Skip to main content

ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 

แต่มาปีนี้ ผมเองชักจะเบื่อกับการถามเรื่องการเมือง ผมก็เลยละเว้นไม่ถามทัศนะทางการเมือง แล้วไปถามเรื่องบาางเรื่องที่ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน แม้ว่าจะสัมภาษณ์เพียงไม่กี่คน ก็ชวนให้คิดว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง และอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลง 

อย่างแรก สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ หากถามว่าคุณชอบเรียนวิชาอะไร ถ้านักศึกษาตอบว่าชอบวิชาประวัติศาสตร์ ผมก็มักจะถามต่อว่า ประวัติศาสตร์ไทยช่วงไหนที่ประทับใจมากที่สุด เกือบร้อยทั้งร้อยก็มักจะตอบว่า ชอบสมัยอยุธยา สนใจเรื่องการเสียกรุงทั้งสองครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งแรก ชอบสมัยพระนเรศวร 

เมื่อได้คำตอบแบบนี้ ผมก็จะถามต่อว่า แล้วคุณไปสนใจอะไรกับการเสียกรุงทั้งสองครั้ง นักศึกษาก็เริ่มงงว่าผมจะมาไม้ไหน ผมก็เลยถามต่อว่า คุณเป็นญาติกับพระนเรศวรเหรอ ไม่ทันให้นักศึกษาได้คิด ผมก็มักจะยิงคำถามต่อว่า ดูหน้าคุณแล้ว ผมเดาว่าบรรพบุรุษทั้งฝ่ายพ่อและแม่คุณน่าจะมาจากเมืองจีน แล้วทำไมคุณจะไปแคร์อะไรกับการเสียกรุงทั้งสองครั้ง มันไม่ใช่เรื่องของคุณสักหน่อย ไม่ใช่เรื่องของผมด้วย เพราะบรรพบุรุษผมส่วนมากก็มาจากเมืองจีนเช่นกัน 

แล้วผมก็จะฉวยโอกาสที่พวกเขาปฏิเสธไม่ได้สำทับไปว่า นักเรียนไทยและนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ที่เป็น "ศาสตร์" แต่สนใจประวัติศาสตร์ที่เป็นนิยายหรือนิทานมากกว่า ประวัติศาสตร์ที่เรียนกันส่วนใหญ่เป็นนิทานหลอกเด็กมากกว่าที่จะเป็นศาสตร์เกี่ยวกับอดีต 

บางอย่างที่ปีนี้มีอะไรใหม่ๆ คือ มีนักเรียนจำนวนอย่างน้อย 30% ของที่ผมสัมภาษณ์นั้นเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีแต่เพียงพ่อหรือแม่ ส่วนใหญ่เป็นแม่มากกว่า โครงสร้างครอบครัวลักษณะนี้อาจจะกำลังกลายเป็นครอบครัวที่ปรากฏจริงมากขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อเกือบสิบปีก่อนที่ผมกลับจากอเมริกา พ่อผมเคยถามว่า ทำไมดูหนังอเมริกันแล้วครอบครัวในหนังมักมีการหย่าร้างแยกทางกัน ผมตอบไม่ได้เพียงแต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่สังคมอเมริกันมีครอบครัวหย่าร้างมาก แต่ในขณะนี้ สังคมไทยก็อาจจะมีครอบครัวในลักษณะนั้นมากขึ้นก็ได้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีนักศึกษาคนหนึ่ง มาจากภาคอีสาน เขาพูดถึงจังหวัดเขาในน้ำเสียงชื่นชมความเป็นคนท้องถิ่นของเขา เขาไม่ใช่คนในเมือง ต่างกับนักศึกษาจำนวนมากที่แม้อยู่อีสานเหนือหรือใต้แต่ก็ไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ เมื่อผมถามนักศึกษาคนนี้ว่า คุณพูดลาวได้ไหม เขารีบตอบสวนกลับมาทันทีว่าเขาพูดอีสานได้ แต่พูดลาวไม่ได้ แล้วเขาก็รีบอธิบายว่า ภาษาอีสานกับภาษาลาวต่างกัน และภาษาอีสานถิ่นต่างๆ ก็ต่างกัน ผมก็เลยสะกิดใจว่า ทำไมเขาจึงต้องรีบปฏิเสธความเป็น "ลาว" ของเขาอย่างร้อนรนขนาดนั้น  

ผมค่อยๆ ตะล่อมถามเขาว่า เวลาคุณเรียกคนภาคกลาง คุณเรียกว่าอะไร เขาตอบว่า ก็คนภาคกลาง ผมถามต่อว่า บางทีคุณเรียกคนภาคกลางว่าคนไทด้วยหรือเปล่า เขาตอบว่า "ใช่ครับ" ผมก็เลยบอกเขาว่า ถ้าอย่างนั้นคุณก็ยังเรียกตัวเองว่า "ลาว" นั่นแหละ ไม่เห็นจะต้องปฏิเสธเลย ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเลยที่จะเรียกตนเองว่าลาว 

เรื่องนี้ผมว่าน่าแปลก เพราะในสมัยผม ผมเจอเพื่อนคนอีสาน เขาก็ไม่ได้จะต้องปกป้องความเป็นลาวของเขา สงสัยว่าสมัยหลังๆ นี้การเรียกตนเองโดยอิงกับภาคกลางของประเทศไทยด้วยคำว่าอีสานนี้ กลายเป็นบรรทัดฐานในการเรียกตนเองของคนลาวในประเทศไทยไปแล้วหรือย่างไร หรือเมื่อเผชิญหน้ากับคนต่างถิ่น พวกเขาจะพยายามปรับตัวตนของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น มากกว่าจะแสดงความเป็นตนเองออกมาอย่างชัดเจน หรือเพราะตัวตนความเป็นลาวมันถูกทำให้ถดถอยขนาดเจ้าของตัวตนเองยังต้องพยายามลบลืมมัน 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ปีนี้นักเรียนที่สอบ admission ได้คณะที่ผมสอนมารายงานตัวกันน้อยกว่าเปิดรับจริงถึง 15% ถามเพื่อนๆ อาจารย์บางคณะในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ กลางเมืองกรุงเทพฯ ก็เป็นทำนองเดียวกัน นอกจากนั้น เพื่อนๆ อาจารย์ที่สัมภาษณ์นักเรียนด้วยกันวันนี้ก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า ปีนี้มี "เด็กซิ่ว" คือย้ายที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัยอื่นค่อนข้างมาก ผมเองก็มีสัก 20% ได้  

ปรากฏการณ์นี้จะบอกได้หรือไม่ว่า การที่มหาวิทยาลัยไทยเปิดหลักสูตรใหม่ๆ เปิดมากเสียจนนักเรียนนักศึกษาเลือกเรียน เปลี่ยนที่เรียนกันได้มากขึ้นหรืออย่างไร และก็ไม่แน่ใจว่าทางเลือกมากๆ อย่างนี้จะดีต่อสุขภาพจิตนักศึกษาและผู้ปกครองมากขึ้นหรือเปล่า 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับยุคสมัยที่ผมเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยคือ การที่นักศึกษาใหม่หลายคนลงทะเบียนเรียนนิติศาสตร์หรือสาขาอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงกัน ผมสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะ หนึ่ง สาขาวิชาที่เขาสอบแอดมิตชันได้นั้น มักเป็นสาขาวิชาที่ไม่ใช่วิชาชีพ อย่างสาขาที่ผมสอนอยู่ พวกเขาจึงไปเรียนวิชาชีพอย่างนิติศาสตร์เพื่อเป็นหลักประกันอนาคตเขา และสอง แทนที่พวกเขาจะมุ่งไปเรียนนิติศาสตร์รามฯ เลย เขาก็คงเสียดายและอยากเก็บสถานภาพความเป็นคน "สอบติด" มหาวิทยาลัยเอาไว้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่สาขาวิชาที่พวกเขาอยากเรียนมากนักก็ตาม 

ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาใหม่ของปีนี้ ไม่ว่าคุณจะสอบได้ที่ไหน สำหรับคนที่สอบได้ส่วนหนึ่ง แม้ว่าค่าเล่าเรียนในขณะนี้และหลังจากที่มหาวิทยาลัย "ออกนอกระบบ" เป็นดั่งธุรกิจเอกชนมากขึ้น แล้วค่าเรียนจะแพงขึ้น หากแต่การศึกษาที่พวกคุณคนที่สอบติดก็จะยังคงราคาต่ำกว่าคนการศึกษาที่สอบไม่ติดแล้วต้องเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนเต็มตัวอยู่ดี สังคมส่วนที่ "สอบไม่ติด" และส่วนที่ไม่ได้มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัย ก็จะยังต้องแบกรับภาระภาษีเลี้ยงดูผู้ที่ "สอบติด" ต่อไป คนที่สอบติดก็ควรสำนึกบุญคุณและตอบแทนสังคมคืนบ้างเมื่อมีโอกาส

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา