Skip to main content

จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 

ส่วนชื่อสุดท้าย ปัจจุบันคนกลุ่มเดียวกันนี้ใช้มากขึ้น แต่ที่ใช้มากกว่าคือที่ประเทศเวียดนาม

แต่หากจะให้พูดกันอย่างรัดกุมแล้ว คนทั้งสองถิ่นมีพื้นเพเดียวกัน ถิ่นฐานหลักคือที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม หากแต่พวกเขาส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนมาเป็นไพร่เป็นทาสในจังวัดเพชรบุรีหลายระลอก นับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ของกรุงเทพฯ

ผมไม่อยากยืนยันว่าชื่อใดถูกต้องที่สุด เพราะแม้แต่ชื่อ "ไทดำ" หรือหากออกเสียงให้ใกล้เคียงหน่อยคือ "ไต๊ลำ" หรือ "ไตดำ" ก็ยังไม่ใช่ชื่อที่คนกลุ่มนี้ในเวียดนามเรียกตัวเองเสมอมาก่อนนานแล้วอยู่ดี พวกเขานิยมเรียกตนเองตาม "เมือง" ที่พวกเขาสังกัดมากกว่า เช่น ไต๊ลา ไต๊หม้วย คือคนเมืองลา คนเมืองหม้วย เป็นต้น

ถึงที่สุดแล้วคำว่า ไต๊ หรือ ไต หรือ ไท หมายถึงคนในสังกัดของเมือง หรือคนในสังกัดของสังคมหนึ่ง ความเป็น "ไท" จึงไม่ได้แปลว่า "อิสระ" อย่างที่บางคนเข้าใจ แต่แปลว่าการเป็นผู้มีสังกัด ซึ่งหมายถึงการเป็นไพร่ ก็คือการเป็นผู้ไม่อิสระนั่นแหละ ข้อถกเถียงเหล่านี้หากยังไม่ได้อ่านงานอีกมากมาย เช่นงานของ George Condominas เรื่อง social space ของคนไต หรืองานของจิตร ภูมิศักดิ์เรื่อง "ความเป็นมาฯ" และหากไม่รู้ภาษาไท-ลาว ก็อาจไม่เข้าใจ และได้โปรดเข้าใจประเด็นเหล่านั้นก่อนจึงค่อยมาเถียงกับผม

ที่จริงแค่ว่าด้วยคำเรียก ยังมีอีกคำคือคำว่า "ผู้" หรือหากออกเสียงแบบคนไทในเวียดนามภาคตะวันตกจะเป็น ฝู่ หมายถึงคน หรือชาว คำนี้เป็นอีกคำที่คนกลุ่มนี้ใช้เรียกตนเอง เช่น ผู้ลาว ผู้ไท เป็นต้น

เฉพาะแค่เกริ่นนำก็ยืดยาวเสียแล้ว ที่จริงผมแค่อยากเล่าว่า ในการไปเยือนประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน งานอีกส่วนของผมคือการไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคน "ลาวโซ่ง" ที่จังหวัดเพชรบุรี หลัก ๆ แล้วผมได้พบคน 3 คน และได้ประโยชน์จากการไปพบปะผู้คนที่นั่นหลายประการด้วยกัน

 

 

หนึ่ง ผมได้ตรวจสอบภาษาเท่าที่ผมจะทำได้ ก็คือด้วยการอาศัยสำเนียงภาษาไตดำที่ผมเรียนมาจากเวียดนาม มาฟัง มาพูดกับคนที่เพชรบุรี ผมพบว่าเมื่อเข้าไปอยู่ในบริบทของการสนทนาของเขาจริง ๆ ก็ได้ยินเสียงที่แทบจะทายกันได้สนิทกับเสียงภาษาไตดำที่ผมคุ้นเคยที่เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงวรรณยุกต์ จะมีเสียงพยัญชนะบางตัวที่มีเสียงต่างออกไปแล้ว เช่นเสียง ฝ ถูกแทนที่ด้วยเสียง ผ ส่วนเสียง z แบบภาษาอังกฤษที่มีในคำไตดำซึ่งเทียบกับภาษาไทยภาคกลางว่า อย เช่น อยาก ก็เปลี่ยนเป็นเสียง อย แบบภาษาไทยกลางมากขึ้น

เมื่อเทียบคำศัพท์ โดยเฉพาะกับคนที่ยังรู้คำศัพท์เก่า ๆ ก็พบว่าคนที่เพชรบุรีใช้คำศัพท์ชุดเดียวกันกับที่เวียดนามหลายคำทีเดียว คำเหล่านี้แทบจะไม่ค่อยใช้หรือไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนไทยภาคกลางด้วยซ้ำ เช่นคำศัพท์ในชีวิตประจำวันอย่างคำว่า "เอ๊ม" ที่แปลว่าแม่ "คั่น" ซึ่งแปลว่าสบายดี "คว๊า" ซึ่งแปลว่า อย่างนั้นหรือ "โซ้บ" ซึ่งแปลว่าปาก หรือ "นั้น" ซึ่งแปลว่าเสียงอื้ออึง "อ๋วย" ซึ่งแปลว่าสกปรก

สรุปรวม ๆ แล้วในด้านภาษา ผมไปเจอคนที่นั่นหลายคนแล้วได้ความรู้สึกคอนข้างเหมือนกลับไปเยือนถิ่นไตดำในเวียดนาม ที่ยุ่งยากสำหรับผมคือการต้องใช้คำไทยแทนคำเวียดในกรณีที่เป็นคำศัพท์สมัยใหม่ อย่างคำว่า การเมือง รัฐบาล เศรษฐกิจ คำพวกนี้ไตดำในเวียดนามใช้คำเวียดแทน ผมก็ชินกับการใช้คำเวียดแทนคำเหล่านั้นเมื่อพูดภาษาไทดำมากกว่าใช้คำไทยแทน เมื่อพูดกับคนที่เพชรบุรี ผมก็ต้องคอยสำกดให้ตัวเองใช้คำไทยแทน

แม้ภาษาจะต่างไปบ้าง แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นคนกลุ่มที่เป็นญาติกันกับคน "ไตดำ" ในเวียดนามอย่างแน่นอน มากกว่าจะเป็นคนไตขาวและคนไตแดง หรือคนไท-ไตกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศเวียดนาม

สอง คนกลุ่มนี้ยังคงดำรงความเป็น "ลาวโซ่ง" "ไทดำ" ของตนอย่างค่อนข้างเข้มแข็ง ถึงแม้ว่าจะผ่อนปรนหย่อนยานไปบ้างในบางยุคสมัย แต่ผมคิดว่าพวกเขาจะยิ่งค่อย ๆ รื้อฟื้นความเป็นตัวตนของพวกเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันและในอนาคต ที่ว่าพวกเขาดำรงอัตลักษณ์ตนเองอย่างเข้มแข็งก็เพราะว่า พวกเขายังคงนับถือผีบรรพบุรุษของพวกเขาอย่างเข้มข้น ประเพณีกระทั่งเกิด การดูแลผีรายสัปดาห์ การเลี้ยงผีเรือนเป็นระยะ ๆ การแต่งงาน และที่สำคัญอย่างยิ่งคือพิธีกรรมของความตาย ยังคงเหนียวแน่นผ่านความเชื่อเรื่องผีแบบของพวกเขา

ที่น่าสนใจคือยังมีคนสืบทอดการเป็น "หมอ" และ "มด" อยู่อย่างสำคัญ แน่นอนว่ารายละเอียดของพิธีกรรมคงเปลี่ยนแปลง หย่อนยานลงไปบ้าง

ที่ว่าน่าจะยิ่งเข้มข้นขึ้นก็เพราะว่า รัฐไทยค่อนข้างให้อิสระในการจัดการชีวิตตนเองของคนกลุ่มนี้ แม้พวกเขาจะมีวัดและเข้าวัดบ้าง แต่ก็ไม่ได้กลายเป็น "ชาวพุทธ" แบบชาวไทยทั่วไป

 

 

การเมืองท้องถิ่นสัมพันธ์กับการรื้อฟื้นและธำรงอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างยิ่ง หากการเมืองระดับชาติที่เป็นเผด็จการอย่างยิ่งในขณะนี้ไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงทำให้ทุกคนกลายเป็น "ไทย" เหมือนๆ กันหมด และหากการเมืองระดับชาติไม่รวบอำนาจการปกครองท้องถิ่น งานประเพณีประเภท "ข่วง" หรืองานรื่นเริงพบปะสังสรรกันระหว่างคน "ลาวโซ่ง" จากถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยที่พอดีผมได้ไปเห็นในการไปเยือนถิ่นพวกเขาครั้งนี้ คงจะยังคงสืบสานไปพร้อม ๆ กับการคงธรรมเนียมต่าง ๆ ไว้

สาม ที่ผมสนใจเป็นพิเศษและเป็นแกนหลักของการไปเยือนครั้งนี้คือ การไปสืบสาวถึงวรรณกรรมทั้งที่เป็นตัวอักษรและที่เป็นมุขปาฐะ ผมพบอะไรน่าสนใจหลายอย่าง คร่าว ๆ ก็เช่น ผมพบว่าคนลาวโซ่งรุ่มรวยวรรณกรรมทั้งประเภทอักขระและมุขปาฐะมาก พวกเขามีวรรณกรรมเขียนที่ยังคงพอที่จะสืบสาวหาได้มากมายจนหากผมจะเรียนจนตายก็เรียนได้ไม่หมดทุกเล่ม ผมได้แต่คิดเสียดายว่า แวดวงวิชาการ แวดวงวรรณกรรม และแวดวงผู้สนใจเรื่องอักษรในประเทศไทยใส่ใจวรรณกรรมของพวกเขาน้อยเกินไปหรือแทบจะไม่มีใครสนใจเลย ทั้ง ๆ ที่นี่คือคลังคำ คลังความรู้เรื่องภาษาและอักษรไทย-ไท-ไตเก่าแก่ที่อยู่ใกล้ตัวคนไทยมาก

มีวรรณกรรมบางเรื่องที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือเรื่อง "กว๊ามโต๊เมื๊อง" (หากสนใจให้ไปหาอ่านหนังสือเรื่อง "ประวัติศาสตร์ไทดำฯ" ที่ผมเขียน) กับเรื่อง "โสงจู้สอนสาว" (ส่งชู้สอนสาว) เรื่องแรกเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของเมืองต่าง ๆ เขียนด้วยภาษาและอักษรไทดำ ของลาวโซ่งก็มี แต่ท่านหนึ่งซึ่งเป็น "หมอ" ทำพิธีโดยอาชีพของท่านด้วยบอกเล่าว่า ที่ประเทศไทยเขาเรียกว่า "กว๊ามโต๊หญือ" หรือ "เรื่องเล่าสำคัญ" มีวิธีการใช้ที่ใกล้เคียงกันกับที่เวียดนาม คือใช้อ่านในงานศพ ปัจจุบันยังมีคนเก็บไว้ที่หนึ่ง ผมว่าจะไปเสาะหาดูเมื่อกลับไปเมืองไทย

ส่วนเรื่องส่งชู้สอนสาว คนที่รู้จักบอกว่าเขาเรียกว่า "สั่งชู้สอนสาว" ผมถามเรื่องย่อดูและได้เห็นบางส่วนของเรื่องราวที่เป็นอักษรแล้ว ก็อยากจะสรุปว่าน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ของที่เมืองไทยมีรายละเอียดที่พิสดารกว่า และดูจะมีลักษณะการประพันธ์ที่เคร่งครัดมากกว่า อาจจะเนื่องมาจากมีการตัดแต่งให้แตกต่างกันออกไป หรือมีการคัดลอกไปแต่งไปทำให้แตกต่างกันบ้าง แต่โครงเรื่องเหมือนกัน และมีบางคำกลอนที่นิยมคล้ายคลึงกัน

การมีอยู่ของวรรณกรรมทั้งสองเรื่องทำให้ผมมั่นใจว่า นอกจากวรรณกรรมทั้งสองจะเก่าแก่แล้ว อักษรไทดำยังเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 200 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมเรื่อง "เล่าความเมือง" หรือ "เล่าความใหญ่" ที่มีนักวิชาการบางคนเชื่อว่าแต่งขึ้นในเวียดนามหลังจากฝรั่งเศสเข้ามาแล้วนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะคนไตดำที่ถูกกวาดต้อนมาเพชรบุรีนั้น มาก่อนที่ฝรั่งเศสจะมีอำนาจเหนือเวียดนามกว่าร้อยปีทีเดียว ส่วนวรรณกรรมเรื่องส่งชู้สอนสาว ก็ทำให้รู้ว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ก็น่าจะเก่าแก่ไม่น้อยไปกว่าเล่าความเมือง

ผมไปเยือนถิ่นคนลาวโซ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม แต่ละครั้งก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เรียนรู้อะไรลึกซึ้งที่สุด เป็นครั้งที่ได้พูดคุยกับคนเป็นเวลานาน ๆ เป็นครั้งที่ได้เพื่อนใหม่ เป็นครั้งที่รู้สึกว่ามีอะไรให้ศึกษาค้นหาที่นี่อีกมากมาย เป็นครั้งที่ทำให้คิดงานวิจัยใหม่ ๆ ได้อีกหลายต่อหลายชิ้น และคิดว่าจะต้องกลับไปเจอผู้คนเหล่านี้อีกเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน