Skip to main content

ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่

เมื่อเช้าก็เลยไปลงทะเบียนเป็นผู้พักอาศัยในเกียวโต ขากลับมีนักวิชาการอีกคนหนึ่ง รุ่นใหญ่อาวุโสกว่าผมหลายปีนัก ติดรถกลับมาจากสถานที่ที่ไปติดต่อธุระด้วย เขากำลังจะกลับจากการมาพำนักอยู่ 3 เดือน เป็นนักวิชาการจากไต้หวัน ที่ Academia Sinica ระหว่างทางบนรถแท็กซี่ ก็ถามไถ่กันอย่างเร็ว ๆ หลายเรื่อง เขาถามถึงคนโน้นคนนี้ที่เมืองไทย พูดกันถึงการจากไปของนักวิชาการใหญ่คนหนึ่ง แล้วเขาก็วกมาถามผมว่าผมทำวิจัยเรื่องอไะร ที่ไหน 

ผมก็บอกไปว่าศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เขาถามว่าคนกลุ่มไหน ภาคเหนือหรือใต้ ผมก็บอกไปว่าคน "ไต" ที่เวียดนามเหนือ เขาก็ถามต่อว่าที่เวียดนามมีคนจีนเยอะไหม ผมก็บอกว่ามีเยอะเลย ทางเหนือก็มี 

ทีนี้เขาเริ่มซักไซร้อย่างสนใจ คงเพราะเขาเป็นคนไต้หวันนี่แหละ เขาถามว่าเคยได้ยินว่ามีคน "ฮอ" หรือ "เค่อะ" หรือ "ฮักกา" ไหม ผมบอกว่ามีคนจีนที่คนไทยเรียกว่า "ฮ่อ" คนไตที่เวียดนามเรียก "ผู้ฮ่อ ผู้หาน" คนเวียดเรียกว่า "เหงื่อย (แปลว่า คน) หาน" เขาบอกต่อว่า น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกับพวกฮักกาที่เขาสนใจ ตัวเขาเองก็มีบรรพบุรุษเป็นฮักกา ก็เลยสนใจเรื่องนี้ด้วย

เขาบอกว่า ยังมีคำที่ใกล้เคียงกัน ต่างกันตามสำเนียงคือคำว่า แขะ ผมบอกว่า ภาษาไทยเรียกพวกฮักกาว่า จีนแคะ ภาษาเวียดมีคำว่า khách (แค้ก) ที่แปลเป็นไทยว่า แขก หรือผู้มาเยือน คำทั้งหมดนี้ผมว่าน่าจะหมายถึงคนกลุ่มเดียวกัน แล้วกลายมาเป็นคำเรียก "คนอื่น" ว่า "แขก" ในภาษาไทย และ "แค้ก" ในภาษาเวียด

พอเขาบอกว่า พวกนี้หนีลงมาอยู่ทางเหนือของเวียดนาม ผมก็เลยคิดว่าน่าจะใช่พวกฮ่อแน่ ๆ ก็เลยถามเขาว่า หมายถึงพวกกบฏไท่ผิงใช่ไหม เขาบอกว่าใช่ พวกนี้คือฮักกาทางใต้ของจีนปัจจุบันที่กบฏ แล้วหนีลงมาอยู่ที่เวียดนาม

ผมเลยต่อเรื่องติด บอกเขาว่า พวกนี้มาเวียดนามตอนกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 ในบันทึกของพวกไตบอกว่ามาปล้น มายึดเมืองสำคัญ ๆ ของพวกไตไว้หมด สยามเรียกว่าเป็น "กบฏฮ่อ" จึงพยายามขึ้นมา "ปราบ" ส่วนฝรั่งเศสจัดการพวกนี้ไม่ได้อยู่นานร่วม 20 ปีกว่าจะยึดเวียดนามเหนือได้ 

ผมเล่าต่อว่า พวกฮ่อร่วมมือกับพวกไตไปเผาหลวงพระบาง ทำให้สยามเดือดร้อนไปด้วย แต่ไม่ทันได้ขึ้นมาปราบหรอก เพราะฝรั่งเศสจัดการราบคาบก่อนแล้ว แล้วจึงนำมาซึ่งการปักปันเขตแดนสยามกับอินโดจีนจนจบลงในปี 1890 (ไม่ใช่เสียดินแดน เพราะดินแดนเหล่านี้ ที่ไทยรู้จักในชื่อผิด ๆ ว่า "สิบสองจุไท" ไม่เคยเป็นของใครไม่ว่าจะเวียด ลาว หรือสยามมาก่อน แต่เป็นของเจ้าถิ่นคือคนไต และกลุ่มชาติพันธ์ุอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมดินแดนกัน)

เขาสนใจถามต่อว่าผมเคยเจอคนจีนพวกนี้ไหม ผมเล่าว่า สมัยที่จีนบุกเวียดนามเหนือปี 1979 (บางคนเรียก "สงครามสั่งสอน" เวียดนามเรียก สงครามอินโดจีนครั้งที่ 3 หลังจากที่เวียดนามบุกกัมพูชา ส่วนสำคัญเพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุของเขมรแดงที่คนที่ถูกฆ่าจำนวนมากมีเชื้อสายเวียดนามในกัมพูชา) พวกฮ่อถูกไล่กลับประเทศไปด้วย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาอยู่ในเวียดนามมาเป็นร้อยปีแล้ว แทบไม่มีสายใยอะไรกับที่เมืองจีนแล้ว ทำให้ตอนนี้เหลือฮ่อน้อยมาก แต่ยังพอเห็นสุสานของพวกเขาอยู่บ้างในเวียดนามเหนือ 

ผมเล่าต่อว่าในภาคเหนือของเวียดนามยังพอพบคนเหล่านี้ได้บ้าง บางที่เคยถูกเรียกโดยพวกไตว่าเป็นตลาดของพวกฮ่อ หรือเป็นย่านการค้าของพวกฮ่อ ผมเล่ด้วยว่า เคยเดินทางไปเจอคนจีนตามชายแดนเวียดนาม-จีนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยังมีคนใช้ชีวิตแบบเก่า บ้านเรือนปลูกบนพื้นดินแบบเก่า แต่งตัวเสื้อผ้าแบบในหนังสือชาติพันธ์ุวิทยาเก่า ๆ นักวิชาการไต้หวันก็เลยสนใจว่าพวกเขาทำการเกษตรกันไหม ทำอย่างไร และอีกหลายคำถาม

ไม่ทันได้ตอบคำถามที่เหลือ เวลาเพียง 15 นาทีบนรถแท็กซี่ในเมืองเกียวโตที่แสนจะกระทัดรัดจนหามุมรถติดยากมากก็หมดลง เราแยกย้ายกัน เขากำลังจะกลับจากเกียวโต ผมกำลังจะเริ่มงานวิจัยที่เกียวโต เสียดายที่ได้เจอคนฮ่อคนนี้ที่เกียวโตช้าไปนิด แต่นี่เป็นหนึ่งในบทสนทนาในวันแรก ๆ ของการทำงานที่นี่ ที่ทั้งชวนให้ตื่นเต้นและกระตือรือล้นให้ทำงานวิจัยต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ