Skip to main content

ผมอ่านเรื่องการขายข้าวของ บก.ลายจุด ไปขัดใจคนอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ทีแรกก็ไม่ค่อยอยากสนใจนัก เพราะ บก.ลายจุด ขยับทำอะไรที ฝ่ายนั้นก็คอยจ้องโจมตีเรื่อยไปจนน่าเบื่อไปแล้ว แต่พอเสธ.ไก่อูมาสนใจการขายข้าวของ บก.ลายจุด ผมว่า อ้อ อย่างนี้นี่เอง ทำไมการขายข้าวของ บก.ลายจุด จึงน่าสนใจขึ้นมาได้

ก็ไม่ใช่ว่าผมจะมองไม่ออกหรอกนะครับว่า การขายข้าวของ บก.ฯ จะมีนัยอย่างไร เพียงไม่นึกไม่ถึงว่าจะมีพลังมากขนาดนี้ ขอบันทึกเพื่อความเข้าใจของตัวเองว่าอย่างนี้ก็แล้วกันครับ (เพื่อความเข้าใจของตนเองนะครับ ใครเห็นว่าไม่เห็นจะมีประเด็นอะไร ไม่เห็นจะต้องมาเขียนอะไร ก็ไม่เห็นจะต้องอ่าน ผ่านเลยไปครับ)  

หนึ่ง ผมว่า บกฯ ฉลาดเรื่องปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์เสมอๆ ตั้งแต่การเป็นคนเริ่มใส่เสื้อแดงเป็นคนแรก โดยอาศัยคำขวัญ "วันอาทิตย์สีแดง" ผมยังจำคลิปที่ บกฯ ใส่เสื้อแดงพุงกลมไปเล่นละครใบ้ที่สีลมได้ สุดท้าย เสื้อแดงกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดขบวนการหนึ่งในประเทศไทยในรอบทศวรรษ 2540-2550 (ก่อนหน้านี้มีขบวนการสมัชชาคนจน กับขบวนการพันธมิตรฯ ที่เรียกร้อง ม.7)  

สอง อีกระดับหนึ่งที่ผมว่าน่าประทับใจคือ บก.ฯ เก่งเรื่องการริเริ่มสร้างความหมายทางการเมืองจากวัฒนธรรมสามัญ อย่างการชวนคนไปกินแฮมเบอร์เกอร์ ผมถามคนสนิทกับ บก.ฯ มากคนหนึ่งว่า ตกลง บก.ฯ ชอบกินแฮมเบอร์เกอร์ จริงๆ เหรอ คนนั้นตอบว่า เท่าที่รู้ไม่เห็นเคยชอบนะ แต่ในเมื่อพื้นที่ตรงนั้นมันเป็นพื้นที่ใจกลางสัญลักษณ์ของการต่อต้านเผด็จการไปแล้วในระยะหนึ่ง ร้านแฮมเบอร์เกอร์นั้นก็เลยกลายสภาพไปเป็นที่นัดชุมนุมทางการเมืองไปด้วยในตัว วิธีทำนองเดียวกันนี้ภายหลังกลุ่มนักศึกษาก็ใช้เช่นกัน แต่ผมว่าพวกเขาคงไม่ได้เอาอย่าง บก.ฯ หรอก เพียงแต่มันคล้ายกัน 

สาม บกฯ สื่อสารกับคนด้วยภาษาง่ายๆ ได้ดี เมื่อก่อน ซึ่งไม่นานมานี้นักหรอก ผมว่า บก.ฯ เป็นคนพูดไม่เก่งนะ ผมเคยฟัง บก.ฯ พูดอภิปรายในบางเวที ผมฟังแทบไม่เข้าใจเลย หรือเป็นเพราะเวทีนั้นเป็นเวทีวิชาการก็ไม่รู้ หรือจะเพราะ บก.ฯ เคยถนัดแต่ละครใบ้ก็ไม่รู้ แต่หลังๆ มา บก.ฯ สื่อสารเก่งมาก ทักษะในการพูดของ บก.ฯ นี่ ในวงอภิปรายหรือรายการทีวีที่ไปร่วมเวทีกันทีไร (นึกๆ แล้วก็แปลกดีที่ไปร่วมเวทีเดียวกับ บก.ฯ อย่างน้อย 3-4 ครั้ง) ถ้าผมต้องพูดหลัง บก.ฯ ละก็ ต้องหามุกหลบไปเป็นวิชาการจ๋าๆ เลยทุกที  

สี่ เรื่องการสื่อสาร มีรายละเอียดที่สำคัญอีกคือ ตรรกของ บก.ฯ มักจะแหวกแนว มีเวทีนึง ผมไปร่วมเวทีกับ บก.ฯ และผู้ร่วมอภิปรายคนอื่นๆ อีก 2-3 คน เป็นเรื่องการศึกษาในมหาวิทยาลัย ทุกคนวิจารณ์ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เป็นอยู่ โดยนัยที่ว่าจะปรับปรุงมันยังไง พอถึงคิว บก.ฯ บก.ฯ บอก "ผมว่าเราน่าจะสร้างมหาวิทยาลัยแบบใหม่" แล้ว บก.ฯ ก็หันมาชวนผมว่าให้ยกเลิกหรือลาออกจากมหาวิทยาลัยปัจจุบันไปตั้งมหาวิทยาลัยแบบใหม่กันดีกว่า บก.ฯ เก่งเรื่องการคิดแหวกแนวมาก แล้วแกคิดจริงจังด้วย ไม่ใช่แค่คิดหรือพูดลอยๆ คือจริงจังแบบมีแนวทางมีแผนงานที่ใกล้จะทำจริงได้เลย 

ห้า (ชักเยอะแล้วนี่) มุกใหม่ของ บก.ฯ เรื่องการขายข้าวนี่ ที่จริงก็ต่อเนื่องมาจากการขายนาฬิกา ผมนั่งดู บก.ฯ ขายนาฬิกา ซึ่งก็เคยเห็นอยู่เรือนหนึ่งในบ้านคนรู้จักกันดี "แถวนี้" แล้ว ผมก็ว่า บก.ฯ คงใจเย็น คือค่อยๆ ขายทั้งสินค้าและความคิดไปแบบเรื่อยๆ เรียงๆ แต่พอกระโดดมาขายข้าวนี่ ผมว่า "มันใช่เลย" ยิ่งเสธ.ไก่อู เริ่มกระแนะกระแหนในลีลาทหารดีแต่ปากนี่ ผมว่า บก.ฯ ขายของออกแล้ว ผมว่านี่เป็นการแปลงวิธีการแบบที่คนเมืองเข้าใจได้มาเป็นขบวนการทางสังคมได้อย่างชาญฉลาดอีกครั้งหนึ่ง เป็นการแปลงตรรกแบบการตลาดมาเป็นพลังของผู้ด้อยอำนาจอย่างแยบคาย 

ขายของต่อไปครับ บก.ฯ ผมทำอะไรแบบ บก.ฯ ไม่เป็นสักอย่าง ทำได้แค่หาทางทำให้ตัวเองเข้าใจ บก.ฯ แบบที่ขีดๆ เขียนๆ มาเท่านั้นเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด