Skip to main content

วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต

 

 

เส้นทางเข้าฮานอยจากเอียนบ๋ายต้องผ่านเมืองสำคัญชื่อ เหวียด จี่ (Việt Trì) เมืองนี้เป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำใหญ่สามสายในภาคเหนือของเวียดนาม คือแม่น้ำโล แม่น้ำแดง และแม่น้ำดำ เท่าที่ผมจะรู้ได้ขณะนี้ บริเวณนี้เป็นดินแดนที่ทั้งคนไตและคนเวียดเชื่อว่าคือแหล่งกำเนิดของชนชาติตน

ตำนานของชาวไตดำบันทึกไว้ใน "เล่าความเมือง" ซึ่งปรากฏในพงศาวดารล้านช้างเช่นกันว่า

ก่เป็นดินเป็นหญ้า ก่เป็นฟ้าเท่าถวงเห็ด

ก่เป็นดินเจ็ดก้อน ก่เป็นหินสามเส้า

น้ำเก้าแคว ปากแต๊ตาว

คนถอดภาษาจากตำนานนี้เป็นภาษาไทยสยามคงไม่เข้าใจว่า ่ หมายถึง ่อ ไม่ใช่ ก็ แต่ก็ช่างเถอะ คนสยามสักกี่คนกันที่จะใส่ใจอะไรนักหนาเกี่ยวกับอักษรและภาษาของคนสิบสองจุไท แค่อยากเหมาเอาดินแดนแถบนี้เป็นดินแดนของสยามก็พอแล้ว

"ปากแต๊ตาว" ก็คือที่บรรจบกันของแม่น้ำดำ ที่คนไตเรียกว่าน้ำแต๊ และแม่น้ำแดง ที่คนไตเรียกว่าน้ำตาว ณ จุดนี้บันทึก "เล่าความเมือง" ของไตดำเขียนไว้ว่า แถนให้ท้าวสวงท้าวเงินจากเมืองโอมเมืองอาย นำน้ำเต้าปุงมาแล้วจ่ายไปยังที่ต่าง ๆ จากนั้นผู้คนและสัตว์ก็หลั่งไหลกันออกมาจากน้ำเต้า แล้วคนไตก็ตั้งบ้านเมืองแห่งแรกที่เมืองลอ ห่างจาก "ปากแต๊ตาว" ไปสัก 70 กิโลเมตร

 

 

ส่วนคนเวียด บริเวณนี้มีตำนาน หลาก ลองม์ เควิน และ เอิว เกอ (Lạc Long Quân và Âu Cơ) คือเทพมังกรทะเลและเทพีแห่งภูเขา หลากลองม์เควินเป็นลูกชายของกษัตริย์หุ่งม์ (Hùng Vương ที่คนเวียดเชื่อว่าเป็น "ปฐมกษัตริย์" ของเวียดนามตั้งแต่เกือบ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล) ทั้งสองพบรักและมีลูกด้วยกันเป็นไข่ร้อยฟอง แล้วไข่ก็แตกออกมาเป็นเด็ก ภายหลังทั้งคู่อยู่ด้วยกันไม่ได้เพราะธรรมชาติต่างกัน จึงแยกทางกัน เด็ก 50 คนอยู่ที่สูง อีก 50 คนตามพ่อมาอาศัยบนที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง ตำนานกษัตริย์หุ่งม์และเรื่องไข่ร้อยฟองนำมาสู่การสร้างศาลบูชากษัตริย์หุ่งม์ ณ บริเวณแห่งนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10

 

 

ผมเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก เดิมทีคิดว่าเป็นเพียงศาลขนาดใหญ่สักแห่ง แต่ที่จริงเป็นกลุ่มศาลเจ้าขนาดใหญ่กระจายตัวบนเนินเขาที่ต้องใช้เวลาสัก 3-4 ชั่วโมงจึงจะเดินทางไปได้ทั่ว นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้อมูลและจัดแสดงโบราณวัตถุต่างยุคที่ขุดพบในบริเวณนี้จำนวนมาก ทั้งหมดช่วยให้เข้าใจเวียดนามเหนือก่อนอิทธิพลจีนได้มากทีเดียว

 

 

ตามบันทึกของเวียดนาม กษัตริย์ตระกูลหุ่มครองเวียดนามเหนือมาจนถึงราว 250 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นมีกษัตริย์ อาน เซือง เวือง (An Dương Vương) ที่โค่นอำนาจพวกหุ่งม์แล้วตั้งเมืองที่มีศูนย์กลางขนาดใหญ่พอสมควรอยู่ทางตะวันตกของฮานอยในอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแดง บริเวณนี้เรียกว่า โก่ ลวา (Cổ Lao) เมืองโบราณที่นับกันว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยุคเดียวกัน อานเซืองเวืองครองอำนาจระยะสั้นเพียงไม่ถึงร้อยปีแล้วอิทธิพลจีนก็เริ่มเข้าครอบงำเวียดนามมาจนอีกกว่า 1,000 ปีเวียดนามจึงเป็นอิสระจากอำนาจจีนอย่างชัดเจนในศตวรรษที่ 11

 

ผมไม่เคยไปโก่ลวามาก่อน เมื่อวาน (19 มีนาคม) จึงถือโอกาสเดินทางไป การเดินทางเดี๋ยวนี้สะดวก มีรถเมล์จากฮานอยต่อเดียวถึงปากทางเข้าโก่ลวาเลย เดินจากป้ายรถอีกสัก 200 เมตรก็ถึงที่

 

 

ปัจจุบันที่นี่เป็นศาลเจ้าอีกนั่นแหละ เป็นศาลบูชาอานเซืองเวือง ปากทางเข้ามีพิพิธภัณฑ์ขนาดพอสมควร แสดงหลักฐานโบราณคดีเกี่ยวกับที่นี่ ก็ช่วยให้เข้าใจอะไรได้พอสมควร โก่ลวามีคันดินและคูน้ำหลายชั้น ที่จริงถนนที่ชื่อเดียวกับสถานที่นี้เองก็เป็นคันดินชั้นหนึ่งของเมืองนี้ แต่เมื่อดูลักษณะการตั้งเมืองแล้ว ก็ทำให้ผมคิดถึงเมืองในลักษณะและอายุเดียวกันในภาคอีสานของไทย หากแต่เมืองนี้มีคันดินที่ซ้อน ๆ กันหลายอัน

 

 

การได้ไปเยือนพื้นที่เมืองโบราณทั้งสองแห่งช่วยให้ผมปะติดปะต่อเรื่องราวได้อีกมากมาย

ข้อหนึ่งคือ เวียดนามก่อนอิทธิพลจีนแสดงตัวชัดเจนในพื้นที่ทั้งสอง ที่น่าสนใจคือ คนเวียดเองมีสำนึกประวัคิศาสตร์ว่ากลุ่มตนอาศัยในที่ลุ่มแม่น้ำแดงอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีมรดกความทรงจำจากทางเหนือขึ้นไปเลย ความทรงจำนี้แตกต่างจากชาวไต ไม่ว่าจะพวกไตดำ ไตขาว หรือ "ไตแดง" ที่ต่างก็สำนึกถึงการเดินทางลงใต้จากตอนใต้ของจีนอย่างชัดเจน เข่น ตำนานไตดำเล่าว่าท้าวสวงท้าวเงินลูกแถนนำน้ำเต้าลงมายังโลก แล้วเดินทางมาจากทางตอนใต้ของจีนจนมาทิ้งน้ำเต้าไว้ที่ปากแต๊ตาวและเมืองลอ ส่วนไตขาวก็มักเล่าว่าบรรพบุรุษมีถิ่นฐานอยู่ในเมืองจีน พวกไตแดงที่เมืองมุนก็เล่าว่าพี่น้องสามคนเดินทางจากชายแดนจีน-เวียดนามมาสร้างบ้านเมืองที่เมืองสาง เมืองมุน และเมืองคอง

ข้อต่อมา การที่พื้นที่นี้เป็นตำนานร่วมกันของคนอย่างน้อยสองกลุ่มคือพวกเวียดกับพวกไตนั้น สอดคล้องกับข้อเสนอของนักภาษาศาสตร์ที่ ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีนั่น อันที่จริงก็บอกไม่ได้ว่าคนที่อยู่ที่นี่เดิมมีสำนึกชาติพันธ์ุอย่างไร เป็นคนกลุ่มไหน แต่จากหลักฐานทางภาษา บันทึกโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน และชื่อสถานที่บริเวณนี้ชี้ว่า ภาษาที่ใช้ในบริเวณนี้มีทั้งตระกูลไต ตระกูลจีน และตระกูลออสโตรเอเชียติก จึงน่าเชื่อว่า ทั้งกษัตริย์หุ่งม์และอานเซืองเวืองอาจเป็นได้ทั้งเวียด ไต และคนกลุ่มอื่น

ทั้งสองข้อนั้นช่วยเสริมประวัติศาสตร์ชาตินิยมเวียดนามได้เป็นอย่างดีด้วย นั่นคือการที่คนหลายกลุ่มมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ทางการของเวียดนามสามารถรวบเอาชนกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมอดีตและพื้นที่กันได้ ส่วนการที่เวียดนามมีบ้านเมืองอยู่ก่อนการเข้ามาของอิทธิพลจีนอย่างแน่นหนา ทำให้เวียดนามปกป้องและมีส่วนร่วมกับความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าจีน ตำนานไข่ร้อยฟองที่ส่งต่อมาจากอดีตที่หาต้นตอไม่เจอจึงยังคงทรงพลังสืบเนื่องมาจนถึงสมัยของการสร้างชาติในทุกวันนี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว