Skip to main content
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด

แต่ที่ดีกว่านั้นคือ วีซ่าสามารถเข้าออกญี่ปุ่นได้ไม่จำกัด ยิ่งกว่านั้นคือ นอกจากค่าเดินทางไปกลับไทย-เกียวโต และค่ากินอยู่ที่นั่นแล้ว ยังมีทุนอีกต่างหากสำหรับซื้อข้าวของหรือจะใช้เดินทางเพื่อการวิจัยก็ได้ ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ได้ค่าใช้จ่ายนี้ ต้องใช้จ่ายจึงได้ทุนอีกส่วน
แล้วผมจะนั่งอยู่ที่นั่นตลอดทำไมล่ะครับ ทุนเสริมนี้มีไม่มาก แค่ซื้อพอตั๋วเครื่องบินจากโอซากามาฮานอยไป-กลับก็แทบจะหมดแล้ว ผมก็เลยถือโอกาสกลับมาเวียดนามแล้วอยู่ยาวๆ สัก 15 วัน ก็คือมาเก็บข้อมูลเพิ่มเติม มาเดินทางไป "multi-หมู่บ้านของฉัน" มาไล่ตามความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นที่ไม่ได้ไปมา 3-5 ปีแล้ว บางที่ไม่ได้กลับไปมาเกือบ 10 ปีแล้ว บางที่ที่เคยไปไม่มีอยู่แล้ว เพราะจมน้ำอยู่ใต้เขื่อนไปหมดแล้ว
แถมการมาครั้งนี้ ผมยังได้เพื่อนร่วมทางที่อาสามาเดินทางด้วย อย่างเมื่อวานวันแรก เพื่อนร่วมเดินทางกิตติมศักดิ์ของผมแต่ละคนน่ารักมากครับ ผมพาไป 3 พิพิธภัณฑ์ กับ 2-3 landmarks สำคัญของฮานอย เหล่าเพื่อนร่วมทางก็ยังสนองความบ้าฮานอยของผมได้ แถมแต่ละคนยังมีคำถามที่ผมยังไม่เคยคิดมาก่อน โดยเฉพาะจากนักประวัติศาสตร์ไทยช่างคิดและปากกล้าคนหนึ่ง แกตั้งคำถามที่เป็นการบ้านผมได้อีกมาก เช่นว่า
ระหว่างเดินดูพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เวียดนาม ผมบอกว่า "การเอาเครื่องมือหินพวกนี้มามัดกับไม้นี่ อาจารย์โบราณคดีท่านหนึ่งเคยวิจารณ์ว่า รู้ได้ยังไงว่ามัดแบบนี้หรือเขาใช้อย่างไร เขาใช้หรือเปล่ายังไม่มีทางรู้เลย" แต่เพื่อนร่วมทางผมบอกว่า "แต่การทำแบบนี้ก็ช่วยให้จินตนาการได้ว่า การใช้งานเครื่องมือหินยุคหินเก่ามันน่าจะส่งต่อมาให้ยุคหินใหม่ที่ทำการเกษตรได้อย่างไร”
พอดูห้องโบราณคดีเสร็จ เพื่อนร่วมทางผมบอกว่า "พิพิธภัณฑ์ชาติของไทยมันไม่เห็นค่อยให้ความสำคัญกับโบราณคดีเลย" ผมแลกเปลี่ยนว่า "เพราะโบราณคดีคือการปกป้องความเป็นเวียดนาม ปกป้องการมีอยู่ของเวียดนามก่อนการเข้ามาของจีน แล้วการดีเฟนเวียดนามก็คือการดีเฟนการมีอยู่ของอะไรที่มีก่อน มีร่วมกันของคน Southeast Asia" เพื่อนร่วมทางผมพยักหน้า
พอถึงห้องสมัยประวัติศาสตร์ เพื่อนร่วมทางผมสะดุดใจกับไม้แกะสลักท่ารำแขนอ่อนสองรูปข้างบนนั่น เป็นงานในศตวรรษที่ 17-18 แกถามว่า "คนเวียดมีท่ารำแขนอ่อนแบบนี้ด้วยเหรอ มันดูเขมรมาก" ผมบอกว่า “ไม่รู้เลย เพราะวัฒนธรรมเวียดแบบราชสำนักสูญหายไปมาก แต่ก็ไม่เคยสังเกตไม้แกะสองชิ้นนี้มาก่อนว่าทำไมมันแขนอ่อนราวกับพวกฮินดูอย่างไทย เขมร แบบนี้”
อีกคำถามคือ "คนเวียดเรียกตัวเองว่าคน Kinh ตั้งแต่เมื่อไหร่" ข้อนี้ก็ไม่เคยคิดมาก่อน รู้แต่ว่า Kinh แปลว่าคนเมือง เมืองฮานอยเรียกอีกอย่างว่า Đông Kinh แปลว่าคนเมืองทางตะวันออก หมายความอีกอย่างว่า ไอ้พวกคนภูเขาทางตะวันตก รวมทั้งคนพูดภาษาไทน่ะ พวกคนป่าคนดอย
เมื่อเดินมาถึงยุคที่บันทึกเริ่มมีมากขึ้น เพื่อนร่วมทางคนเดียวกันถามอีกว่า "เวียดนามมียุคจารึกแบบสมัยยุคจารึกของเขมรกับไทยไหม" ผมตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าจารึกแบบเวียดคือเขียนภาษาจีน แต่อักษรเวียดนามที่ยืมอักษรจีนมาเขียนออกเสียงแบบเวียดยุคที่เฟื่องฟูก็ช่วงต้นราชวงศ์เหงวียน คือต้นศตวรรษที่ 19 นี้เอง ก่อนนั้นคนรู้อักษรคือคนเขียนภาษาจีนได้
พอมาที่พิพิธภัณฑ์ผู้หญิง เพื่อนร่วมทางทุกคนตื่นเต้นมาก ยิ่งวันนี้เป็นวันสตรีสากล เพื่อนร่วมทางที่เป็นนักเขียนวิพากษ์สังคมบอกว่า ทีแรกว่าจะเขียนเรื่องเดียนเบียนฟู แต่ตอนนี้อยากเขียนเรื่องผู้หญิงแล้ว ผมเลยล้อแกว่า “เขียนว่า ผู้หญิงมีไว้ทำไม? สิครับ"
พอมาถึงพิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยา มีคำถามมากมายจากทุกคน แต่ที่ผมชอบที่สุดคือ "ก่อนจารึกพ่อขุนราม หรือไม่ก็จารึกสมัยสุโขทัย มันต้องมีภาษาเขียนภาษาไทยอยู่แล้วแน่นอน" ผมบอกเห็นด้วยครับ ต้องมีแน่นอน มันไม่มีการประดิษฐ์อะไรมาแบบนั้นได้ง่ายๆ หรอก แต่เพื่อนร่วมทางคนนี้ถามอีกว่า “คุณว่ามันเป็นไปได้ไหมที่จะมาจากอักษรไทในเวียดนามนี่แหละ"
ถามแบบนี้จากคนไม่คลั่งชาติ ไม่คลั่งไท-ไทยนี่ ทำเอาผมคิดหลายตลบเลย ผมบอกว่า "ผมไม่เคยคิดมาก่อน แต่คิดว่าเป็นไปได้ด้วยสองเหตุผลคือ หนึ่ง อักษรไทในเวียดนามมีหลากหลายมาก script per capita สูงมาก ที่ว่าหลากหลายคือ ความรู้อ่านออกเขียนได้เกี่ยวกับอักษรของเมืองที่ผมอ่านได้นี่ ใช้ไม่ได้เลยกับอักษรไทในหลายๆ เมือง ทีนี้ถ้าคิดแบบนักภาษาศาสตร์ว่า ที่ไหนมีภาษาถิ่นเยอะ ที่นั่นเป็นต้นกำเนิดของภาษาตระกูลนั้น ถ้างั้น ที่ไหนที่มีอักษรหลากหลาย แปลว่าน่าจะเป็นที่ที่อักษรกำเนิดขึ้นมาได้ไหม
"สอง อักษรน่าจะมากับความเชื่อ ถ้าอักษรไทในเวียดนามมาจากลาว จากโยนก จากสยาม ทำไมศาสนาพุทธไม่มาด้วย ข้อนี้ถ้าคิดกลับกัน เป็นไปได้ไหมว่าอักษรไปจากที่เวียดนาม" สองข้อนี่เป็นข้อสันนิษฐานประหลาดที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน"
อย่างน้อย เพื่อนร่วมทางทุกคนยังไม่บ่นว่าผมยัดเยียดเขากันเกินไป ชวนกินแต่ของที่ผมอยากกินเองมากไป ในวันสตรีสากล เดินในฮานอยกันมาทั้งวัน เห็นผู้หญิงได้รับช่อดอกไม้ แต่งตัวสวยๆ กับแฟนเดินเที่ยวกินของแพงๆ กัน ดูชื่นมื่นเพราะคนเวียดนามถือว่าวันนี้ (และวันสตรีเวียดนามอีกวัน) เป็นวันที่ต้องแสดงการยกย่องผู้หญิง ผู้หญิงหยุดทำงานบ้าน (แต่มองได้อีกแบบว่า นอกจากสองที่เหลือเป็นวันผู้ชายหมดล่ะสิ)
แต่ที่น่าภูมิใจแทนคนเวียดที่สุดคือ เพื่อนร่วมทางนักดื่มบอกว่า "ผมว่าเบียร์สดฮานอยนี่เป็นเบียร์ของ Southeast Asia ที่ดีที่สุดใน Southeast Asia”
การเดินทางกับเพื่อนร่วมทางที่ไม่เคยไปไหนด้วยมาก่อนและเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเส้นทางที่ผมคุ้นเคยจึงน่าสนใจไม่น้อย เพราะจะช่วยให้ผมได้คำถามใหม่ๆ ได้มุมมองแปลกๆ ที่คิดไม่ถึงมาก่อน ระยะนี้ก็คงมีเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเวียดนามที่ช่วยให้ผมคิดอะไรใหม่ๆ มาปันกันครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก