงออกว่าชาวบ้านต้องการให้คนจากระบบราชการยอมรับคนจากระบบเลือกตั้ง 

และน่าจะหมายถึงด้วยว่า ชาวบ้านต้องการให้ข้าราชการยอมรับอำนาจการตัดสินใจ ยอมรับศักดิ์ศรีของชาวบ้าน ที่แสดงออกผ่านตัวแทนของเขา คือผู้ใหญ่บ้านที่พวกเขาเลือกกันมาเอง 

โดยสรุปแล้ว การเลือกตั้งทำลายการผูกขาดการตัดสินใจ การเลือกตั้งเป็นกลไกการบริหารประเทศที่ไม่ยอมรับว่ามีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่รู้ดีว่าสังคมต้องการอะไร ไม่เชื่อว่ามีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เก่งกว่าคนส่วนใหญ่จนสามารถกำหนดชะตาชีวิตคนอื่นได้ การเลือกตั้งนั้นไปด้วยกันไม่ได้กับแนวคิดที่ว่าต้องใช้กำลังอาวุธในการขจัดความขัดแย้ง การเลือกตั้งมีส่วนท้าทายสังคมที่ยกย่องคนบางกลุ่มว่าสูงเหนือคนส่วนใหญ่ของประเทศ การเลือกตั้งท้าทายสังคมชนชั้นสูง 

ใครที่ไม่ต้องการการเลือกตั้งจึงเป็นกลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดอำนาจเป็นของประชาชน ไม่ยอมรับการแก้ปัญหาอย่างสันติ และไม่ยอมรับหลักการคนเท่ากัน  ใครที่อยากรักษาฐานะอภิสิทธิ์ชนไว้ ใครที่นิยมอำนาจปืน ใครที่เห็นคนไม่เท่ากัน จึงเกลียดกลัวการเลือกตั้ง 

(ที่มา:มติชนรายวัน 9 มีนาคม 2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้