Skip to main content

ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก

ครั้งแรกไปเรื่องหวานแหววมาก "วาเลนไทน์สไตล์นักมานุษยวิทยา" จำได้ว่า เหมือนว่าคุณแขก (คำ ผกา) กะจะชงไปในทางที่ว่า ความรักโรแมนติกมันเป็นเรื่องปั้นแต่งกันมาใหม่ในสังคมแบบตะวันตกสมัยใหม่ แต่นักมานุษยวิทยากลับไปหาประเด็นเจอข้อมูลที่พลิกไปอีกทางว่า ความรักโรแมนติกมันมีความสากลของมันอยู่ https://www.youtube.com/watch?v=HMPnFdM45EU

ส่วนตอนล่าสุด คือแค่ 3 วันก่อนการรัฐประหาร เรื่อง "วิวาทะสันติวิธี" เป็นปี่เป็นขลุ่ยกับคุณแขกวิจารณ์ "นักวิชาการสันติวิธี" ที่มีข้อเสนอไม่สนับสนุนให้ประเทศดินหน้าด้วยการเลือกตั้ง แล้วเสนอทำนองให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ความเห็นที่ผมและคุณแขกในรายการว่า หากทำตามข้อเสนอเหล่านั้นของนักสันติวิธีแล้วแนวโน้มของประเทศต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ได้หนีกับสิ่งที่กำลังแสดงตัวในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเท่าไรนัก https://www.youtube.com/watch?v=c4Vpesu_pYc

ที่จริงวันเดียวกันนั้น (19 พฤษภาคม 2557) ผมไปอัดเทปอีกรายการของช่อง 9 อสมท. อัดเทปไว้ยาวมาก แต่ออกไปได้เพียงครึ่งเดียว (หา link ไม่เจอแล้ว) อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้ออกอากาศเพราะเกิดรัฐประหารไปเสียก่อน หลังอัดรายการวันนั้นก็สังหรณ์ใจเพราะเมื่อเดินออกมาจากห้องอัดตอนเย็น มีการสับเปลี่ยนกำลังทหารมาที่สถานีเต็มไปหมด แล้ววันรุ่งขึ้นก็มีการประกาศกฎอัยการศึก จากนั้นอีกสองวันก็รัฐประหาร แล้วประเทศไทยก็เป็นอย่างทุกวันนี้แหละครับ 

ผมว่ารายการดีวาส์ฯ เป็นรายการที่ตอบโจทย์ของสังคมไทยที่เป็นสังคมเล่าเรื่อง เป็นสังคมมุขปาฐะได้ดี แต่แม้ว่าดีว่าส์ฯ จะนำเสนอในทำนองเดียวกับรายการเล่าข่าวอื่นๆ แต่ดีว่าส์ฯ ก็มีสาระเฉพาะตัวอยู่สูงมาก อาจจะประมวลได้ดังนี้ 

หนึ่ง ดีว่าส์ฯ เป็นรายการเล่าข่าวที่ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงจับเรื่องราวมาเล่าต่อด้วยการใส่น้ำเสียง เพิ่มอารมณ์ ขายดราม่าต่อจากเนื้อข่าว หากแต่ยังเป็นการสร้างบทวิเคราะห์ต่อจากข่าว ที่จริงจะเรียกว่าดีว่าส์ฯ เป็นรายการเล่าข่าวก็ไม่ถูกนัก เพราะดีว่าส์ฯ มักเน้นช่วงวิเคราะห์สังคม วิเคราะห์การเมือง วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ จากเรื่องราวที่ปรากฏในปัจจุบัน นี่ทำให้ดีว่าส์ฯ ขยับจากการเป็นรายการข่าวที่นำเสนอข้อมูล ไปสู่การเป็นรายการวิเคราะห์เหตุการณ์ความเป็นไป เป็นการนำเสนอทั้งข้อมูลและมุมมองไปด้วยในตัว ส่วนผู้ชมจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นเรื่องของผู้ชม 

สอง แม้แต่ตัวข่าวเอง ดีว่าส์ฯ ก็มีเนื้อหาข่าวที่แตกต่างจากข่าวของรายการเล่าข่าวของสำนักข่าวอื่นๆ ดีว่าส์ฯ นำเอาความเชี่ยวชาญของพิธีกร ที่แต่ละคนถนัดเรื่องแตกต่างกัน เช่นเรื่องไอที เรื่องแฟชั่น เรื่องท่องเที่ยว เรื่องวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม มาถ่ายทอดในรายการ ดังนั้น "ข่าว" ของดีว่าส์ฯ จึงเป็นข่าวที่มีเนื้อหาแตกต่างจากสำนักข่าวอื่นๆ โดยเฉพาะสำนักข่าวที่เรตติ้งสูงๆ ซึ่งมักเน้นข่าวการเมือง ข่าวความทุกข์ระทมของผู้คนด้อยโอกาส ข่าวอาชญากรรม การที่ข่าวของดีว่าส์ฯ แตกต่างไปทำให้ผู้ชมได้รับรู้เรื่องราวที่หลากหลายไปกว่ารายการเล่าข่าวอื่นๆ  

สาม ลักษณะโดดเด่นของดีว่าส์ฯ อีกประการคือการเน้น "ความเป็นผู้หญิงเก่ง" รายการเล่าข่าวผู้หญิงในระยะเดียวกับดีว่าส์ มีมากมาย หากแต่เรื่องราวที่ผู้หญิงแบบดีว่าส์ฯ นำเสนอนั้น เป็นทั้งผู้หญิงที่เป็นผู้ยิ้งผู้หญิง คือเน้นความ feminine หากแต่ก็เน้นความชาญฉลาดในการคิดวิเคราะห์ ในมุมที่บางทีถูกมองข้ามไปด้วยการมองผ่านสายตาแบบ "ผู้ชาย" หรือแม้แต่เรื่องราวแบบผู้ผญิงอย่างเรื่องแฟชั่น เรื่องความโรแมนติก เรื่องการครองคู่ รายการดีว่าส์ฯ ก็นำเสนอในเชิงคิดวิเคราะห์ให้มากกว่าแค่หยิบเรื่องผู้หญิงๆ มานำเสนอซ้ำให้รู้แค่ว่าเกิดอะไรที่ไหนแบบรายการเล่าข่าวผู้หญิงๆ ทั่วไป 

สี่ ความหรูหราอลังการของดีว่าส์ฯ ตัดขัดกันกับเรื่องราวมากมายที่ดีว่าส์ฯ นำมาเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมุมมองที่เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การต่อสู้กับความด้อยโอกาส การเรียกร้องความเท่าเทียม ความเป็นประชาธิปไตย รวมความแล้วคือเรื่องความเป็นธรรมของสังคม ดีว่าส์ฯ ทำให้เราเห็นว่า เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้จำเป็นจะต้องพูดกันในรูปแบบของการใส่เสื้อม่อฮ่อม เอาผ้าขะม้าคล้องคอ ไว้ผมเผ้าหนวดเครารุงรัง แต่ในภาพลักษณ์แบบหรูหรา แต่งหน้าตาจัดจ้าน แต่งตัวเนี๊ยบ neat จัดเต็มด้วยแฟชั่นจากห้องเสื้อชื่อดัง ก็สามารถถกเถียงพูดคุยเรื่องเหล่านี้ได้เช่นกัน  

หลายคนอาจจะคิดว่าภาพลักษณ์ดีว่าส์ฯ ดูขัดกับเรื่องเหล่านี้ แต่ผมกลับคิดว่า คนที่มีชีวิตอยู่ในสังคมหรูหรานั่นแหละ ที่ก็ควรจะรู้จักทำความเข้าใจปัญหาเหล่านี้จากมุมมองที่ละเอียดลึกซึ้ง เกินไปกว่าการคิดแบบสังคมสงเคราะห์โปรยเงิน หรือในอีกทางหนึ่ง ดีว่าส์ฯ กำลังบอกว่า ไม่ใช่มีแต่คนที่มีภาพลักษณ์ดิดดิน ใกล้ชิดชาวบ้านเท่านั้นหรอกนะที่จะจริงจังกับเรื่องความเป็นธรรมของสังคม แต่สังคมระดับไหนๆ ก็เอาใจใส่กับความเป็นธรรมของสังคมได้เช่นกัน 

ดีใจที่ประเทศไทยเคยมีรายการแบบนี้ และเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งไม่รู้อีกเมื่อไหร่หรือคงไม่มีสังคมไทยปกติแบบนั้นอีกแล้ว เราคงจะได้เห็นรายการในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาใหม่อีก

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย