Skip to main content

วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการในภาคเช้าที่ผู้จัดเชิญชาวนาจากลพลุรี ชาวปกาเกอญอจากเชียงใหม่ เกษตรกรจากลำปาง เกษตรกรจากบุรีรัมยย์ และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากกระบี่ แค่ฟังจากลีลาการพูดของแต่ละคนแล้วก็บอกได้เลยว่า แต่ละคนผ่านประสบการณ์การต่อสู้มายาวนาน โชกโชน จนตกผลึกเป็นคำพูดที่ชัดถ้อยชัดคำ ตรงไปตรงมา สะท้อนปัญหาพวกเขาเองโดยละเอียด ไม่อ้อมแอ้มอ้อมค้อมเหมือนอ่านงานวิชาการ  

เหนืออื่นใด ผมทึ่งที่พวกเขาสามารถเล่าความทุกข์ยากของตนเองด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม พวกเขาคงต่อสู้กับอำนาจมายาวนานจนกระทั่งสามารถยิ้มเยาะมันได้ คงมีแต่ความจริงใจกับการต่อสู้ของตนเองกระมังที่ทำให้พวกเขาเข้มแข็งขนาดนี้ หรือเพราะพวกเขาไม่ได้มีทางเลือกมากมาย ไม่ได้ถูกมองเห็นบ่อยนัก พวกเขาก็จึงต้องยืนหยัดและสืบต่อพลังของตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยรอยยิ้มหรือน้ำตา ผมเองเสียอีกที่แทบจะทนฟังพวกเขาไม่ได้ในหลายๆ ตอน 

หนุ่มบุรีรัมย์เล่าเรื่องการทำกินในที่ดินผืนป่า แล้วถูกไล่จากที่ทำกินและที่อาศัยจนต้องมาอาศัยอยู่ข้างถนน ซึ่งไม่มีที่ทำกินอีกต่อไป แถมเขายังถูกติดตามคุกคามจากทหาร พวกเขาเสียดายกระบวนการต่อรองกับรัฐเรื่องที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่ดำเนินมาเนิ่นนาน แต่กลับต้องหยุดลงและอาจจะต้องถูกล้มล้างไปเลยด้วยอำนาจของคณะรัฐประหาร ด้วยประกาศเพียงไม่กี่ประกาศที่ไม่เข้าใจความซับซ้อนและประวัติความเป็นมาของปัญหาในแต่ละท้องถิ่น 

ผู้นำชาวนาภาคกลางเล่าปัญหาการกดราคาข้าวลงของรัฐบาลนี้ แถมยังการบริหารจัดการน้ำอย่างไร้ประสิทธิภาพ หนุ่มใหญ่จากกระบี่เล่าถึงผลกระทบของโรงไฟไ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้น และยกรายละเอียดยิบย่อยที่ผ่านการศึกษามาอย่างจริงจังว่า การส้รางโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ช่วยประโยชน์อะไรขึ้นมา แถมชาวกระบี่ยังมีข้อเสนอพลังงานทางเลือกที่เพียงพอต่อความต้องการของจังหวัด  

หนุ่มใหญ่ชาวปกาเกอญอกลั่นประสบการณ์การต่อสู้กับรัฐไทยมาหลายสิบปีว่า พวกเขาต่อสู้เพื่อคงวิถีชีวิตแบบพวกเขา ไม่ใช่แค่เพื่อรายได้หรือเพื่อการทำมาหากินทางเศรษฐกิจ เขาคนนี้มีคำคมมากมายให้ผู้ฟังทั้งรู้สึกเจ็บแสบและทึ่งกับระดับการเข้าใจปัญหาของเขา หนึ่งในนั้นคือคำกล่าวที่ว่า "พวกผมไม่ได้บุกรุกป่า พวกคนไทยต่างหากที่มาบุกรุกบ้านผม ที่ผมอยู่มานานก่อนพวกคุณจะมา"  

สาวมากพลังและรอยยิ้มสมาชิก อบต. จากลำปางบอกเล่าการต่อสู้กับความอยุติธรรมลำเอียงของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหารในขณะนี้ ที่ไล่พวกเธอออกจากชุมชนที่อยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่ป่าสงวน แต่รัฐกลับนำพื้นที่ทำกินของพวกเธอไปให้บริษัทเหมืองแร่ แล้วหลังการรัฐประหาร ทหารยังทำให้พวกเธอกลายเป็นคนผิด ตราหน้าว่าพวกเธอดื้อรั้น เธอประกาศว่า "ยังจะให้พวกเราเสียสละอะไรอีก คุณว่าพวกเราเห็นแก่ตัว แล้วพวกคุณล่ะเห็นแก่เราบ้างหรือเปล่า"  

อย่างไรก็ตาม ระหว่างพวกเขาเองก็มีข้อแตกต่างแฝงอยู่ในท่าทีต่อระบอบการเมืองของพวกเขา ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ฝ่าย  

ฝ่ายหนึ่งได้ข้อสรุปว่า การรัฐประหาร การอยู่ในอำนาจการปกครองของทหาร ปิดกั้นและยังคุกคามการนำเสนอปัญหาของพวกเขา แถมยังล้มล้างกระบวนการแก้ปัญหาชุมชนที่ดำเนินมาเนิ่นนาน อีกฝ่ายหนึ่งสรุปว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหาร ก็คุกคามความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะผู้มีอำนาจเห็นแก่ประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนอีกฝ่ายสรุปว่า เขาต่อสู้กับรัฐมาเนิ่นนาน เพราะฐานะที่ถูกผลักให้เป็นคนนอก คนที่ถูกลบเลือนของพวกเขา หากแต่พวกเขาไม่เคยต้องถูกคุกคามในการต่อสู้มากเท่าการต่อสู้กับอำนาจรัฐในรัฐบาลนี้ 

นอกจากเปิดหูเปิดตาคนเมืองอย่างผมแล้ว ประโยชน์หนึ่งของงานวันนี้คือการที่ผู้ประสบภัยจากนโยบายเฉพาะหน้าของรัฐบาลนี้ได้มาเล่าปัญหาจากที่ต่างๆ ให้พวกเขาได้รับฟังกันเอง ไม่ใช่เฉพาะจากภาคต่างๆ และจังหวัดต่างๆ แต่พวกเขายังมาจากระบบนิเวศที่แตกต่างกัน จากพื้นเพที่แตกต่างกัน จากการดำรงชีพที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดมาเจอกันด้วยปัญหาเดียวกัน คือผลกระทบจากการละเมิดสิทธิทำกิน ละเมิดสิทธิการใช้ทรัพยากรของพวกเขา ผมหวังว่าอย่างน้อยพวกเขาน่าจะได้ก่อสำนึกถึงความเป็น "ประชาชน" ที่ถูกกระทำจากนโยบายรัฐในขณะนี้ได้บ้าง 

ขอบคุณ 14 นักศึกษาที่มีส่วนสำคัญในการทำให้เสียงที่ถูกกักกั้นมานานนับปีได้ถูกเปิดเผยขึ้นมา ขอบคุณประชาชนผู้เดือดร้อนอันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนี้ทุกคน พวกคุณกล้าหาญมากที่เดินออกมาเป็นแนวหน้าในการแสดงปัญหาและจุดยืนของพวกคุณ มันน่าคับแค้นใจที่การบอกเล่าความเดือดร้อนของประชาชนเอง จะต้องเสี่ยงกับการที่พวกเขาอาจถูกทำให้กลายเป็นอาชญากรต้องอาญาแผ่นดิน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา