Skip to main content

วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้

วันที่ 30 เมษายน 2518 (ค.ศ.1975) เป็นวันสิ้นสุด "สงครามเวียดนาม" ก็จริง แต่นั่นยังไม่ใช่การสิ้นสุดของมรดก สงครามเวียดนามŽ และ สงครามเย็นŽ เพราะสงครามกับคอมมิวนิสต์อย่างน้อยในภูมิภาคนี้ก็ไม่ได้สิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงหลัง สงครามเวียดนามŽ สิ้นสุดลง (ผมจงใจใช้อัญประกาศ "..."Ž กำกับชื่อสงครามต่างๆ ซึ่งหมายถึงสงครามเดียวกัน แต่รู้จักกันจากหลายมุมมองในชื่อต่างกัน) อย่างที่รู้กันคือ ในประเทศไทย สงครามกับคอมมิวนิสต์ยังคงดำเนินต่อมาจนทศวรรษ 2520 บางคนถือเอานโยบาย 66/23 เป็นหมุดหมายของการสิ้นสุด ส่วนใน สปป.ลาว "สงครามลับ" หลังสงครามเวียดนามยังคงดำเนินต่อเนื่องมาอีกหลายปี จนถึงยุค น้าชาติŽ หรือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในทศวรรษ 2530 นั่นแหละจึงจางหายไป 

 

กลับไปที่คำถามว่า "สงครามเวียดนามŽ" เป็นสงครามระหว่างใครกับใครกันแน่ และ เราŽ อย่างน้อยคนไทยควรเข้าใจสถานะของสงครามนี้อย่างไร มี 2-3 เรื่องที่เป็นทั้งประสบการณ์ตรงที่กระอักกระอ่วนและจากการศึกษาประวัติศาสตร์และทำวิจัยในประเทศเวียดนามมาร่วม 20 ปี

สถานะของประเทศไทยใน "สงครามอินโดจีนครั้งที่สองŽ" (อีกชื่อหนึ่งของสงครามเวียดนาม) เป็นสถานะที่คนไทยแทบไม่ได้เรียนรู้ หรือรู้ก็รู้ในแบบที่สร้างความเกลียดชังประเทศและชาวเวียดนามต่อเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นึกย้อนกลับไปเมื่อสัก 30 กว่าปีก่อน หลายคนคงเคยได้ยิน urban folklore หรือ ตำนานชาวเมืองŽ ในประเทศไทยสมัยหนึ่งที่ว่า กินก๋วยเตี๋ยวญวนแล้วจู๋Ž คือจะทำให้อวัยวะเพศชายหดตัว ไม่สู้ หรือบางเวอร์ชั่นก็บอกว่ากุดไปเลย เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ยินอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เพื่อนอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เคยมีเรื่องเล่าว่าสาวเวียดนามซ่อนใบมีดโกนไว้ในอวัยวะเพศ จินตนาการเอาเองก็แล้วกันว่าทำไมหนุ่มไทยจะต้องกลัวถ้าไม่คิดถึงความสัมพันธ์พิเศษอะไรกับสาวเวียดนาม 

ในทางตรงกันข้าม นิยายไทย ภาพยนตร์ไทย และเพลงลูกทุ่งไทย เช่น นิยายชุด ผู้กองยอดรักŽ หรือเพลง เสียงเรียกจากหนุ่มไทยŽ (น่าจะรวมทั้งละครโทรทัศน์ ฮอยอันฉันรักเธอŽ ที่เคยโด่งดังด้วย จนทำให้เมือง โห่ยอานŽ กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมไปช่วงวันหยุดยาวมากที่สุดเมืองหนึ่งของเวียดนาม) ที่กล่าวถึงทหารไทยไปรบที่เวียดนาม กลับมักให้ภาพทหารไทยกลัวๆ กล้าๆ ไปรบกับเวียดนามแล้วได้สาวเวียดนามเป็นภรรยา แล้วสุดท้ายก็ทอดทิ้งกลับมา หรือไม่ก็สนุกกันชั่วครั้งชั่วคราวแล้วต้องพรากจากกันไป เรื่องราวความรักระหว่างทหารไทยกับสาวเวียดนามนี้ฟังดูแล้วเข้าทำนองโกโบริกับอังศุมาลิน เป็นภาพความรักโรแมนติกระหว่างคู่สงคราม 

น่าสังเกตว่า ในเนื้อเรื่องทำนองนี้ พระเอกจะเป็น ผู้รุกรานŽ ที่ชวนหลงใหล ส่วนนางเอกก็จะเป็น ผู้ถูกรุกรานŽ ที่สมยอมกับการถูกรุกราน เหมือนกับจะช่วยอธิบายสถานะการรุกรานและการยอมรับการรุกรานด้วยเพศสัมพันธ์ได้อย่างชวนฝัน

ภาพลักษณ์เวียดนามแบบนี้ช่างขัดกันกับตำนานชาวเมืองที่กล่าวถึงโรคจู๋และเครื่องเพศใบมีดโกนข้างต้น ผมเดาว่าตำนานข้างต้นที่ทำให้ เวียดนามŽ = สาวแสบŽ ไปถึงกระทั่งสร้างตำนาน การตอนรวมหมู่Ž เกิดขึ้นหลังจาก ไซ่ง่อนแตกŽ ขณะที่ตำนาน ความรักชวนฝันŽ ระหว่างทหารไทยกับสาวเวียดนามถูกสร้าง (น่าจะอย่างเป็นระบบ) ในยุคที่ไทยร่วมรบกับสหรัฐ ในสงครามระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ แต่ความหมายที่ตำนานทั้งสองยุคมีร่วมกันก็คือ ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามทั้งสองลักษณะเป็นภาพความสัมพันธ์ที่มีนัยทางเพศ ความสัมพันธ์ไทยกับเวียดนามในจินตนาการพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยเป็นเพศสัมพันธ์ที่ทั้งชวนหลงใหลและน่าหวาดระแวง แต่คำถามที่ตามมาอีกคำถามคือ แล้วคนเวียดนามล่ะ เขามองความสัมพันธ์ตนเองกับไทยในยุคสงครามอย่างไร

ในระหว่างที่เริ่มทำวิจัยในเวียดนามเมื่อเกือบ 15 ปีก่อน ผมเพิ่งเริ่มรู้ว่าคนเวียดนามเรียกสงครามเดียวกันนี้ว่า "สงครามอเมริกันŽ" เพราะ เขาŽ (คือคนเวียดนามส่วนหนึ่ง) ถือว่าเป็นสงครามที่สหรัฐอเมริกาเข้ามารบกับคนเวียดนาม แต่สงครามนี้ซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะยังเป็น "สงครามกลางเมืองŽ" ระหว่างคนเวียดนามด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐ ดึงทหารเวียดนามเข้ามาร่วมรบในสงครามมากขึ้น จนกลายเป็นสงครามระหว่างทหารเวียดนามเหนือ (ที่คนไทยเรียกตามฝรั่งอเมริกันว่า เวียดกงŽ) กับทหารเวียดนามใต้

แต่นั่นก็ยังไม่ซับซ้อนพอ เพราะถ้าจะว่าไป ความสำเร็จŽ ของเวียดนามเหนือ หรือ ความล้มเหลวŽ ของเวียดนามใต้ เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลเวียดนามใต้เองด้วย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลโง ดิ่ง เสียบ (Ng™ô Đình Diệฺm ถ้าสำเนียงภาคใต้จะออกเสียงว่า โง ดิ่น เหยียบ) ที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ดำเนินนโยบายล้มเหลวในการปราบปรามและกดทับกำราบผู้คนที่เห็นต่างจากรัฐบาลมากมาย รวมทั้งกดขี่ชนกลุ่มน้อยในเขตที่สูงภาคใต้ และเหยียดศาสนาพุทธยกย่องโรมันคาทอลิกที่ตนนับถือจนชาวพุทธไม่พอใจ (มีเรื่องเล่าว่า ที่โง ดิ่ง เสียบได้รับแรงหนุนจาก JFK นั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะความเป็นชาวคาทอลิกเช่นเดียวกัน)

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ความล้มเหลวของรัฐบาลเวียดนามใต้ที่มีอยู่ก่อนแล้วนั่นเองก็มีส่วนในการทำลายความมั่นคงของรัฐบาลเวียดนามใต้ และมีส่วนในการสร้างแนวร่วมของผู้ต่อต้านรัฐบาลในเวียดนามใต้ ให้คนเวียดนามใต้เองร่วมมือเปิดทางหรือเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับ สงครามปลดปล่อยŽ เวียดนามใต้ สหรัฐ และกองทัพเวียดนามใต้จึงล้มเหลวในการแยกแยะหมู่บ้านที่สนับสนุนรัฐบาลออกจากหมู่บ้านที่สนับสนุนเวียดนามเหนือ ก็เพราะพวกเขาก็คือคนในที่มีใจให้กับรัฐบาลเวียดนามเหนือนั่นเอง 

พวกเขาก็คือชาวเวียดนามใต้ที่ร่วมมือกับชาวเวียดนามเหนือรบกับทหารเวียดนามใต้ที่สหรัฐสนับสนุนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ที่ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกคือการเข้าร่วมสงครามนี้โดยชาติต่างๆ มากมายยิ่งกว่าเพียงสองชาติคือสหรัฐอเมริกากับเวียดนาม นี่ทำให้เมื่อศึกษาเกี่ยวกับสงครามในเวียดนาม ผมจึงถูกบังคับให้ต้องอ่านเอกสารทั้งจากสหรัฐอเมริกาเอง จากเวียดนาม จากฝรั่งเศส รวมทั้งจากออสเตรเลียที่ส่งทหารไปร่วมรบไม่น้อยเช่นกัน แต่ที่ยังขาดการศึกษาจริงจังคือ บทบาทของไทยในสงครามเวียดนามนี้ และทำให้บางคนเรียกสงครามนี้ว่า สงครามอินโอจีนครั้งที่สองŽ (ครั้งแรกคือสงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกับฝรั่งเศสสิ้นสุดปี 1954 ครั้งที่สามคือสงครามระหว่างเวียดนามกับกัมพูชาและจีนปี 1979)

เมื่อราวๆ ปี 2547 มีครั้งหนึ่งที่ผมไปเดินอยู่ในหมู่บ้านในเวียดนามเหนือ ระหว่างที่กำลังจะเริ่มบทสนทนากับผู้เฒ่าคนหนึ่ง ท่านก็ถามผมว่า ทำไมประเทศเธอยอมให้สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพแล้วมาทิ้งระเบิดที่บ้านเราŽ ผมอึ้งไปชั่วขณะ แล้วตอบกลับไปว่า แต่ผมทำงานในมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งโดยผู้ที่ช่วยเหลือลุงโฮมาตลอดนะครับŽ ก็เลยพอจะปิดปากผู้เฒ่าคนนั้นไปได้บ้าง เพราะชาวเวียดนามพอจะรับรู้กันอยู่ว่าปรีดี พนมยงค์ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเวียดนามในระหว่างยุคสงครามอินโดจีนครั้งแรก

และนี่ก็แสดงความซับซ้อนของความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามไปด้วยในตัว

คำกล่าวประเภทว่า คนเวียดนามทุกคนรักชาติŽ คนเวียดนามชาตินิยมŽ คนเวียดนามหวงแหนประเทศ ต่อสู้ปกป้องประเทศจากต่างชาติŽ จึงถูกเพียงส่วนเดียว เพราะต้องถามต่อไปว่า ใครเป็นคนพูดคำนั้น ไม่ใช่คนเวียดนามใต้ทุกคนจะไม่ยินดีกับ การบุกเข้ายึดไซ่ง่อนŽ ของทหารเวียดนามเหนือ และไม่ใช่ชาวเวียดนามเหนือทุกคนที่ยินดีกับ การปลดปล่อยเวียดนามใต้Ž ไม่ต่างกับการที่คนอเมริกันจำนวนมากที่ต่อต้านการที่ผู้นำประเทศ นำประเทศสหรัฐเข้าสู่สงครามเวียดนามและสงครามอื่นๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากคนอเมริกันจำนวนมากจนถึงทุกวันนี้ คนเวียดนามทุกฝ่ายทั้งสูญเสียและได้รับประโยชน์ ประเทศเวียดนามก็ไม่ต่างจากสังคมไหนๆ ที่ไม่ได้เรียบง่าย ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวเสมอกันไปหมด 

สังคมไทยก็ควรเริ่มทำความเข้าใจความซับซ้อนของบทบาทตนเองต่อความสูญเสียของผู้คนและสังคมในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถึงทุกวันนี้ แม้แต่ความซับซ้อนของความขัดแย้งในสังคมไทยเอง คนไทยยังไม่อยากเข้าใจเลย คงหวังที่จะให้เข้าใจความซับซ้อนของโลกรอบตัวได้ยากยิ่งเข้าไปอีก

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 4 พ.ค. 2558 

========================================

หมายเหตุ: ขอบันทึกไว้ว่า

1. บทความชิ้นนี้ มติชนตัดข้อความสำคัญตอนหนึ่งออกจากต้นฉบับอีกครั้งหนึ่ง คือตอนที่ผมกล่าวถึงการเสด็จเยือนเวียดนามใต้ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเมื่อปี 1959 ซึ่งนับเป็นการเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งแรกในฐานะประมุขของพระองค์ 

2. ที่ไม่แน่ใจคือ มติชนพิมพ์อักษรเวียดนามในฉบับที่พิมพ์ลงกระดาษหรือเปล่า แต่ในฉบับออนไลน์มีความผิดพลาดเรื่องนี้ ต่อไปหากเขียนเรื่องเวียดนามลงมติชน ผมคงต้องเลี่ยงการใช้อักษรเวียดนาม ซึ่งก็เหมือนไม่ให้เกียรติเพื่อนบ้าน และยิ่งดูน่าอายหากคนศึกษาเวียดนามเขียนถึงเวียดนามแล้วไม่ใช้อักษรเวียดนามในการพิมพ์งาน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก