Skip to main content

วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต

 

 

เส้นทางเข้าฮานอยจากเอียนบ๋ายต้องผ่านเมืองสำคัญชื่อ เหวียด จี่ (Việt Trì) เมืองนี้เป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำใหญ่สามสายในภาคเหนือของเวียดนาม คือแม่น้ำโล แม่น้ำแดง และแม่น้ำดำ เท่าที่ผมจะรู้ได้ขณะนี้ บริเวณนี้เป็นดินแดนที่ทั้งคนไตและคนเวียดเชื่อว่าคือแหล่งกำเนิดของชนชาติตน

ตำนานของชาวไตดำบันทึกไว้ใน "เล่าความเมือง" ซึ่งปรากฏในพงศาวดารล้านช้างเช่นกันว่า

ก่เป็นดินเป็นหญ้า ก่เป็นฟ้าเท่าถวงเห็ด

ก่เป็นดินเจ็ดก้อน ก่เป็นหินสามเส้า

น้ำเก้าแคว ปากแต๊ตาว

คนถอดภาษาจากตำนานนี้เป็นภาษาไทยสยามคงไม่เข้าใจว่า ่ หมายถึง ่อ ไม่ใช่ ก็ แต่ก็ช่างเถอะ คนสยามสักกี่คนกันที่จะใส่ใจอะไรนักหนาเกี่ยวกับอักษรและภาษาของคนสิบสองจุไท แค่อยากเหมาเอาดินแดนแถบนี้เป็นดินแดนของสยามก็พอแล้ว

"ปากแต๊ตาว" ก็คือที่บรรจบกันของแม่น้ำดำ ที่คนไตเรียกว่าน้ำแต๊ และแม่น้ำแดง ที่คนไตเรียกว่าน้ำตาว ณ จุดนี้บันทึก "เล่าความเมือง" ของไตดำเขียนไว้ว่า แถนให้ท้าวสวงท้าวเงินจากเมืองโอมเมืองอาย นำน้ำเต้าปุงมาแล้วจ่ายไปยังที่ต่าง ๆ จากนั้นผู้คนและสัตว์ก็หลั่งไหลกันออกมาจากน้ำเต้า แล้วคนไตก็ตั้งบ้านเมืองแห่งแรกที่เมืองลอ ห่างจาก "ปากแต๊ตาว" ไปสัก 70 กิโลเมตร

 

 

ส่วนคนเวียด บริเวณนี้มีตำนาน หลาก ลองม์ เควิน และ เอิว เกอ (Lạc Long Quân và Âu Cơ) คือเทพมังกรทะเลและเทพีแห่งภูเขา หลากลองม์เควินเป็นลูกชายของกษัตริย์หุ่งม์ (Hùng Vương ที่คนเวียดเชื่อว่าเป็น "ปฐมกษัตริย์" ของเวียดนามตั้งแต่เกือบ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล) ทั้งสองพบรักและมีลูกด้วยกันเป็นไข่ร้อยฟอง แล้วไข่ก็แตกออกมาเป็นเด็ก ภายหลังทั้งคู่อยู่ด้วยกันไม่ได้เพราะธรรมชาติต่างกัน จึงแยกทางกัน เด็ก 50 คนอยู่ที่สูง อีก 50 คนตามพ่อมาอาศัยบนที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง ตำนานกษัตริย์หุ่งม์และเรื่องไข่ร้อยฟองนำมาสู่การสร้างศาลบูชากษัตริย์หุ่งม์ ณ บริเวณแห่งนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10

 

 

ผมเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก เดิมทีคิดว่าเป็นเพียงศาลขนาดใหญ่สักแห่ง แต่ที่จริงเป็นกลุ่มศาลเจ้าขนาดใหญ่กระจายตัวบนเนินเขาที่ต้องใช้เวลาสัก 3-4 ชั่วโมงจึงจะเดินทางไปได้ทั่ว นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้อมูลและจัดแสดงโบราณวัตถุต่างยุคที่ขุดพบในบริเวณนี้จำนวนมาก ทั้งหมดช่วยให้เข้าใจเวียดนามเหนือก่อนอิทธิพลจีนได้มากทีเดียว

 

 

ตามบันทึกของเวียดนาม กษัตริย์ตระกูลหุ่มครองเวียดนามเหนือมาจนถึงราว 250 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นมีกษัตริย์ อาน เซือง เวือง (An Dương Vương) ที่โค่นอำนาจพวกหุ่งม์แล้วตั้งเมืองที่มีศูนย์กลางขนาดใหญ่พอสมควรอยู่ทางตะวันตกของฮานอยในอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแดง บริเวณนี้เรียกว่า โก่ ลวา (Cổ Lao) เมืองโบราณที่นับกันว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยุคเดียวกัน อานเซืองเวืองครองอำนาจระยะสั้นเพียงไม่ถึงร้อยปีแล้วอิทธิพลจีนก็เริ่มเข้าครอบงำเวียดนามมาจนอีกกว่า 1,000 ปีเวียดนามจึงเป็นอิสระจากอำนาจจีนอย่างชัดเจนในศตวรรษที่ 11

 

ผมไม่เคยไปโก่ลวามาก่อน เมื่อวาน (19 มีนาคม) จึงถือโอกาสเดินทางไป การเดินทางเดี๋ยวนี้สะดวก มีรถเมล์จากฮานอยต่อเดียวถึงปากทางเข้าโก่ลวาเลย เดินจากป้ายรถอีกสัก 200 เมตรก็ถึงที่

 

 

ปัจจุบันที่นี่เป็นศาลเจ้าอีกนั่นแหละ เป็นศาลบูชาอานเซืองเวือง ปากทางเข้ามีพิพิธภัณฑ์ขนาดพอสมควร แสดงหลักฐานโบราณคดีเกี่ยวกับที่นี่ ก็ช่วยให้เข้าใจอะไรได้พอสมควร โก่ลวามีคันดินและคูน้ำหลายชั้น ที่จริงถนนที่ชื่อเดียวกับสถานที่นี้เองก็เป็นคันดินชั้นหนึ่งของเมืองนี้ แต่เมื่อดูลักษณะการตั้งเมืองแล้ว ก็ทำให้ผมคิดถึงเมืองในลักษณะและอายุเดียวกันในภาคอีสานของไทย หากแต่เมืองนี้มีคันดินที่ซ้อน ๆ กันหลายอัน

 

 

การได้ไปเยือนพื้นที่เมืองโบราณทั้งสองแห่งช่วยให้ผมปะติดปะต่อเรื่องราวได้อีกมากมาย

ข้อหนึ่งคือ เวียดนามก่อนอิทธิพลจีนแสดงตัวชัดเจนในพื้นที่ทั้งสอง ที่น่าสนใจคือ คนเวียดเองมีสำนึกประวัคิศาสตร์ว่ากลุ่มตนอาศัยในที่ลุ่มแม่น้ำแดงอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีมรดกความทรงจำจากทางเหนือขึ้นไปเลย ความทรงจำนี้แตกต่างจากชาวไต ไม่ว่าจะพวกไตดำ ไตขาว หรือ "ไตแดง" ที่ต่างก็สำนึกถึงการเดินทางลงใต้จากตอนใต้ของจีนอย่างชัดเจน เข่น ตำนานไตดำเล่าว่าท้าวสวงท้าวเงินลูกแถนนำน้ำเต้าลงมายังโลก แล้วเดินทางมาจากทางตอนใต้ของจีนจนมาทิ้งน้ำเต้าไว้ที่ปากแต๊ตาวและเมืองลอ ส่วนไตขาวก็มักเล่าว่าบรรพบุรุษมีถิ่นฐานอยู่ในเมืองจีน พวกไตแดงที่เมืองมุนก็เล่าว่าพี่น้องสามคนเดินทางจากชายแดนจีน-เวียดนามมาสร้างบ้านเมืองที่เมืองสาง เมืองมุน และเมืองคอง

ข้อต่อมา การที่พื้นที่นี้เป็นตำนานร่วมกันของคนอย่างน้อยสองกลุ่มคือพวกเวียดกับพวกไตนั้น สอดคล้องกับข้อเสนอของนักภาษาศาสตร์ที่ ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีนั่น อันที่จริงก็บอกไม่ได้ว่าคนที่อยู่ที่นี่เดิมมีสำนึกชาติพันธ์ุอย่างไร เป็นคนกลุ่มไหน แต่จากหลักฐานทางภาษา บันทึกโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน และชื่อสถานที่บริเวณนี้ชี้ว่า ภาษาที่ใช้ในบริเวณนี้มีทั้งตระกูลไต ตระกูลจีน และตระกูลออสโตรเอเชียติก จึงน่าเชื่อว่า ทั้งกษัตริย์หุ่งม์และอานเซืองเวืองอาจเป็นได้ทั้งเวียด ไต และคนกลุ่มอื่น

ทั้งสองข้อนั้นช่วยเสริมประวัติศาสตร์ชาตินิยมเวียดนามได้เป็นอย่างดีด้วย นั่นคือการที่คนหลายกลุ่มมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ทางการของเวียดนามสามารถรวบเอาชนกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมอดีตและพื้นที่กันได้ ส่วนการที่เวียดนามมีบ้านเมืองอยู่ก่อนการเข้ามาของอิทธิพลจีนอย่างแน่นหนา ทำให้เวียดนามปกป้องและมีส่วนร่วมกับความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าจีน ตำนานไข่ร้อยฟองที่ส่งต่อมาจากอดีตที่หาต้นตอไม่เจอจึงยังคงทรงพลังสืบเนื่องมาจนถึงสมัยของการสร้างชาติในทุกวันนี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้