Skip to main content

เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 

เดินหาไปแบบกึ่งเชื่อกึ่งไม่เชื่อว่าบ้านนี้จะมีอยู่จริง กึ่งงง ๆ ว่า ทำไมตำนานขุนบรมกับบ้านนาน้อยอ้อยหนูจะมีสถานที่จริงระบุได้ขนาดนั้น จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า เคยพาอาจารย์จากประเทศไทยมาดูบ้านนาน้อยอ้อยหนู แต่แกก็จำไม่ได้แม่นว่าบ้านนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ ที่เวียดนามก็ไม่ได้มีชื่อบ้านนี้เขียนอยู่ตรงไหนชัดเจน วิธีตามหาก็คือ อาจารย์คำจองคาดเดาจากความทรงจำว่าน่าจะอยู่ตรงไหน แล้วก็ลงถามผู้คนแถวนั้นจนเจอ 

ต้น "อ้อยหนู" ถ่ายเมื่อ 15 ปีก่อน

ตำนาน "บ้านนาน้อยอ้อยหนู" อยู่ในตำนานขุนบรม หรือขุนบูลม ในพงศาวดารล้านช้าง ฉบับภาษาไทย ในตำนานเล่าถึงกำเนิดคนไต คนส่า ว่ามาจากน้ำเต้าปุง น้ำเต้าปุงตามตำนานถูกส่งลงมาที่ "บ้านนาน้อยอ้อยหนู" ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าขุนบูลมเป็นผู้ที่ออกมาจากน้ำเต้า หรือไม่แกก็รับมอบหมายจากแถนให้เอาน้ำเต้ามาแล้วเป็นผู้ปกครองผู้คนที่ออกมาจากน้ำเต้า แต่เรื่องราวของกำเนิดคนอยู่ที่บ้านนาน้อยอ้อยหนูนี่แหละ 

ไม่น่าเชื่อว่า เกือบ 15 ปีผ่านไป ผมจะเป็นคนพาอาจารย์จากประเทศไทยอีกคนหนึ่ง มาเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนู ผมก็ใช้วิธีเดียวกันกับอาจารย์คำจอง คือคลำเอาจากความทรงจำกับถามจากผู้คนไปเรื่อย ๆ ที่จำได้แน่ ๆ คือ บ้านนาน้อยอยู่หลังจากเมืองควาย (Tuần Giáo) แล้วถามไล่ไปเรื่อย ๆ เจอเรือนหนึ่ง พอบอกว่ามาถามหา "บ้านนาน้อย" คนบนเรือนก็พูดสวนกลับมาว่า "บ้านนาน้อยอ้อยหนูน่ะเหรอ" ผมดีใจเลย เพราะเขาพูดชื่อเต็มของบ้านนี้ขึ้นมาเอง เอาล่ะ แสดงว่าเรื่องนี้คงไม่ได้เล่ากันมั่ว ๆ อยู่ที่ใดที่หนึ่ง คงมีตำนานสืบทอดกันมาจริง ๆ คนแรกนี้บอกว่า ต้องไปต่ออีก เกือบถึงเมืองแถงโน่นแหละ เลยเมืองพังไปอีก แต่แกก็ยังว่า "หรือไม่ก็กลับไปทางเมืองควาย ทางนั้นก็มีบ้านนาน้อย" ผมชักเริ่มงงอีกว่า ตกลงบ้านนาน้อยมีหลายที่หรือนี่

 ผมกับอาจารย์คำจองเมื่อ 15 ปีก่อน

ผมอาศัยความทรงจำจากที่ว่า เคยจำได้ว่ามีลำน้ำเล็ก ๆ อยู่ริมถนน มีหมู่บ้านอยู่อีกฝั่งของลำน้ำนั้น ลำนำ้นั้นเรียกว่า "นำ้โซม" ไหลไปทางไปเมืองแถง แถวนั้นคือบ้านนาน้อยฯ น้ำโซมไหลมาจนถึงตัวเมืองแถง บริเวณกลางแม่น้ำแถวนั้นเป็นแก่งหิน เรียกหินแม่เบ้า 

ตอนที่ไปหากับอาจารย์คำจอง พวกเราก็เจอบ้านนี้เข้าจนได้ พอมีคนที่เราไม่รู้จักพูดเรื่องน้ำเต้าปุง เรื่องแม่เบ้า เรื่องนาน้อยอ้อยหนูเป็นคุ้งเป็นแคว ผมก็เริ่มเชื่อว่า ที่นี่น่าจะเป็นบ้านนาน้อยอ้อยหนูตามตำนานจริง ๆ แต่ตอนนั้นเดินลุยกันไปไม่ถึงตรงแก่งหินกลางน้ำ ก็จึงไม่ได้รูปหินนั่นมา นึกในใจว่า สักวันคงได้ผ่านมาแถวนี้แล้วคงได้เข้าไปดูให้เห็นกับตา 

แล้ววันนั้นก็มาถึงจริง ๆ เมื่อวาน (12 มีนาคม) เมื่อรถขับไล่มาเกือบถึงเมืองแถง อีกสักราว ๆ 20 กิโลเมตรจะถึงเมืองแถง ผมคิดว่าตรงนั้นน่าจะเป็นบ้านนาน้อยอ้อยหนู ก็เลยให้คนขับรถหยุด แล้วลงไปถามคนแถวนั้นดู ปรากฏว่าถูกที่แล้วจริง ๆ พวกเราเจอผู้ชายสูงอายุคนหนึ่งบอกว่าตรงนี้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้ำเต้าปุง ตรงนั้นเป็นลำน้ำเรียกน้ำโซม มีหินแม่เบ้า ผมก็ว่านี่แหละใช่แล้ว แม้จะเปลี่ยนไปมาก มีคนไตดำมาปลูกเรือนริมถนนมากขึ้น แต่ก็ยังมีเค้าเดิมอยู่มาก พอดีพี่คนไตที่ไปด้วยกันไปเจอผู้หญิงไตดำคนหนึ่ง อายุพอสมควร เธออาสาพาไปดูหินกลางน้ำโซม พวกเราก็เลยลุยน้ำ เกาะไต่โขดหินไปกัน ก็ได้ภาพมาอย่างที่เห็น

ตำนานที่ได้มาจากคนในท้องที่ในวันนี้มีห้าเรื่อง 1. เรื่องมะเต้าปุง 2. เรื่องหินแม่เบ้า 3. เรื่องบ้านห้วยนาง 4. เรื่องคนเอาของมีค่ามาฝัง และ 5. เรื่องกลองมโหระทึก  

เรื่องมะ (หมาก) เต้าปุง มีตำนานมะเต้า เล่าว่าแถนเอามะเต้าลงมาในเมืองลุ่ม คือเมืองมนุษย์นั่นแหละ แล้วเอามาที่บ้านนาน้อยอ้อยหนู ต่อมาผู้คนก็ออกมาจากน้ำเต้า เป็นคนส่ากับคนไต คนจึงเริ่มมีกันจากบ้านนาน้อยนี่เอง แล้วตรงที่เลยบ้านนาน้อยไปหน่อยก็มีบ้านชื่อบ้านเต้าปุง  

เรื่องหินแม่เบ้า มีหินรูปอ่างน้ำ แม่เบ้าซึ่งก็คือแถนผู้หนึ่ง เป็นแถนผู้หญิง คอยแต่งสร้างผู้คน แล้วเอามาล้างน้ำที่อ่างนี้ หรือไม่ก็เอามาหล่อที่อ่างนี้ แล้วจึงเอาขวัญใส่ทำให้กลายเป็นคน อีกเรื่องก็สัมพันธ์หินแม่เบ้า ตรงที่เป็นรูปคล้ายมดลูก ท่ีชาวบ้านเชื่อว่าตรงนี้แหละคือตัวแม่เบ้า หมู่บ้านบริเวณนั้นเรียกบ้านห้วยนางเพราะเคยมีหญิงคนหนึ่งขี่ม้ามาตายที่นั่น  

ส่วนเรื่องคนเอาของมาฝังกับเรื่องคนขุดของ ฟังดูเหมือนเกี่ยวข้องกัน เรื่องแรกเขาเล่าว่ามีคนเคยเอาของมีค่ามาฝัง จากเมืองลาว แล้วยังฆ่าคนฝังลงไปด้วยในบริเวณแถวนี้ ส่วนอีกเรื่องคือ คนแกว (คนเวียด คำเรียกนี้ไม่ใช่คำดูถูกชนชาติแบบในภาษาไทย) ได้ยินว่าบริเวณนี้มีของมีค่า ก็มาขุดเจอ "หม้อ" ใหญ่ใบหนึ่ง บนฝาหม้อมีรูปตัวกบติดอยู่ 4 ตัว แต่เมื่อเอาไปแล้วมีคนมาขโมยไปอีกที 

สรุปแล้วบริเวณนี้คงเกี่ยวข้องกับตำนานนำ้เต้าปุง ตำนานขุนบูลม ตำนานกำเนิดมนุษย์จริง ๆ ที่ต้องคิดต่อคือ ทำไมตำนานมากมายจึงเกิดขึ้นที่นี่ ทำไมตำนานเหล่านี้จึงถูกจดจำและถูกเล่าต่อกันมาเนิ่นนาน เป็นไปได้ไหมว่าบริเวณนี้จะเคยไปที่ตั้งรกรากเริ่มต้นหรือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของคนไตหรือความสัมพันธ์ระหว่างคนไตกับคนส่าเมื่ออดีตอันแสนไกลหลักพันปี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย