Skip to main content

ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่

เมื่อเช้าก็เลยไปลงทะเบียนเป็นผู้พักอาศัยในเกียวโต ขากลับมีนักวิชาการอีกคนหนึ่ง รุ่นใหญ่อาวุโสกว่าผมหลายปีนัก ติดรถกลับมาจากสถานที่ที่ไปติดต่อธุระด้วย เขากำลังจะกลับจากการมาพำนักอยู่ 3 เดือน เป็นนักวิชาการจากไต้หวัน ที่ Academia Sinica ระหว่างทางบนรถแท็กซี่ ก็ถามไถ่กันอย่างเร็ว ๆ หลายเรื่อง เขาถามถึงคนโน้นคนนี้ที่เมืองไทย พูดกันถึงการจากไปของนักวิชาการใหญ่คนหนึ่ง แล้วเขาก็วกมาถามผมว่าผมทำวิจัยเรื่องอไะร ที่ไหน 

ผมก็บอกไปว่าศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เขาถามว่าคนกลุ่มไหน ภาคเหนือหรือใต้ ผมก็บอกไปว่าคน "ไต" ที่เวียดนามเหนือ เขาก็ถามต่อว่าที่เวียดนามมีคนจีนเยอะไหม ผมก็บอกว่ามีเยอะเลย ทางเหนือก็มี 

ทีนี้เขาเริ่มซักไซร้อย่างสนใจ คงเพราะเขาเป็นคนไต้หวันนี่แหละ เขาถามว่าเคยได้ยินว่ามีคน "ฮอ" หรือ "เค่อะ" หรือ "ฮักกา" ไหม ผมบอกว่ามีคนจีนที่คนไทยเรียกว่า "ฮ่อ" คนไตที่เวียดนามเรียก "ผู้ฮ่อ ผู้หาน" คนเวียดเรียกว่า "เหงื่อย (แปลว่า คน) หาน" เขาบอกต่อว่า น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกับพวกฮักกาที่เขาสนใจ ตัวเขาเองก็มีบรรพบุรุษเป็นฮักกา ก็เลยสนใจเรื่องนี้ด้วย

เขาบอกว่า ยังมีคำที่ใกล้เคียงกัน ต่างกันตามสำเนียงคือคำว่า แขะ ผมบอกว่า ภาษาไทยเรียกพวกฮักกาว่า จีนแคะ ภาษาเวียดมีคำว่า khách (แค้ก) ที่แปลเป็นไทยว่า แขก หรือผู้มาเยือน คำทั้งหมดนี้ผมว่าน่าจะหมายถึงคนกลุ่มเดียวกัน แล้วกลายมาเป็นคำเรียก "คนอื่น" ว่า "แขก" ในภาษาไทย และ "แค้ก" ในภาษาเวียด

พอเขาบอกว่า พวกนี้หนีลงมาอยู่ทางเหนือของเวียดนาม ผมก็เลยคิดว่าน่าจะใช่พวกฮ่อแน่ ๆ ก็เลยถามเขาว่า หมายถึงพวกกบฏไท่ผิงใช่ไหม เขาบอกว่าใช่ พวกนี้คือฮักกาทางใต้ของจีนปัจจุบันที่กบฏ แล้วหนีลงมาอยู่ที่เวียดนาม

ผมเลยต่อเรื่องติด บอกเขาว่า พวกนี้มาเวียดนามตอนกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 ในบันทึกของพวกไตบอกว่ามาปล้น มายึดเมืองสำคัญ ๆ ของพวกไตไว้หมด สยามเรียกว่าเป็น "กบฏฮ่อ" จึงพยายามขึ้นมา "ปราบ" ส่วนฝรั่งเศสจัดการพวกนี้ไม่ได้อยู่นานร่วม 20 ปีกว่าจะยึดเวียดนามเหนือได้ 

ผมเล่าต่อว่า พวกฮ่อร่วมมือกับพวกไตไปเผาหลวงพระบาง ทำให้สยามเดือดร้อนไปด้วย แต่ไม่ทันได้ขึ้นมาปราบหรอก เพราะฝรั่งเศสจัดการราบคาบก่อนแล้ว แล้วจึงนำมาซึ่งการปักปันเขตแดนสยามกับอินโดจีนจนจบลงในปี 1890 (ไม่ใช่เสียดินแดน เพราะดินแดนเหล่านี้ ที่ไทยรู้จักในชื่อผิด ๆ ว่า "สิบสองจุไท" ไม่เคยเป็นของใครไม่ว่าจะเวียด ลาว หรือสยามมาก่อน แต่เป็นของเจ้าถิ่นคือคนไต และกลุ่มชาติพันธ์ุอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมดินแดนกัน)

เขาสนใจถามต่อว่าผมเคยเจอคนจีนพวกนี้ไหม ผมเล่าว่า สมัยที่จีนบุกเวียดนามเหนือปี 1979 (บางคนเรียก "สงครามสั่งสอน" เวียดนามเรียก สงครามอินโดจีนครั้งที่ 3 หลังจากที่เวียดนามบุกกัมพูชา ส่วนสำคัญเพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุของเขมรแดงที่คนที่ถูกฆ่าจำนวนมากมีเชื้อสายเวียดนามในกัมพูชา) พวกฮ่อถูกไล่กลับประเทศไปด้วย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาอยู่ในเวียดนามมาเป็นร้อยปีแล้ว แทบไม่มีสายใยอะไรกับที่เมืองจีนแล้ว ทำให้ตอนนี้เหลือฮ่อน้อยมาก แต่ยังพอเห็นสุสานของพวกเขาอยู่บ้างในเวียดนามเหนือ 

ผมเล่าต่อว่าในภาคเหนือของเวียดนามยังพอพบคนเหล่านี้ได้บ้าง บางที่เคยถูกเรียกโดยพวกไตว่าเป็นตลาดของพวกฮ่อ หรือเป็นย่านการค้าของพวกฮ่อ ผมเล่ด้วยว่า เคยเดินทางไปเจอคนจีนตามชายแดนเวียดนาม-จีนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยังมีคนใช้ชีวิตแบบเก่า บ้านเรือนปลูกบนพื้นดินแบบเก่า แต่งตัวเสื้อผ้าแบบในหนังสือชาติพันธ์ุวิทยาเก่า ๆ นักวิชาการไต้หวันก็เลยสนใจว่าพวกเขาทำการเกษตรกันไหม ทำอย่างไร และอีกหลายคำถาม

ไม่ทันได้ตอบคำถามที่เหลือ เวลาเพียง 15 นาทีบนรถแท็กซี่ในเมืองเกียวโตที่แสนจะกระทัดรัดจนหามุมรถติดยากมากก็หมดลง เราแยกย้ายกัน เขากำลังจะกลับจากเกียวโต ผมกำลังจะเริ่มงานวิจัยที่เกียวโต เสียดายที่ได้เจอคนฮ่อคนนี้ที่เกียวโตช้าไปนิด แต่นี่เป็นหนึ่งในบทสนทนาในวันแรก ๆ ของการทำงานที่นี่ ที่ทั้งชวนให้ตื่นเต้นและกระตือรือล้นให้ทำงานวิจัยต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์