Skip to main content

ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย

สรุปคือมาเที่ยวนี้มีสองเรื่องที่ต้องทำ

 

เรื่องแรก มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ โดยนำเอามุมมองทั้งทางการแพทย์ ทางสังคม และทางมานุษยวิทยามาแลกเปลี่ยนกัน เขาเน้นคำว่ามานุษยวิทยากันหลายครั้ง ผมก็เลยเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องให้เขารู้จักว่า มานุษยวิทยาเขาทำอะไรกันกับเรื่องอาหาร

 

เรื่องที่สอง มาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวรรณกรรมคนไทดำในประเทศไทย ที่เรียกกันว่า "ลาวโซ่ง" ที่จังหวัดเพชรบุรีและนครปฐม

 

ขอเล่าเรื่องแรกก่อน

 

การประชุมจัดขึ้นด้วยทุนของกองทุนขนาดใหญ่อายุร้อยกว่าปีของอังกฤษ เป็นการร่วมมือกันระหว่างสองมหาวิทยาลัยสำคัญของอังกฤษ กับมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง ที่สนุกยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือพวกแพทย์ กับนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

 

การประชุมมีสองวันครึ่ง วันแรก ฝ่ายหมอและนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เสนองานวิจัยให้เห็นปัญหา 10% ของคนติดพยาธิในตับเป็นมะเร็จถุงน้ำดี ที่ถ้ารู้ช้า รักษาไม่ทันก็จะตาย ถ้ารู้เร็ว รักษาทัน ก็มีโอกาสรอดสูง  

 

ที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยมีคนที่ตายจากโรคนี้มากที่สุดในโลก ตายปีละเป็นหมื่นคน และพื้นที่ที่พบคืออีสานกลางค่อนลงมาทางใต้ ก็สอดคล้องกับพื้นที่ระบาดของพยาธิใบไม้ในตับ ที่มีสาเหตุหลักมาจากกินปลาชนิดหนึ่งคือพวกปลาซิวดิบๆ ย้ำว่าปลาชนิดเดียว (แต่ในทางวิทยาศาสตร์นับได้จริงๆ 22 สปีชีส์)

 

วันที่สอง ฝ่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดมมุมมองเกี่ยวกับการกินของดิบและมิติต่างๆ ของอีสาน มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย นอกจากกลุ่มที่ไปเก็บข้อมูลท้องถิ่นอย่างจริงจัง ดูเครือข่ายทางสังคมของการกินปลาก้อยที่ทำจากปลาตัวเล็ก แล้วไล่มาเรื่องศาสนา เช่น ผู้เชี่ยนชาญอีสาน-ลาวคนหนึ่งมาเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่ทำปลาแดกขาย 

 

เรื่องภาษา การสื่อสารของหมอ มุมมองจากนักการศึกษาที่ให้ความสำคัญการการศึกษาแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการนำนักวิชาการอีสานผู้เติบโตมาในวัฒนธรรมการกินของดิบมาบอกเล่าประสบการณ์การกินของตัวเอง

 

ท้ายสุดคือมุมมองสังคมศาสตร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่ชัดเจน แต่เป็นมุมมองสำหรับเข้าใจปัญหาคนปัจจุบัน ผมเองเสนอเรื่องการกินของดิบในเกาหลี เวียดนาม และญี่ปุ่น  

 

ผมเสนอสองประเด็นคือ การเข้าใจอาหารที่แตกต่างกันต้องอาศัยการก้าวข้ามพรมแดนวัฒนธรรมที่ซับซ้อนลึกซึ้งมาก การแปลทางวัฒนธรรมอาจช่วยได้ สองคือ การบริหารจัดการการกินของดิบไม่ใช่ด้วยการกำจัดการกินดิบ แต่จะทำอย่างไรให้การกินดิบปลอดภัย ดังตัวอย่างในญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนามที่ผมประสบมาด้วยตัวเอง

 

ที่ผมเสนออย่างนี้เพราะ จากที่ฟังมาวันแรก ผมได้ยินแต่หมอพูดว่าพวกเขาพยายามรณรงค์ต่อสู้กับโรคนี้มานานหลายสิบปีแล้ว ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที ก็แสดงว่าเขายังไม่เข้าใจความลึกซึ้งของที่มาของโรคที่มันไม่ได้อยู่แค่โรคกับนิสัยการกิน แต่ยังมีโครงสร้างสังคมใหญ่โตมากมาย

 

ที่ผมดักคอว่าต้องแก้ที่การทำความเข้าใจแล้วแก้ระบบให้เอื้อการกินของผู้คนไม่ใช่แก้นิสัยการกิน เพราะผมฟังหมอพูดว่าเขาพยายามจะแก้นิสัยการกินของคน เมื่อแก้ผู้ใหญ่ไม่ได้แล้วก็จะแก้เด็ก โดยหวังพึ่งการศึกษา ที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ และด้วยเพราะที่ผมเห็นอยู่คือ การจัดการกับการดื่มแอลกอฮอล์แบบหมอไทย ก็คือการเน้นการกำจัด มากกว่าการจัดการให้ดื่มอย่างปลอดภัย ซึ่งอย่างหลังยุ่งยากกว่ามากแน่นอน

 

ช่วงสรุปของวันที่สอง หมออังกฤษที่เป็นโต้โผใหญ่ของการจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งหวังว่าจะก่อตั้งโครงการความร่วมมือกันขนาดใหญ่ ระยะยาว เพื่อไปขอทุนวิจัยที่เชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ลุกขึ้นมาบอกว่าการนำเสนอเรื่องการกินของดิบของผม "ไม่เข้าเรื่อง" แล้วก็วนเวียนพูดย้ำข้อเท็จจริงที่บรรดาหมอเล่ามาในวันแรกอีกว่า ประเทศไทยประสบปัญหานี้มาก พวกเราอยากมาช่วย ช่วยเสนออะไรให้เข้าเรื่องหน่อย

 

แล้วไม่นานนักก็มีหมออีกคนที่ไม่ได้ถูกเชิญมาแต่แรกในการประชุมครั้งนี้ เป็นคนละกลุ่มหมอ คนละแนวคิดกัน เป็นหมออเมริกันที่แนะนำตัวเองว่าอยู่ไทยมา 4 ปีแล้ว รู้ว่าปัญหามันมากกว่าแค่ตัวโรคและนิสัยการกิน แล้วจึงเกิดการโต้เถียงกันและบริภาษใส่กัน ก็ไม่ถึงกับใช้คำหยาบคาย แต่แสดงทัศนคติที่รุนแรงต่อกันอย่างที่ไม่มีใครในห้องประชุมทั้ง 30 คนที่ต่างก็มีประสบการณ์ทางวิชาการมามากมายจะเคยพบเห็นมาก่อน

 

อีกครึ่งวันที่สาม หมอที่เถียงกันทั้งสองคนไม่ปรากฏตัว ฝ่ายหมอเริ่มพูดก่อนอย่างอารีอารอบเหมือนรู้ตัวว่าหัวหน้าทีมพวกเขาพลาดไปแล้วที่บอกปัดข้อเสนอของผู้ที่รับเชิญมาเสนอมุมมองที่แตกต่างไปจากพวกเขา ในการคุยกันรอบสุดท้ายนี้ วัตถุประสงค์คือเพื่อพัฒนาโครงการวิจัยขึ้นมา

 

เสียดายที่ผมอยู่ได้ไม่ทันจบ ต้องกลับออกมาเสียก่อน แต่ก็ดูว่าทิศทางของการสนทนาจะไปด้วยดีมากขึ้น ผมก็ได้แต่หวังว่าโครงการวิจัยนี้จะเกิดขึ้นจริง โดยที่ไม่ต้องมีนักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องอาหารอยู่ในนั้นเลยก็ได้ หรือจะเป็นใครคนอื่นแทนก็ตาม

 

ขณะนี้ผมกำลังอยู่ในการจัดการกับมิชชั่นที่สอง มาเก็บข้อมูลที่เพชรบุรี ได้รู้เรื่องน่าตื่นเต้น เรื่องใหม่ๆ พบเรื่องที่คิดว่าน่าจะเจอ ซึ่งก็ได้เจอจริง แต่เจอมากกว่าที่คิดอีก เอาไว้จะหาเวลามาเขียนเล่าใหม่ครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย