Skip to main content

เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู

คนต่างชาติมักไม่สนใจว่า เดียนเบียนฟูเป็นชายแดนของเวียดนามกับลาว และคงลืมไปว่า พื้นที่ระหว่างเดียนเบียนฟูกับเมืองคนเวียดในที่ราบลุ่มน้ำแดงนั้น เต็มไปด้วยคนไตและชนชาติอื่น ๆ ในที่สูงและที่ราบระหว่างหุบเขา และก็คงไม่มีใครสนใจว่า ใจกลางของเมืองคนไตก่อนที่คนไตจะรู้จักแค่เมืองแถงกับเมืองไลจากพงศาวดารเมืองแถง พงศาวดารเมืองไล ซึ่งจดบันทึกจากเชลยที่จับไปจากสองเมืองนั้น อยู่ที่ใด และยังมีเมืองอื่น ๆ อะไรอีกบ้างไล่เรียงมาจนเกือบถึงฮานอย

เมื่อเริ่มทำวิจัยใหม่ ๆ เมืองลา หรือเมืองไหน ๆ สำหรับผมก็ดูไม่แตกต่างจากเมืองเวียด คือมีความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมมาเสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมและนักวิจัยแบบผมทำคือ ต้องเข้าไปในบ้านในเรือน ต้องกินข้าวกินเหล้า ต้องสนทนาพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่และเวลาของผู้คน เพื่อจะได้เห็นได้รับรู้ชีวิตของพวกเขา (หมายความว่า ยังมีนักวิจัยแบบอื่นที่หลีกเลี่ยงการกินข้าวกับชาวบ้าน เลี่ยงการดื่มเหล้ากับชาวบ้าน เลี่ยงการนั่งคุยในบ้านชาวบ้าน) จึงทำให้เห็นว่า แม้ในเมืองที่นักวิจัยประเภทฉาบฉวยมองข้ามไปอย่างเมืองลา ก็มีสาระเฉพาะตัวของคนไตในเวียดนามอยู่อย่างสืบเนื่องนับสิบ ๆ ปี

เมื่อได้เดินทางมาอย่างสม่ำเสมอ ผมจึงกลับแปลกใจที่การมาเมืองลาเที่ยวนี้ผมกลับไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงมากเท่ากับความคงเส้นคงวาหรือการยืนยันในตัวตนของผู้คนที่เมืองลาอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะจากอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนการจัดการเรื่องเหนือธรรมชาติ ในเรือนที่ผมคุ้นเคย มักมีความเปลี่ยนแปลงเสมอ ๆ ในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่เมื่อเข้ามาในครัวเรือน เมื่อได้ร่วมสนทนา เมื่อเริ่มการทักทายอย่างคนสนิทชิดเชื้อ เครื่องเรือน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนหนึ่งถูกนำมาใช้ และยังคงได้รับการรักษาไว้และถูกใช้ในแบบ "ดั้งเดิม"

การพบเห็นสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน สำคัญยิ่งกว่าวิธีวิจัยแบบนักวิจัยบางประเภท ที่เที่ยวบังคับบ้าง ขอร้องบ้าง ให้คนนุ่งเสื้อ แต่งกายแบบในตำรามาแสดงหน้ากล้อง เพื่อให้ได้ความเป็น “คนพื้นเมืองแท้” ตามจินตนาการของนักวิจัย แทนที่จะสนใจว่าคนในท้องถิ่นจัดการต่อรองกับความเปลี่ยนแปลงและการคงตัวตนไว้อย่างไร

สิ่งหนึ่งที่มักยังไม่เปลี่ยนแปลงคือที่นั่ง การนั่ง และพานกินข้าวที่สานด้วยหวาย ซึ่งเริ่มมีการดัดแปลงจากชั้นเดียวเป็นสองชั้น จากสานแบบหนึ่งไปเป็นสานแบบใหม่ ๆ บางเรือนยังยืนยันท่านั่งแบบยองๆ เก้าอี้เตี้ยที่วางบนพื้น หรือไม่ก็การนั่งบนฟูกรองพื้น แต่เก้าอี้ขายาวขึ้น หรือฟูกหนาขึ้น ส่วนภาชนะใส่ข้าวเหนียว ที่มักจะสรรหากันมาประดับโต๊ะอาหาร ก็ยังจะต้องเป็นของดั้งเดิมที่มีรูปทรงและวัสดุที่หลากหลาย ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้กลายเป็นสินค้าไปหมดแล้ว หากแต่ผู้ซื้อไม่ใช่นักท่องเที่ยวเท่ากับเป็นคนในวัฒนธรรมนี้เอง

สิ่งที่ได้รับการสืบทอดมาในระยะเกือบ 20 ปีที่ผมมาเมืองลาคือความเคร่งครัดในการจัดโต๊ะอาหาร และความเคร่งครัดในการต้อนรับแขก จานพริกกับเกลือสำหรับสำรับข้าวที่ "เป็นทางการ" และจอกเหล้าสองจอกสำหรับผีเรือน การดื่มเหล้าเพื่อรับขวัญผู้มาเยือน การสรรหาอาหารพื้นเมืองตามฤดูกาลที่หาได้ไม่ยากในตลาด สิ่งเหล่านี้ทำให้อาหารมื้อพื้น ๆ ธรรมดา ๆ กลายเป็นมื้ออาหารที่ยืนยันตัวตนของเจ้าเรือนจนแขกผู้มาเยือนตื่นตะลึง

สำหรับเรือนที่ผมคุ้นเคยและมักต้องขอไหว้ผีเรือน แน่นอนว่าห้องหับที่เคยเป็นที่บูชาผีเรือนแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่มีรูป ไม่มีข้อความใด ๆ มีแต่สัญลักษณ์แทนผีขวัญ ขณะนี้เปลี่ยนไปเป็นแบบคนเวียด หรือคล้ายคนจีน คือเป็นโต๊ะบูชา แถมมีรูปประดับกันแทบจะหมดแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่บางเรือนพยายามแสดงความแตกต่างคือ การประดับประดาด้วยสิ่งแสดง "ความเป็นคนไต" อย่างเรือนที่ผมคุ้นเคยก็เอาข้อความเขียนอักษรไตดำมาประดับหิ้งบูชาผีเรือน

เรื่องราวของผียังคงอยู่ในชีวิตประจำวัน ก่อนกินข้าว เมื่อจะจิบเหล้า ก็มีการพรมเหล้าข้ามไหล่ แสดงการเลี้ยงผี ที่ผมประทับใจคือเมื่อหมอรักษาโรคด้วยวิธีการสมัยใหม่คนหนึ่งเปิดปากแนะนำเจ้าของร้านขายอาหารคนหนึ่งว่า "แม่ของพี่คนนี้เป็นมดนะ เก่งมากเลย ที่เรือนเรา (ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์) เมื่อไหร่ก็ตามที่จะทำพิธี แม่ก็จะต้องให้มดคนนี้มาทำพิธี)" น่าเสียดายที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าเจ้าของร้านขายอาหารที่ทำอาหารไตได้หลากหลายจานและรสชาติเป็นที่ชื่นชอบของคนที่นี่ ไม่ได้น่าสนใจแค่พูดภาษาไตได้ไพเราะและทำธุรกิจเก่งเท่านั้น

แต่ถ้าจะให้ดูการยืนยันความเป็นไตกันให้จริงจังเข้าไปอีก ผมก็จะแนะนำว่าควรเดินไปให้ถึงท้ายหมู่บ้าน ที่จะมี "ป๋าแฮว" หรือป่าช้าของแต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่ ป่าช้าจะมีสิ่งก่อสร้างถาวร ซึ่งมักจะเป็นคอนกรีตทรงเหมือนหลุมฝังศพคนจีนและคนเวียด แต่หากดูให้ทั่ว ก็จะเห็นศพที่เพิ่งประกอบพิธี ที่ยังมีเครื่องประดับประดาแบบ "ดั้งเดิม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เพิ่งเสียชีวิตใหม่ ๆ มาครั้งนี้ ผมก็ไม่พลาดที่จะต้องเข้าไปดูป่าช้าของหมู่บ้านที่คุ้นเคยแห่งหนึ่ง แล้วก็พบกับหลุมฝังศพของคนที่เพิ่งเวียชีวิตไม่กี่วันที่ผ่านมา ยิ่งเธอเป็นคนอายุยืนถึงร้อยปี ก็ยิ่งทำให้เห็นเครื่องเคราต่าง ๆ ค่อนข้างครบครัน

ในท่ามกลางการพยายามกลืนกลายคนไตให้กลายเป็นเวียดในทุก ๆ มิติ ผมก็ยังเห็นการยืนยันในความเป็นไตอยู่ทั้งในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม หรือว่าพลังการกลืนกลายที่นี่ไม่รุนแรงนัก หรือว่าความสืบเนื่องของสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ที่นี่มีสูง การคงความเป็นตัวตนไว้จึงไม่ต้องพยายามขุดคุ้ยรื้อฟื้นอะไรมากนัก แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ใช่ว่าคนที่นี่ไม่อยากเปลี่ยน เพียงแต่เนื้อหาสาระดั้งเดิมยังคงมีน้ำหนักอยู่ในชีวิตของพวกเขาอยู่ไม่น้อย

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี