Skip to main content

เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่

เมื่อเคยมาหลายครั้งแล้ว สิ่งที่หายไปก็คือความตื่นเต้นกับสถานที่ต่าง ๆ เกียวโตเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ เป็นเมืองที่จักรพรรดิเคยประทับอยู่ และจนบัดนี้ก็ยังมาประทับอยู่ จึงเป็นเมืองที่มีสถานที่สำคัญ ๆ มากมาย ทั้งวัด ทั้งวัง ทั้งศาลเจ้า ทั้งย่านที่มีลักษณะเด่นทางวัฒนธรรม และจึงเป็นเมืองที่เพื่อนนักวิชาการญี่ปุ่นเล่าว่า ได้รับการลงทุนดูแลด้านการรักษามรดกทางวัฒนธรรมเป็นอย่างดีเยี่ยม ผมว่าน่าจะจริงตามนั้น เพราะสถานที่โบราณเก่าแก่ต่างก็ได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพที่แทบจะดูใหม่เอี่ยมอ่องอยู่เสมอ มากี่ครั้งกี่ครั้งก็ไม่เคยเห็นที่ไหนหมอง แต่ละครั้งก็มักจะได้เห็นสถานที่ที่เคยไปเมื่อปีก่อนหน้า หรือสองปีก่อน ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีเสมอ

ก็ด้วยว่ามาหลายครั้งนี่เอง ผมก็มีโอกาสได้ตระเวนเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ๆ มีชื่อเสียงไปแทบจะครบถ้วนทุกที่แล้ว ยังขาดอยู่ไม่กี่แห่ง ที่เมื่อมาอยู่นาน ๆ ก็เลยยิ่งผลัดผ่อนว่า "เอาไว้วันหลังค่อยไป" อยู่ทุกสุดสัปดาห์ แต่การได้มาอยู่นาน ๆ ก็ทำให้เห็นอีกจังหวะชีวิตของผู้คนที่อยู่นอกเส้นทางและพื้นที่นักท่องเที่ยวเด่นชัดขึ้น

เมื่อมาถึงตั้งแต่ต้นปีนี้ (2559) เดือนแรก (มกราคม) ผมต้องพักหอพักนอกมหาวิทยาลัยก่อนหนึ่งเดือน เพราะหอพักของมหาวิทยาลัยเต็ม ที่นี่คงมีปัญหาเรื่องการจัดหาที่พักมากพอสมควร เพราะผมมาทีไรก็มักต้องย้ายที่พักเสมอ บางครั้งใน 15 วันต้องย้ายถึง 3 ที่ก็มี มีนักวิจัยจากออสเตรเลียคนหนึ่งเพิ่งเล่าให้ฟังว่า เขาเองเพิ่งมาถึงและรู้ตัวว่าต้องย้ายที่อยู่ถึง 3 ครั้งกว่าจะลงตัว สำหรับผม ย้ายครั้งเดียวนี่ถือว่าโชคดีแล้วจริง ๆ

ที่พักเดือนแรกเป็นห้องห้องเดียวขนาดแค่วางเตียงนอนคนเดียวได้เตียงหนึ่งก็เกือบเต็ม มีโต๊ะนั่งเล่นตั้งพื้นแบบญี่ปุ่นมุมหนึ่ง มีทีวีขนาดย่อมวางบนชั้นเตี้ย ๆ มุมหนึ่ง มีตู้เย็นย่อม ๆ ตัวหนึ่ง โต๊ะทำงานซึ่งส่วนใหญ่ผมใช้กินข้าวขนาดจิ๋วตัวหนึ่งกับเก้าอี้พับจิ๋วอีกตัว อีกมุมเป็นที่ทำกับข้าวอยู่ในห้องเดียวกันนั่นแหละ อยู่บริเวณหน้าห้องน้ำที่แค่พอวางอ่างอาบน้ำแคบ ๆ อ่างล้างหน้าเล็ก ๆ กับส้วมชักโครก ส่วนครัวมีอ่างล้างจาน พื้นที่เตรียมอาหารกับเตาแก้สที่มีหัวเดียว บริเวณครัวดีหน่อยที่มีชั้นเก็บของพอสมควร ใช้เก็บถ้วยชามแก้วช้อนส้อมกับอุปกรณ์ครัวอื่น ๆ ได้พอสมควรทีเดียว

พื้นที่อีกส่วนคือระเบียงด้านนอก จะเรียกระเบียงก็ไม่ถูกนัก แต่เป็นบริเวณแคบ ๆ บนพื้นคอนกรีต ที่มีประตูเลื่อนเปิดออกไปจากห้องได้ เนื่องจากห้องไม่มีหน้าต่าง ประตูเลื่อนก็เป็นกระจกฝ้า ทางเดียวที่จะรับแสงได้ก็ผ่านกระจกฝ้านี้ แต่ห้องมีม่านสีทึบให้ ทำให้ปิดแล้วมืด สามารถนอนตื่นสายได้พอสมควร เมื่อเปิดบานเลื่อนออกไปก็เป็นพื้นที่แคบ ๆ มีเครื่องซักผ้าวางอยู่เครื่องหนึ่ง เข้าใจว่าคงมีห้องละเครื่อง ซักเสร็จก็ตากราวเหนือเครื่องซักผ้า ในห้องมีตู้เก็บเสื้อผ้า แต่เนื่องจากอยู่เดือนเดียว ส่วนใหญ่ผมก็ใช้กระเป๋าเดินทางนั่นแหละเป็นตู้เสื้อผ้า ไม่ได้ย้ายเสื้อผ้าออกมาใส่ตู้ให้วุ่นวายอะไร

พื้นที่เท่านี้กับการตกแต่งเรียบง่าย รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก้ส ทุกอย่างจะใช้ไม่ใช้เท่าไหร่ก็แล้วแต่ เป็นเงิน 90,000 เยนเศษ คือร่วมเดือนละ 30,000 บาทไทย เรียกว่าราคาสูงที่สุดเท่าที่ผมเคยอยู่มาในชีวิต แต่เพราะผมไม่เคยอยู่เมืองใหญ่ ๆ ที่แพง ๆ อย่างนิวยอร์ค หรือซานฟราสซิสโก ผมก็เลยรู้สึกว่าราคานี้ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเมืองอย่างแมดิสัน รัฐวิสคอนซินที่ผมเคยอยู่ ห้องเท่านี้ สภาพอย่างนี้ อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยแค่เดินสัก 15 นาทีอย่างนี้ อย่างมากก็จ่ายเดือนละ 500 ดอลล่าเท่านั้น ก็สัก 18,000 บาทกว่า ๆ เท่านั้น ถ้าจ่ายเท่านี้แล้วไกลมหาวิทยาลัยออกมาหน่อย ที่ผมอยู่ที่แมดิสันปีที่แล้วก็ต้องได้ห้องขนาด 1 ห้องนอนที่อยู่ได้ทั้งครอบครัวพ่อ-แม่-ลูกสบาย ๆ เลย

กับห้องพักแบบนี้ ที่ดีก็คือทำให้ต้องออกไปนั่งที่ห้องทำงาน ซึ่งมีขนาดและความเพียบพร้อมของอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบครัน มีกระทั่งอ่างล้างหน้าในห้องทำงาน ทำให้ผมไปนั่งที่ทำงานแทบทุกวันรวมทั้งเสาร์-อาทิตย์ แม้ไปนั่งเล่น ก็ยังดีกว่านั่งอยู่ที่หอพัก ห้องทำงานผมมีหน้าต่างบานใหญ่ อยู่ชั้นบนสุดของอาคารนั้นคือชั้น 4 แล้วเมืองเกียวโตย่านมหาวิทยาลัยก็แทบไม่มีตึกสูง ทำให้มีมุมมองที่ไกลไปจนเห็นภูเขารอบเมืองเกียวโต ผมก็แปลงห้องทำงานเป็นที่นั่งจิบกาแฟ ห้องทำงานผมมี 3 โต๊ะ มีเก้าอี้ 5 ตัว เป็นโต๊ะ-เก้าอี้สำหรับนั่งจิบชา-กาแฟชุดหนึ่ง ถ้าเบื่อนั่งโต๊ะหนึ่ง ก็ย้ายไปอีกโต๊ะหนึ่ง หรืออย่างมากถ้าเบื่อในห้อง ก็ออกไปเดินหาหนังสือในห้องสมุด หรือไม่ก็ไปเดินเล่นริมแม่น้ำกาโม (Kamo) เมื่อไหร่ก็ได้ แม่น้ำนี้มีน้ำไหลเอื่อย ๆ จากภูเขา มีมุมมองกว้างไกล เป็นสวนสาธารณะตลอดลำน้ำช่วงที่ผ่านเมือง

อยู่นี่แต่ละวัน ตื่นเช้าขึ้นมาถ้าไม่ทำกาแฟดื่มตอนเช้ากับขนมปังปิ้งทาเนยง่าย ๆ ที่หอพัก ก็ถีบจักรยานออกไปหาขนมอบสารพัดจากร้านขนมอบใกล้มหาวิทยาลัย ในระยะ 2 กิโลเมตรนี่มีอย่างน้อย 5 ร้าน การเดินทางแต่ละวันผมอาศัยจักรยาน ซึ่งก็โชคดีมีนักวิชาการไทยรับมรดกต่อมาจากนักวิชาการประเทศไหนอีกกี่ต่อก็ไม่ทราบ จักรยานคันนี้ยังอยู่ในสภาพดีมาก มีอุปกรณ์ครบครัน ผมอาศัยจักรยานนี้เป็นพาหนะหลักสำหรับเดินทางไปไหนมาไหนในเมือง ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ได้เดือนหนึ่งแล้ว เพิ่งได้นั่งรถไฟเพียงครั้งเดียว คือวันที่ต้องไปเจอเพื่อนที่โอซากา นอกนั้นผมก็ถีบจักรยานไปไหนมาไหนตลอด ระยะทางจากหอพักนี่ไปที่ทำงานก็ไม่ถึง 2 กิโลเมตรดีนัก สัก 5 นาทีในอุณหภูมิ 10 เซลเซียสบ้าง ลบ 1 บ้าง 5 องศาเซลเซียสบ้าง ยังไม่ทันหนาวดีหรือยังไม่ทันเหงื่อซึมดีก็ถึงที่ทำงานแล้ว

ตกกลางวัน ถ้าวันไหนไม่มีงานเร่งรีบนัก ผมก็ออกไปหาของกิน แรก ๆ ก็กินที่โรงอาหาร ซึ่งก็สะอาดและราคาย่อมเยากว่ากินร้านข้างนอกมาก แต่หลายวันเข้าก็ชักเบื่อความซ้ำซาก เริ่มรู้สึกถึงความไร้วิญญาณของอาหารในโรงอาหาร จึงค่อย ๆ ขยับไปหาของกินที่อื่นบ้าง หรือไม่ก็ซื้อขนมปังมาเก็บไว้กินตอนกลางวันในห้องทำงานบ้าง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อาหารกลางวันนอกโรงอาหารก็หลากหลาย ตั้งแต่ราเมน โซบะ ไปจนถึงถ้าวันไหนหิว ๆ ก็ข้าวราดแกงกะหรี่เนื้อสักจานนึง หรือบางวันมีอาจารย์พาไปกินข้าว ก็โชคดีได้กินอาหารญี่ปุ่นดี ๆ ที่สั่งเองไม่เป็นสักมื้อหนึ่ง

ตกเย็น ที่ผ่านมาหนึ่งเดือนมีทางเลือกการกินอยู่ 3 ทาง ทางที่หนึ่ง ไปสังสรรค์ ที่ผ่านมามีแทบทุกสัปดาห์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ครั้งนี่ต้องได้ไปร้านประเภท izakaya หรือร้านกินดื่มนั่นแหละ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะผมเพิ่งมาถึงก็จึงมีคนชวนไปกินข้าวด้วยเพื่อต้อนรับบ่อยอยู่ แต่ส่วนหนึ่งเพราะที่นี่มีการสัมมนาวิชาการบ่อยมาก ถ้านับว่าศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งเดียวที่มีทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนการสอน กิจกรรมที่จัดร่วมกับศูนย์ศึกษาอื่น ๆ และสถาบันอื่น ๆ และกิจกรรมที่ศูนย์จัดเองแล้ว สัปดาห์หนึ่ง ๆ มีไม่ต่ำกว่า 2 กิจกรรม บางวันมีถึง 3 กิจกรรม เมื่อจัดกิจกรรมวิชาการที่เคร่งขรึมเสร็จ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีงานสังสรรค์แลกเปลี่ยนทางวิชาการที่ไม่เคร่งขรึม คุยเรื่องนอกเรื่อง รวมทั้งเพื่อเพิ่มมิตรภาพกัน

ทางที่เลือกที่สองคือ ซื้อของกินสำเร็จรูป ถ้าไม่หาซื้อของกินเย็น ๆ อย่างซูชิบ้าง ซาชิมิบ้าง แกล้มเบียร์บ้าง สาเกบ้าง ไวน์บ้าง ผมก็ไปหาของกินร้อน ๆ อย่างราเมน โซบะ (บางทีก็โซบะเย็น) หรือไม่ก็ของกินเล่นแกล้มเบียร์แต่กินแทนมื้ออาหาร อย่างโอโคโนมิยากิ หรือไม่ก็ทาโกะยากิ แต่อาหารนอกบ้านพวกนี้กินไปหลาย ๆ มื้อเข้าก็จะเบื่อรสชาติ แถมมีรสเค็มนำ ผมก็จึงหาทางเลือกที่สาม ก็คือทำกับข้าวกินเอง

ละแวกหอพักที่ผมอยู่มีร้านขายของสดของแห้งอยู่ 3 ร้าน ร้านหนึ่งเน้นขายผัก อีกร้านหนึ่งเป็นร้านที่มีสาขามากมาย แต่ร้านที่ผมไปประจำทั้งเพราะเป็นทางผ่านทุกวันและมีของให้เลือกมาก สด ราคาไม่ต่างจากอีกสองร้านมากคือร้าน Sun Plaza แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้อยากทำกับข้าวกินเองนอกจากเบื่อรสชาติอาหารนอกบ้านแล้วก็คือ แรงจูงใจจากคุณภาพและราคา อาหารสดที่นี่สด สะอาด น่าไว้ใจมาก และของสดเหล่านี้ก็ราคาถูกกว่าซื้อกินปรุงเสร็จแล้วจากที่ร้านอาหารมากด้วย หลัง ๆ มาผมถือเป็นเรื่องสนุกที่แต่ละวันนั่งคำนวนค่าใช้จ่ายว่าวันนี้ใช้น้อยกว่าเมื่อวานเท่าไหร่ อีกส่วนที่ทำให้อยากทำกับข้าวกินเองคือเหตุที่หอพักมีเครื่องครัวให้พอสมควร ทั้งหม้อ กะทะ ถ้วย จาน ตะหลิว ฯลฯ เมื่อไม่ต้องเริ่มต้นใหม่มากนักก็จึงนึกอยากทำกินเองขึ้นมา

แรก ๆ ก็ค่อย ๆ สะสมเครื่องปรุงต่าง ๆ ที่ยากคือจะหาเครื่องปรุงก็ต้องอ่านสลากออก แต่ผมไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย ก็อาศัย app แปลบ้าง อาศัยเดาเอาบ้าง อาศัยถามพนักงานบ้าง อาศัยถามเพื่อนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นและเคยอยู่เกียวโตผ่านโลกโซเชียลมีเดียข้ามน้ำข้ามทะเลกลับไปที่เมืองไทยบ้าง ก็ได้เครื่องปรุงมาพอสมควร

จากนั้นผมก็ไปจ่ายกับข้าวแทบทุกวัน ซื้อแค่พอทำกินมื้อหรือสองมื้อ จะได้มีของสดกินเสมอ และร้านก็เป็นทางผ่านอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อมาเก็บให้เสียของ ผมพบว่าคนมาจ่ายกับข้าวกันทีละเล็กน้อยแบบที่ผมทำเหมือนกัน ที่จะมาจ่ายทีละรถเข็นใหญ่ ๆ แบบที่อเมริกานั้นไม่เห็นมีใครทำกัน แล้วผมก็ได้ลิ้มรสความสด สะอาด ของสารพัดผัก เห็ดนานาชนิด เต้าหู้หลายแบบ อาหารทะเลโดยเฉพาะปลาสด ที่ผมมักซื้อมาย่างด้วยกะทะมีตะแกรงรอง และยังได้เคยลงทุนซื้อเนื้อวัวผลิตในญี่ปุ่นราคาแสนแพงมาย่างกินเต็มชิ้นแล้วด้วย

ทางเข้าหอพักนี้มีสองทาง ทางหนึ่งจะผ่านตรอกเล็ก ๆ ที่รถยนต์เข้าไม่ได้ ผมชอบมองโคนเสาไฟฟ้าต้นหนึ่ง ที่ไม่รู้ใครเอาโตริอิหรือประตูผีอันเล็กมาวางไว้ ทำให้เสาไฟฟ้านั่นกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป อีกทางเข้าหนึ่งจะผ่านบ้านเล็ก ๆ เรียงรายติดกันหนาแน่น มีบ้านหลังหนึ่งตั้งเก้าอี้เตี้ยสีแดงไว้หน้าประตูบ้าน ซึ่งเป็นประตูไม้ที่ไม่เคยเห็นใครเข้าออกเลย แล้วเก้าอี้นี่ก็ไม่เคยเห็นมีใครนั่งด้วย ไม่ว่าจะแดดออก หิมะตก หนาวเหน็บ หรือฝนตกอย่างไร ก็ตั้งอยู่อย่างนั้นในสภาพสะอาดสะอ้านเหมือนได้รับการดูแลอย่างดี

ละแวกบ้านแถวหอพักยังมีโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ทุก ๆ เช้าผมจะได้ยินเสียงเด็กวิ่งเล่นในสนามทรายขนาดใหญ่ บางวันผมก็แอบชะโงกหน้าดูจากระเบียงหลังห้อง บางวันก็ถูกปลุกด้วยเสียงเพลง Water Music ของ George Frideric Handel คีตกวียุคบารอค นั่นแสดงว่าเป็นเวลาเกือบ 9 โมงเช้า คือเวลาใกล้เข้าเรียนของนักเรียนแล้ว

อีกสองวันผมต้องย้ายจากที่นี่แล้ว ที่อยู่ใหม่เป็นหอพักของมหาวิทยาลัย อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย คงมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่น้อยไปกว่าที่หอพักนี้ แต่เมื่อไปดูสถานที่แล้ว ผมเดาว่าผมคงคิดถึงหอพักที่อยู่ขณะนี้พอสมควรทีเดียว ส่วนหนึ่งเพราะคุ้นเคยกับละแวกบ้านแถวนี้แล้วพอสมควร แต่ก็ผมคงต้องกลับมาหาซื้อของที่ร้านเดิมแถวนี้อยู่ดี แม้จะออกนอกเส้นทาง ก็ไม่ไกลนัก แล้วบนเส้นทางจากห้องทำงานไปหอพักใหม่ ซึ่งก็แค่ 500 เมตร ก็ไม่มีร้านขายของสดแบบนี้อยู่เลย แล้วผมคงกลับมาหาของกินที่เคยกินและที่เล็ง ๆ ไว้แต่ยังไม่ได้กิน แต่เมื่อถึงตอนนั้น ผมคงมีประสบการณ์ประจำวันใหม่ ๆ มาบันทึกอีก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน