Skip to main content

วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 

เรื่องแรกคือ วันนี้มีนักศึกษามาปิดภาคเรียนวิชานี้กัน 18 คนจากทั้งหมด 21 คน ผมถือว่าแค่นี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีมากแล้ว เพราะตั้งแต่สอนหนังสือมา ส่วนใหญ่นักศึกษาปริญญาตรีจะไม่ใส่ใจวันสุดท้ายของการเรียนกัน วิชาที่ผมสอนส่วนใหญ่ไม่มีการสอบปลายภาค ฉะนั้นวันสุดท้ายจะไม่มีความหมายอะไรกับคะแนนของพวกเขา นอกจากว่าพวกเขาจะใส่ใจสนใจเรียนกันเอง ผมเลือกเชื่ออย่างนั้น

อาจจะเป็นการสบประมาทนักศึกษาที่เคยสอนในประเทศไทยบ้างหากจะบอกว่า นักศึกษาในห้องเรียนที่ผมเพิ่งสอนจบไปนี้เป็นห้องเรียนที่ดีที่สุดห้องหนึ่งที่เคยสอนมา ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยสอนห้องเรียนไหนที่ดีเท่านี้ แต่หากเทียบคุณภาพนักศึกษาปริญญาตรี "ส่วนใหญ่" คือเกือบ 80% ของห้องนี้กับที่เมืองไทยแล้ว ผมว่านักเรียนที่นี่มีคุณภาพ "สูงกว่า" ที่เมืองไทย ในแง่ของความเอาใจใส่ต่อการเรียน ความตั้งใจทำงาน คุณภาพงานเขียน และการพัฒนาผลงานหลังจากได้รับคำแนะนำ

ไม่ใช่ว่านักศึกษาปริญญาตรีที่นี่จะเพียบพร้อมไปเสียทุกอย่างหรอก พวกเขายังต้องเรียนรู้การเขียน การอ่าน การอ้างอิงผลงาน การเรียบเรียงความคิด และการมีวินัยในการเรียน แต่โดยรวมๆ พวกเขาพัฒนากันเร็วและมีความตั้งใจสูงมากตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย

อีกเรื่องที่น่ายินดีคือ นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ผมได้รู้จักกับพวกเขามากขึ้น จากการให้พวกเขาทำงานวิจัยเล็กๆ คนละชิ้น นักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาเรื่องใกล้ตัวที่ตนเองสนใจอยู่แล้ว ซึ่งก็สะท้อนตัวตนของแต่ละคนได้ค่อนข้างดี อย่างนักเรียนผิวสี ก็สนใจเรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับสีผิว นักเรียนเอเชียนก็มักสนใจเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสังคมหรือครอบครัวตนเอง นักเรียนหญิงสนใจเรื่องความเป็นหญิง คนชอบเล่นกีฬาก็สนใจเรื่องการเล่นกีฬา ซึ่งนี่ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับนักศึกษาที่เมืองไทยส่วนใหญ่

ที่แปลกออกไปก็มี เช่น นักเรียนอเมริกันผิวขาวคนหนึ่ง เคยไปเรียนมัธยมปลายที่อินโดนีเซียมาหนึ่งปี สามารถใช้ภาษา "บาฮาซา" ได้ และก็ยังคงสนทนาติดต่อกับเพื่อนที่อินโดฯ ก็เลยศึกษาเรื่องการใช้ภาษาของวัยรุ่นอินโดฯ ในโซเชียลมีเดีย อีกคนที่น่าสนใจคือนักเรียนอเมริกันที่ศึกษาการใช้พื้นที่ห้องสมุดในห้องสมุดหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งว่ากันว่าเป็นห้องสมุดที่เงียบมากแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้ ส่วนอีกคนศึกษากลุ่มคนที่ประท้วงการบริหารงานของรัฐวิสคอนซินโดยเดินเข้าไปร้องเพลงในที่ทำการรัฐทุกวันธรรมดาเวลาพักเที่ยงเป็นจำนวน 10-20 คน หนึ่งในนั้นคือพ่อของนักศึกษาคนนี้เอง

อีกคนที่น่าสนใจคือนักเรียนเวียดอเมริกันที่สัมภาษณ์คนชราที่เขาทำงานด้วย นักเรียนคนนี้ทำงานบริการ ทำความสะอาด ดูแลให้ความช่วยเหลือคนชราในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง เขาเล่าว่างานวิจัยเล็กๆ นี้ช่วยให้เขาได้พูดคุย ได้รู้จัก ได้เห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์ของคนชราเหล่านี้มากขึ้น เขาบอกว่า จากที่เคยเห็นคนแก่เหล่านี้ว่าเป็นเพียง "งาน" ของเขา แต่เมื่อได้รู้ชีวิตเบื้องหลังแต่ละคนมากขึ้น ได้สังเกตรายละเอียดของชีวิตประจำวันมากขึ้น ได้รู้เกียรติประวัติหน้าที่การงานสำคัญของพวกเขาในอดีตมากขึ้น ได้เห็นความโดดเดี่ยวของพวกเขามากขึ้น แล้วที่สุดก็ทำให้เห็นคนชราเหล่านี้เป็นเพื่อนมนุษย์มากขึ้น

ผมให้นักศึกษาทำงานวิจัยเล็กๆ ของตนเองก็จริง แต่ก็ไม่ได้ให้ต่างคนต่างศึกษากันไปเงียบๆ อยู่คนเดียว ผมให้พวกเขาค่อยๆ พัฒนางาน ให้เขาได้เอางานเขียนมาแลกกันอ่าน ให้พวกเขาแนะนำวิจารณ์กันเองในกลุ่มย่อยๆ อยู่สัก 4 สัปดาห์ แล้วในสัปดาห์สุดท้ายของการเรียน ผมให้แต่ละคนนำเสนองานตัวเองสั้นๆ ให้ทุกคนได้ฟังได้สอบถามกัน

ที่น่ายินดีคือ วิธีนี้ทำให้พวกเขาได้เห็นมุมมอง ได้เห็นวิธีการตั้งคำถาม ได้เห็นแง่มุมของสังคม ได้รับรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากตนเองจากที่แต่ละคนสนใจได้ดีมาก นักเรียนผิวขาวอเมริกันได้เรียนรู้เรื่องของนักเรียนม้ง นักเรียนไต้หวัน และนักเรียนเกาหลี นักเรียนอเมริกันภาคเหนือได้รู้จักมุมมอง ความสนใจ ของนักเรียนอเมริกันจากภาคใต้ นักเรียนผิวขาวได้รับรู้มุมมองของนักเรียนผิวดำ นักเรียนผิวดำได้รู้จักความสนใจของนักเรียนผิวขาว  

เรื่องที่ผมยินดีที่สุดในวันนี้คือ นักศึกษาคนหนึ่งที่แทบไม่เคยมาเรียนเลย แล้วไม่ได้ส่งงานเลยมาตลอดภาคการศึกษา ได้แวะมาหา ที่ผ่านมาผมเตือนให้เขาถอนวิชานี้เสีย แต่เขาอธิบายว่าเขาป่วยหนัก ต้องพักเรียนทุกวิชาหลายสัปดาห์แล้ว แต่จะต้องจบภาคการศึกษานี้ ขอความกรุณาให้ผมผ่อนปรนแล้วเขาจะมาเรียนให้ได้ แต่สุดท้ายเขาก็มาเรียนไม่ได้ วันนี้เขามาหา เอางานมาส่งครบ แล้วอธิบายความเจ็บป่วย เขายอมรับเงื่อนไขว่าเขาจะไม่มีทางได้เกรดสูงๆ ผมรับงานเขา แล้วบอกว่าจะให้โอกาสเขาเท่าที่พอจะทำได้

เสียดายแต่ว่านักศึกษาที่เรียนด้วยไม่ได้มาอ่านบันทึกนี้ แต่เอาไว้ผมจะเขียนไปเล่าให้พวกเขาอ่านว่าได้อะไรจากห้องเรียนนี้บ้าง ที่จริงผมอยากถามพวกเขาแบบที่มักจะถามนักศึกษาเมื่อปิดภาคการศึกษาเสมอๆ ว่า พวกเขาได้อะไรใหม่ๆ จากการเรียนวิชานี้บ้าง พวกเขามีอะไรแนะนำเพื่อการปรับปรุงวิชานี้บ้าง เสียดายที่เวลาไม่พอ สุดท้ายก็เฝ้ารอที่จะได้อ่านงานเขียนชิ้นสุดท้ายของพวกเขา หวังว่าจะได้อ่านงานเขียนดีๆ และได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขาเพิ่มขึ้นอีก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนคนหนึ่งตั้งประเด็นว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยไทยในหลายจังหวัดว่าจะพัฒนาไปไกลกว่ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทางด้าน "สังคมศาสตร์" ผมก็เลยคิดอะไรขึ้นมาได้หลายอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านเรื่องการขายข้าวของ บก.ลายจุด ไปขัดใจคนอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ทีแรกก็ไม่ค่อยอยากสนใจนัก เพราะ บก.ลายจุด ขยับทำอะไรที ฝ่ายนั้นก็คอยจ้องโจมตีเรื่อยไปจนน่าเบื่อไปแล้ว แต่พอเสธ.ไก่อูมาสนใจการขายข้าวของ บก.ลายจุด ผมว่า อ้อ อย่างนี้นี่เอง ทำไมการขายข้าวของ บก.ลายจุด จึงน่าสนใจขึ้นมาได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นโจมตีกระแนะกระแหนส่วนหนึ่งของความเห็นผมกันยกใหญ่ แต่ผมว่าก็ดีนะ มันชี้ขีดจำกัดของความคิดคนดี ก็ไม่ใช่ว่าผมจะพูดถูกหมดหรือพูดครบถ้วนหมดจดหรอก เพียงแต่มีข้อแย้งกับข้อโต้แย้งเหล่านั้นได้มากเช่นกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่มีรากฐานอยู่ในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทยมาเนิ่นนาน น่าจะนานไม่น้อยไปกว่าแนวคิดประชาธิปไตย หากแต่น่าสงสัยว่า ทำไมแนวคิดนี้จึงยังไม่เป็นที่เข้าใจกันเสียที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้ มีนักคิดหลายๆ คนเสนอวิธีทำความเข้าใจสังคมไทยใหม่ๆ มากมาย หลายคนพยายามไม่ตัดสินว่านี่คือการถอยหลังหรือย้อนรอยกลับไปในอดีต เพราะนักศึกษาประวัติศาสตร์สังคมย่อมทราบดีว่า สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ และในเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป เราจะเข้าใจสังคมปัจจุบันอย่างไร ผมคนหนึ่งล่ะที่พยายามไม่คิดว่านี่เป็นการ "ถอยหลัง" หรือซ้ำรอยอดีตอย่าง deja vu 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่องไม่เป็นเรื่องบางครั้งก็ชวนให้น่ารำคาญ ทำให้ต้องมาคอยอารัมภบทออกตัวมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมโชคดีที่มีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมประชุมวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ก่อน ทั้งหมดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แนวโน้มของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจของประชาชนลง แนวโน้มนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายของผู้เฝ้าติดตามการเมืองไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกระบวนการต่อเนื่องของการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557 ที่เกิดปรากฏการณ์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการชุมนุมทางการเมืองและใช้กำลังรุนแรงของมวลชนเข้าไปปิดล้อมทำลายการเลือกตั้ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่จำเป็นต้องสาธยายคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลต่อสังคมไทย หากคุณไม่เห็นคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ คุณก็คือคนที่ไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังกรอกยาฝิ่นใส่ปากตัวเอง แล้วเมายาอยู่จนหลงคิดไปว่ากำลังดื่มโอสถบำรุงกำลัง หากคุณไม่คิดอย่างนั้น ก็ไม่ต้องอ่านต่อไปแล้วไม่ต้องมาพยายามเถียงกับผมให้เสียเวลาเปลืองอารมณ์ที่จะต้องคุยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันศุกร์ที่ผ่านมา (20 กพ. 58) ผมไปร่วมกิจกรรม 4 กิจกรรมด้วยกัน ทั้งหมดเกี่ยวกันบ้าง ไม่เกี่ยวกันบ้าง แต่อยากเล่าให้ฟังว่ามันชวนคิดและชวนตกใจมากทีเดียว 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเห็นข่าวว่ามีการพูดถึงคนไทยมาจากเขาอัลไตกันขึ้นมาอีก ผมก็ระลึกขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนี้ได้ข้อตกลงกันไปชัดเจนนานแล้วนี่นาว่า เป็นความรู้ที่ผิดพลาด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐบาลทหารไม่อยากให้ถูกเรียกว่าตนเองเป็นเผด็จการ เพราะยอมรับความจริงไม่ได้ว่า ที่ตนเป็นอยู่นั้นเป็นเผด็จการ เหมือนโจรที่ไม่อยากถูกเรียกว่าโ