Skip to main content

เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 

เดินหาไปแบบกึ่งเชื่อกึ่งไม่เชื่อว่าบ้านนี้จะมีอยู่จริง กึ่งงง ๆ ว่า ทำไมตำนานขุนบรมกับบ้านนาน้อยอ้อยหนูจะมีสถานที่จริงระบุได้ขนาดนั้น จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า เคยพาอาจารย์จากประเทศไทยมาดูบ้านนาน้อยอ้อยหนู แต่แกก็จำไม่ได้แม่นว่าบ้านนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ ที่เวียดนามก็ไม่ได้มีชื่อบ้านนี้เขียนอยู่ตรงไหนชัดเจน วิธีตามหาก็คือ อาจารย์คำจองคาดเดาจากความทรงจำว่าน่าจะอยู่ตรงไหน แล้วก็ลงถามผู้คนแถวนั้นจนเจอ 

ต้น "อ้อยหนู" ถ่ายเมื่อ 15 ปีก่อน

ตำนาน "บ้านนาน้อยอ้อยหนู" อยู่ในตำนานขุนบรม หรือขุนบูลม ในพงศาวดารล้านช้าง ฉบับภาษาไทย ในตำนานเล่าถึงกำเนิดคนไต คนส่า ว่ามาจากน้ำเต้าปุง น้ำเต้าปุงตามตำนานถูกส่งลงมาที่ "บ้านนาน้อยอ้อยหนู" ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าขุนบูลมเป็นผู้ที่ออกมาจากน้ำเต้า หรือไม่แกก็รับมอบหมายจากแถนให้เอาน้ำเต้ามาแล้วเป็นผู้ปกครองผู้คนที่ออกมาจากน้ำเต้า แต่เรื่องราวของกำเนิดคนอยู่ที่บ้านนาน้อยอ้อยหนูนี่แหละ 

ไม่น่าเชื่อว่า เกือบ 15 ปีผ่านไป ผมจะเป็นคนพาอาจารย์จากประเทศไทยอีกคนหนึ่ง มาเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนู ผมก็ใช้วิธีเดียวกันกับอาจารย์คำจอง คือคลำเอาจากความทรงจำกับถามจากผู้คนไปเรื่อย ๆ ที่จำได้แน่ ๆ คือ บ้านนาน้อยอยู่หลังจากเมืองควาย (Tuần Giáo) แล้วถามไล่ไปเรื่อย ๆ เจอเรือนหนึ่ง พอบอกว่ามาถามหา "บ้านนาน้อย" คนบนเรือนก็พูดสวนกลับมาว่า "บ้านนาน้อยอ้อยหนูน่ะเหรอ" ผมดีใจเลย เพราะเขาพูดชื่อเต็มของบ้านนี้ขึ้นมาเอง เอาล่ะ แสดงว่าเรื่องนี้คงไม่ได้เล่ากันมั่ว ๆ อยู่ที่ใดที่หนึ่ง คงมีตำนานสืบทอดกันมาจริง ๆ คนแรกนี้บอกว่า ต้องไปต่ออีก เกือบถึงเมืองแถงโน่นแหละ เลยเมืองพังไปอีก แต่แกก็ยังว่า "หรือไม่ก็กลับไปทางเมืองควาย ทางนั้นก็มีบ้านนาน้อย" ผมชักเริ่มงงอีกว่า ตกลงบ้านนาน้อยมีหลายที่หรือนี่

 ผมกับอาจารย์คำจองเมื่อ 15 ปีก่อน

ผมอาศัยความทรงจำจากที่ว่า เคยจำได้ว่ามีลำน้ำเล็ก ๆ อยู่ริมถนน มีหมู่บ้านอยู่อีกฝั่งของลำน้ำนั้น ลำนำ้นั้นเรียกว่า "นำ้โซม" ไหลไปทางไปเมืองแถง แถวนั้นคือบ้านนาน้อยฯ น้ำโซมไหลมาจนถึงตัวเมืองแถง บริเวณกลางแม่น้ำแถวนั้นเป็นแก่งหิน เรียกหินแม่เบ้า 

ตอนที่ไปหากับอาจารย์คำจอง พวกเราก็เจอบ้านนี้เข้าจนได้ พอมีคนที่เราไม่รู้จักพูดเรื่องน้ำเต้าปุง เรื่องแม่เบ้า เรื่องนาน้อยอ้อยหนูเป็นคุ้งเป็นแคว ผมก็เริ่มเชื่อว่า ที่นี่น่าจะเป็นบ้านนาน้อยอ้อยหนูตามตำนานจริง ๆ แต่ตอนนั้นเดินลุยกันไปไม่ถึงตรงแก่งหินกลางน้ำ ก็จึงไม่ได้รูปหินนั่นมา นึกในใจว่า สักวันคงได้ผ่านมาแถวนี้แล้วคงได้เข้าไปดูให้เห็นกับตา 

แล้ววันนั้นก็มาถึงจริง ๆ เมื่อวาน (12 มีนาคม) เมื่อรถขับไล่มาเกือบถึงเมืองแถง อีกสักราว ๆ 20 กิโลเมตรจะถึงเมืองแถง ผมคิดว่าตรงนั้นน่าจะเป็นบ้านนาน้อยอ้อยหนู ก็เลยให้คนขับรถหยุด แล้วลงไปถามคนแถวนั้นดู ปรากฏว่าถูกที่แล้วจริง ๆ พวกเราเจอผู้ชายสูงอายุคนหนึ่งบอกว่าตรงนี้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้ำเต้าปุง ตรงนั้นเป็นลำน้ำเรียกน้ำโซม มีหินแม่เบ้า ผมก็ว่านี่แหละใช่แล้ว แม้จะเปลี่ยนไปมาก มีคนไตดำมาปลูกเรือนริมถนนมากขึ้น แต่ก็ยังมีเค้าเดิมอยู่มาก พอดีพี่คนไตที่ไปด้วยกันไปเจอผู้หญิงไตดำคนหนึ่ง อายุพอสมควร เธออาสาพาไปดูหินกลางน้ำโซม พวกเราก็เลยลุยน้ำ เกาะไต่โขดหินไปกัน ก็ได้ภาพมาอย่างที่เห็น

ตำนานที่ได้มาจากคนในท้องที่ในวันนี้มีห้าเรื่อง 1. เรื่องมะเต้าปุง 2. เรื่องหินแม่เบ้า 3. เรื่องบ้านห้วยนาง 4. เรื่องคนเอาของมีค่ามาฝัง และ 5. เรื่องกลองมโหระทึก  

เรื่องมะ (หมาก) เต้าปุง มีตำนานมะเต้า เล่าว่าแถนเอามะเต้าลงมาในเมืองลุ่ม คือเมืองมนุษย์นั่นแหละ แล้วเอามาที่บ้านนาน้อยอ้อยหนู ต่อมาผู้คนก็ออกมาจากน้ำเต้า เป็นคนส่ากับคนไต คนจึงเริ่มมีกันจากบ้านนาน้อยนี่เอง แล้วตรงที่เลยบ้านนาน้อยไปหน่อยก็มีบ้านชื่อบ้านเต้าปุง  

เรื่องหินแม่เบ้า มีหินรูปอ่างน้ำ แม่เบ้าซึ่งก็คือแถนผู้หนึ่ง เป็นแถนผู้หญิง คอยแต่งสร้างผู้คน แล้วเอามาล้างน้ำที่อ่างนี้ หรือไม่ก็เอามาหล่อที่อ่างนี้ แล้วจึงเอาขวัญใส่ทำให้กลายเป็นคน อีกเรื่องก็สัมพันธ์หินแม่เบ้า ตรงที่เป็นรูปคล้ายมดลูก ท่ีชาวบ้านเชื่อว่าตรงนี้แหละคือตัวแม่เบ้า หมู่บ้านบริเวณนั้นเรียกบ้านห้วยนางเพราะเคยมีหญิงคนหนึ่งขี่ม้ามาตายที่นั่น  

ส่วนเรื่องคนเอาของมาฝังกับเรื่องคนขุดของ ฟังดูเหมือนเกี่ยวข้องกัน เรื่องแรกเขาเล่าว่ามีคนเคยเอาของมีค่ามาฝัง จากเมืองลาว แล้วยังฆ่าคนฝังลงไปด้วยในบริเวณแถวนี้ ส่วนอีกเรื่องคือ คนแกว (คนเวียด คำเรียกนี้ไม่ใช่คำดูถูกชนชาติแบบในภาษาไทย) ได้ยินว่าบริเวณนี้มีของมีค่า ก็มาขุดเจอ "หม้อ" ใหญ่ใบหนึ่ง บนฝาหม้อมีรูปตัวกบติดอยู่ 4 ตัว แต่เมื่อเอาไปแล้วมีคนมาขโมยไปอีกที 

สรุปแล้วบริเวณนี้คงเกี่ยวข้องกับตำนานนำ้เต้าปุง ตำนานขุนบูลม ตำนานกำเนิดมนุษย์จริง ๆ ที่ต้องคิดต่อคือ ทำไมตำนานมากมายจึงเกิดขึ้นที่นี่ ทำไมตำนานเหล่านี้จึงถูกจดจำและถูกเล่าต่อกันมาเนิ่นนาน เป็นไปได้ไหมว่าบริเวณนี้จะเคยไปที่ตั้งรกรากเริ่มต้นหรือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของคนไตหรือความสัมพันธ์ระหว่างคนไตกับคนส่าเมื่ออดีตอันแสนไกลหลักพันปี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน