Skip to main content

เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู

คนต่างชาติมักไม่สนใจว่า เดียนเบียนฟูเป็นชายแดนของเวียดนามกับลาว และคงลืมไปว่า พื้นที่ระหว่างเดียนเบียนฟูกับเมืองคนเวียดในที่ราบลุ่มน้ำแดงนั้น เต็มไปด้วยคนไตและชนชาติอื่น ๆ ในที่สูงและที่ราบระหว่างหุบเขา และก็คงไม่มีใครสนใจว่า ใจกลางของเมืองคนไตก่อนที่คนไตจะรู้จักแค่เมืองแถงกับเมืองไลจากพงศาวดารเมืองแถง พงศาวดารเมืองไล ซึ่งจดบันทึกจากเชลยที่จับไปจากสองเมืองนั้น อยู่ที่ใด และยังมีเมืองอื่น ๆ อะไรอีกบ้างไล่เรียงมาจนเกือบถึงฮานอย

เมื่อเริ่มทำวิจัยใหม่ ๆ เมืองลา หรือเมืองไหน ๆ สำหรับผมก็ดูไม่แตกต่างจากเมืองเวียด คือมีความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมมาเสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมและนักวิจัยแบบผมทำคือ ต้องเข้าไปในบ้านในเรือน ต้องกินข้าวกินเหล้า ต้องสนทนาพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่และเวลาของผู้คน เพื่อจะได้เห็นได้รับรู้ชีวิตของพวกเขา (หมายความว่า ยังมีนักวิจัยแบบอื่นที่หลีกเลี่ยงการกินข้าวกับชาวบ้าน เลี่ยงการดื่มเหล้ากับชาวบ้าน เลี่ยงการนั่งคุยในบ้านชาวบ้าน) จึงทำให้เห็นว่า แม้ในเมืองที่นักวิจัยประเภทฉาบฉวยมองข้ามไปอย่างเมืองลา ก็มีสาระเฉพาะตัวของคนไตในเวียดนามอยู่อย่างสืบเนื่องนับสิบ ๆ ปี

เมื่อได้เดินทางมาอย่างสม่ำเสมอ ผมจึงกลับแปลกใจที่การมาเมืองลาเที่ยวนี้ผมกลับไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงมากเท่ากับความคงเส้นคงวาหรือการยืนยันในตัวตนของผู้คนที่เมืองลาอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะจากอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนการจัดการเรื่องเหนือธรรมชาติ ในเรือนที่ผมคุ้นเคย มักมีความเปลี่ยนแปลงเสมอ ๆ ในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่เมื่อเข้ามาในครัวเรือน เมื่อได้ร่วมสนทนา เมื่อเริ่มการทักทายอย่างคนสนิทชิดเชื้อ เครื่องเรือน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนหนึ่งถูกนำมาใช้ และยังคงได้รับการรักษาไว้และถูกใช้ในแบบ "ดั้งเดิม"

การพบเห็นสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน สำคัญยิ่งกว่าวิธีวิจัยแบบนักวิจัยบางประเภท ที่เที่ยวบังคับบ้าง ขอร้องบ้าง ให้คนนุ่งเสื้อ แต่งกายแบบในตำรามาแสดงหน้ากล้อง เพื่อให้ได้ความเป็น “คนพื้นเมืองแท้” ตามจินตนาการของนักวิจัย แทนที่จะสนใจว่าคนในท้องถิ่นจัดการต่อรองกับความเปลี่ยนแปลงและการคงตัวตนไว้อย่างไร

สิ่งหนึ่งที่มักยังไม่เปลี่ยนแปลงคือที่นั่ง การนั่ง และพานกินข้าวที่สานด้วยหวาย ซึ่งเริ่มมีการดัดแปลงจากชั้นเดียวเป็นสองชั้น จากสานแบบหนึ่งไปเป็นสานแบบใหม่ ๆ บางเรือนยังยืนยันท่านั่งแบบยองๆ เก้าอี้เตี้ยที่วางบนพื้น หรือไม่ก็การนั่งบนฟูกรองพื้น แต่เก้าอี้ขายาวขึ้น หรือฟูกหนาขึ้น ส่วนภาชนะใส่ข้าวเหนียว ที่มักจะสรรหากันมาประดับโต๊ะอาหาร ก็ยังจะต้องเป็นของดั้งเดิมที่มีรูปทรงและวัสดุที่หลากหลาย ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้กลายเป็นสินค้าไปหมดแล้ว หากแต่ผู้ซื้อไม่ใช่นักท่องเที่ยวเท่ากับเป็นคนในวัฒนธรรมนี้เอง

สิ่งที่ได้รับการสืบทอดมาในระยะเกือบ 20 ปีที่ผมมาเมืองลาคือความเคร่งครัดในการจัดโต๊ะอาหาร และความเคร่งครัดในการต้อนรับแขก จานพริกกับเกลือสำหรับสำรับข้าวที่ "เป็นทางการ" และจอกเหล้าสองจอกสำหรับผีเรือน การดื่มเหล้าเพื่อรับขวัญผู้มาเยือน การสรรหาอาหารพื้นเมืองตามฤดูกาลที่หาได้ไม่ยากในตลาด สิ่งเหล่านี้ทำให้อาหารมื้อพื้น ๆ ธรรมดา ๆ กลายเป็นมื้ออาหารที่ยืนยันตัวตนของเจ้าเรือนจนแขกผู้มาเยือนตื่นตะลึง

สำหรับเรือนที่ผมคุ้นเคยและมักต้องขอไหว้ผีเรือน แน่นอนว่าห้องหับที่เคยเป็นที่บูชาผีเรือนแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่มีรูป ไม่มีข้อความใด ๆ มีแต่สัญลักษณ์แทนผีขวัญ ขณะนี้เปลี่ยนไปเป็นแบบคนเวียด หรือคล้ายคนจีน คือเป็นโต๊ะบูชา แถมมีรูปประดับกันแทบจะหมดแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่บางเรือนพยายามแสดงความแตกต่างคือ การประดับประดาด้วยสิ่งแสดง "ความเป็นคนไต" อย่างเรือนที่ผมคุ้นเคยก็เอาข้อความเขียนอักษรไตดำมาประดับหิ้งบูชาผีเรือน

เรื่องราวของผียังคงอยู่ในชีวิตประจำวัน ก่อนกินข้าว เมื่อจะจิบเหล้า ก็มีการพรมเหล้าข้ามไหล่ แสดงการเลี้ยงผี ที่ผมประทับใจคือเมื่อหมอรักษาโรคด้วยวิธีการสมัยใหม่คนหนึ่งเปิดปากแนะนำเจ้าของร้านขายอาหารคนหนึ่งว่า "แม่ของพี่คนนี้เป็นมดนะ เก่งมากเลย ที่เรือนเรา (ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์) เมื่อไหร่ก็ตามที่จะทำพิธี แม่ก็จะต้องให้มดคนนี้มาทำพิธี)" น่าเสียดายที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าเจ้าของร้านขายอาหารที่ทำอาหารไตได้หลากหลายจานและรสชาติเป็นที่ชื่นชอบของคนที่นี่ ไม่ได้น่าสนใจแค่พูดภาษาไตได้ไพเราะและทำธุรกิจเก่งเท่านั้น

แต่ถ้าจะให้ดูการยืนยันความเป็นไตกันให้จริงจังเข้าไปอีก ผมก็จะแนะนำว่าควรเดินไปให้ถึงท้ายหมู่บ้าน ที่จะมี "ป๋าแฮว" หรือป่าช้าของแต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่ ป่าช้าจะมีสิ่งก่อสร้างถาวร ซึ่งมักจะเป็นคอนกรีตทรงเหมือนหลุมฝังศพคนจีนและคนเวียด แต่หากดูให้ทั่ว ก็จะเห็นศพที่เพิ่งประกอบพิธี ที่ยังมีเครื่องประดับประดาแบบ "ดั้งเดิม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เพิ่งเสียชีวิตใหม่ ๆ มาครั้งนี้ ผมก็ไม่พลาดที่จะต้องเข้าไปดูป่าช้าของหมู่บ้านที่คุ้นเคยแห่งหนึ่ง แล้วก็พบกับหลุมฝังศพของคนที่เพิ่งเวียชีวิตไม่กี่วันที่ผ่านมา ยิ่งเธอเป็นคนอายุยืนถึงร้อยปี ก็ยิ่งทำให้เห็นเครื่องเคราต่าง ๆ ค่อนข้างครบครัน

ในท่ามกลางการพยายามกลืนกลายคนไตให้กลายเป็นเวียดในทุก ๆ มิติ ผมก็ยังเห็นการยืนยันในความเป็นไตอยู่ทั้งในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม หรือว่าพลังการกลืนกลายที่นี่ไม่รุนแรงนัก หรือว่าความสืบเนื่องของสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ที่นี่มีสูง การคงความเป็นตัวตนไว้จึงไม่ต้องพยายามขุดคุ้ยรื้อฟื้นอะไรมากนัก แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ใช่ว่าคนที่นี่ไม่อยากเปลี่ยน เพียงแต่เนื้อหาสาระดั้งเดิมยังคงมีน้ำหนักอยู่ในชีวิตของพวกเขาอยู่ไม่น้อย

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย