Skip to main content
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด

แต่ที่ดีกว่านั้นคือ วีซ่าสามารถเข้าออกญี่ปุ่นได้ไม่จำกัด ยิ่งกว่านั้นคือ นอกจากค่าเดินทางไปกลับไทย-เกียวโต และค่ากินอยู่ที่นั่นแล้ว ยังมีทุนอีกต่างหากสำหรับซื้อข้าวของหรือจะใช้เดินทางเพื่อการวิจัยก็ได้ ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ได้ค่าใช้จ่ายนี้ ต้องใช้จ่ายจึงได้ทุนอีกส่วน
แล้วผมจะนั่งอยู่ที่นั่นตลอดทำไมล่ะครับ ทุนเสริมนี้มีไม่มาก แค่ซื้อพอตั๋วเครื่องบินจากโอซากามาฮานอยไป-กลับก็แทบจะหมดแล้ว ผมก็เลยถือโอกาสกลับมาเวียดนามแล้วอยู่ยาวๆ สัก 15 วัน ก็คือมาเก็บข้อมูลเพิ่มเติม มาเดินทางไป "multi-หมู่บ้านของฉัน" มาไล่ตามความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นที่ไม่ได้ไปมา 3-5 ปีแล้ว บางที่ไม่ได้กลับไปมาเกือบ 10 ปีแล้ว บางที่ที่เคยไปไม่มีอยู่แล้ว เพราะจมน้ำอยู่ใต้เขื่อนไปหมดแล้ว
แถมการมาครั้งนี้ ผมยังได้เพื่อนร่วมทางที่อาสามาเดินทางด้วย อย่างเมื่อวานวันแรก เพื่อนร่วมเดินทางกิตติมศักดิ์ของผมแต่ละคนน่ารักมากครับ ผมพาไป 3 พิพิธภัณฑ์ กับ 2-3 landmarks สำคัญของฮานอย เหล่าเพื่อนร่วมทางก็ยังสนองความบ้าฮานอยของผมได้ แถมแต่ละคนยังมีคำถามที่ผมยังไม่เคยคิดมาก่อน โดยเฉพาะจากนักประวัติศาสตร์ไทยช่างคิดและปากกล้าคนหนึ่ง แกตั้งคำถามที่เป็นการบ้านผมได้อีกมาก เช่นว่า
ระหว่างเดินดูพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เวียดนาม ผมบอกว่า "การเอาเครื่องมือหินพวกนี้มามัดกับไม้นี่ อาจารย์โบราณคดีท่านหนึ่งเคยวิจารณ์ว่า รู้ได้ยังไงว่ามัดแบบนี้หรือเขาใช้อย่างไร เขาใช้หรือเปล่ายังไม่มีทางรู้เลย" แต่เพื่อนร่วมทางผมบอกว่า "แต่การทำแบบนี้ก็ช่วยให้จินตนาการได้ว่า การใช้งานเครื่องมือหินยุคหินเก่ามันน่าจะส่งต่อมาให้ยุคหินใหม่ที่ทำการเกษตรได้อย่างไร”
พอดูห้องโบราณคดีเสร็จ เพื่อนร่วมทางผมบอกว่า "พิพิธภัณฑ์ชาติของไทยมันไม่เห็นค่อยให้ความสำคัญกับโบราณคดีเลย" ผมแลกเปลี่ยนว่า "เพราะโบราณคดีคือการปกป้องความเป็นเวียดนาม ปกป้องการมีอยู่ของเวียดนามก่อนการเข้ามาของจีน แล้วการดีเฟนเวียดนามก็คือการดีเฟนการมีอยู่ของอะไรที่มีก่อน มีร่วมกันของคน Southeast Asia" เพื่อนร่วมทางผมพยักหน้า
พอถึงห้องสมัยประวัติศาสตร์ เพื่อนร่วมทางผมสะดุดใจกับไม้แกะสลักท่ารำแขนอ่อนสองรูปข้างบนนั่น เป็นงานในศตวรรษที่ 17-18 แกถามว่า "คนเวียดมีท่ารำแขนอ่อนแบบนี้ด้วยเหรอ มันดูเขมรมาก" ผมบอกว่า “ไม่รู้เลย เพราะวัฒนธรรมเวียดแบบราชสำนักสูญหายไปมาก แต่ก็ไม่เคยสังเกตไม้แกะสองชิ้นนี้มาก่อนว่าทำไมมันแขนอ่อนราวกับพวกฮินดูอย่างไทย เขมร แบบนี้”
อีกคำถามคือ "คนเวียดเรียกตัวเองว่าคน Kinh ตั้งแต่เมื่อไหร่" ข้อนี้ก็ไม่เคยคิดมาก่อน รู้แต่ว่า Kinh แปลว่าคนเมือง เมืองฮานอยเรียกอีกอย่างว่า Đông Kinh แปลว่าคนเมืองทางตะวันออก หมายความอีกอย่างว่า ไอ้พวกคนภูเขาทางตะวันตก รวมทั้งคนพูดภาษาไทน่ะ พวกคนป่าคนดอย
เมื่อเดินมาถึงยุคที่บันทึกเริ่มมีมากขึ้น เพื่อนร่วมทางคนเดียวกันถามอีกว่า "เวียดนามมียุคจารึกแบบสมัยยุคจารึกของเขมรกับไทยไหม" ผมตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าจารึกแบบเวียดคือเขียนภาษาจีน แต่อักษรเวียดนามที่ยืมอักษรจีนมาเขียนออกเสียงแบบเวียดยุคที่เฟื่องฟูก็ช่วงต้นราชวงศ์เหงวียน คือต้นศตวรรษที่ 19 นี้เอง ก่อนนั้นคนรู้อักษรคือคนเขียนภาษาจีนได้
พอมาที่พิพิธภัณฑ์ผู้หญิง เพื่อนร่วมทางทุกคนตื่นเต้นมาก ยิ่งวันนี้เป็นวันสตรีสากล เพื่อนร่วมทางที่เป็นนักเขียนวิพากษ์สังคมบอกว่า ทีแรกว่าจะเขียนเรื่องเดียนเบียนฟู แต่ตอนนี้อยากเขียนเรื่องผู้หญิงแล้ว ผมเลยล้อแกว่า “เขียนว่า ผู้หญิงมีไว้ทำไม? สิครับ"
พอมาถึงพิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยา มีคำถามมากมายจากทุกคน แต่ที่ผมชอบที่สุดคือ "ก่อนจารึกพ่อขุนราม หรือไม่ก็จารึกสมัยสุโขทัย มันต้องมีภาษาเขียนภาษาไทยอยู่แล้วแน่นอน" ผมบอกเห็นด้วยครับ ต้องมีแน่นอน มันไม่มีการประดิษฐ์อะไรมาแบบนั้นได้ง่ายๆ หรอก แต่เพื่อนร่วมทางคนนี้ถามอีกว่า “คุณว่ามันเป็นไปได้ไหมที่จะมาจากอักษรไทในเวียดนามนี่แหละ"
ถามแบบนี้จากคนไม่คลั่งชาติ ไม่คลั่งไท-ไทยนี่ ทำเอาผมคิดหลายตลบเลย ผมบอกว่า "ผมไม่เคยคิดมาก่อน แต่คิดว่าเป็นไปได้ด้วยสองเหตุผลคือ หนึ่ง อักษรไทในเวียดนามมีหลากหลายมาก script per capita สูงมาก ที่ว่าหลากหลายคือ ความรู้อ่านออกเขียนได้เกี่ยวกับอักษรของเมืองที่ผมอ่านได้นี่ ใช้ไม่ได้เลยกับอักษรไทในหลายๆ เมือง ทีนี้ถ้าคิดแบบนักภาษาศาสตร์ว่า ที่ไหนมีภาษาถิ่นเยอะ ที่นั่นเป็นต้นกำเนิดของภาษาตระกูลนั้น ถ้างั้น ที่ไหนที่มีอักษรหลากหลาย แปลว่าน่าจะเป็นที่ที่อักษรกำเนิดขึ้นมาได้ไหม
"สอง อักษรน่าจะมากับความเชื่อ ถ้าอักษรไทในเวียดนามมาจากลาว จากโยนก จากสยาม ทำไมศาสนาพุทธไม่มาด้วย ข้อนี้ถ้าคิดกลับกัน เป็นไปได้ไหมว่าอักษรไปจากที่เวียดนาม" สองข้อนี่เป็นข้อสันนิษฐานประหลาดที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน"
อย่างน้อย เพื่อนร่วมทางทุกคนยังไม่บ่นว่าผมยัดเยียดเขากันเกินไป ชวนกินแต่ของที่ผมอยากกินเองมากไป ในวันสตรีสากล เดินในฮานอยกันมาทั้งวัน เห็นผู้หญิงได้รับช่อดอกไม้ แต่งตัวสวยๆ กับแฟนเดินเที่ยวกินของแพงๆ กัน ดูชื่นมื่นเพราะคนเวียดนามถือว่าวันนี้ (และวันสตรีเวียดนามอีกวัน) เป็นวันที่ต้องแสดงการยกย่องผู้หญิง ผู้หญิงหยุดทำงานบ้าน (แต่มองได้อีกแบบว่า นอกจากสองที่เหลือเป็นวันผู้ชายหมดล่ะสิ)
แต่ที่น่าภูมิใจแทนคนเวียดที่สุดคือ เพื่อนร่วมทางนักดื่มบอกว่า "ผมว่าเบียร์สดฮานอยนี่เป็นเบียร์ของ Southeast Asia ที่ดีที่สุดใน Southeast Asia”
การเดินทางกับเพื่อนร่วมทางที่ไม่เคยไปไหนด้วยมาก่อนและเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเส้นทางที่ผมคุ้นเคยจึงน่าสนใจไม่น้อย เพราะจะช่วยให้ผมได้คำถามใหม่ๆ ได้มุมมองแปลกๆ ที่คิดไม่ถึงมาก่อน ระยะนี้ก็คงมีเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเวียดนามที่ช่วยให้ผมคิดอะไรใหม่ๆ มาปันกันครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้