Skip to main content

คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง

หรือหากจะพูดอีกแบบหนึ่ง ความกักขฬะเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่ง วัฒนธรรมกักขฬะ ไม่รู้กาละเทศะ ดิบห่าม ไร้มารยาท เหยียดเพศ เหยียดชนชั้นในสังคมไทยนั้นมีอยู่เต็มไปหมด ไม่อย่างนั้นคนแบบพลเอกประยุทธ์ก็ไม่มีทางได้ดิบได้ดีจนทุกวันนี้ได้ 

แต่จะพูดอย่างนี้ก็ออกจะเหมารวมเกินไปสักหน่อย เพราะคุณหลายคนที่อ่านข้อเขียนนี้อยู่ก็คงไม่ได้เป็นคนแบบนี้ แต่คนแบบนี้มีอยู่จริง คนแบบนี้คือคนที่นิยมชมชอบการอยู่ในอำนาจของพลเอกประยุทธ์ 

ที่เห็นชัดๆ เลยคือ ผมว่าคนแบบพลเอกประยุทธ์น่าจะอยู่ในกลุ่มคนที่นิยมความรุนแรง นิยมการใช้อำนาจ นิยมระบบชายเป็นใหญ่ แล้วเป็นคนที่เติบโตในระบบสังคมที่ปิด ปิดหูปิดตาตนเอง ปิดโลกตัวเอง ไม่ค่อยคบค้าสมาคมกับคนในโลกกว้าง  

พูดง่ายๆ คือคนส่วนใหญ่ที่เติบโตในระบบทหารในประเทศไทยนั่นแหละ ดูเอาเถอะ ไม่อย่างนั้นคนอย่างพลเอกประยุทธ์จะขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นคนอย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณจะขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตได้อย่างไร 

ตรงกันข้าม คนในโลกยุคปัจจุบันคือคนที่ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่น ไม่ว่าจิตใจเบื้องลึกของเขาจะหยาบช้าอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน อยู่ต่อหน้าสังคม อยู่ในสังคมแล้ว จะต้องเข้าใจว่าระเบียบสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไร จะมาล้อเล่นกับความเป็นผู้หญิง จะมาดูถูกคนจน อย่างที่พลเอกประยุทธ์เป็นไม่ได้เด็ดขาด 

ที่เป็นอย่างนี้เพราะสังคมปัจจุบันให้คุณค่ากับความเสมอภาคกัน แล้วความเสมอภาคไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันก้าวไปข้างหน้าเสมอ มันผลักให้เราต้องคิดหน้าคิดหลัง คิดอย่างละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้นเสมอ  

เมื่อร้อยปีก่อน เราแค่เรียกร้องความเสมอภาคกันระหว่างชนชั้น แล้วต่อมาก็เรียกร้องความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ต่อมาระหว่างคนต่างชนชาติ ศาสนา ต่างวัย เรื่อยมาจนกระทั่งถึงความเสมอภาคระหว่างความเป็นเพศหรือที่เรียกว่าเพศภาวะที่มีหลากหลายจนเกินกว่าจะนับได้ถ้วนทั่ว  

แทบไม่ต้องพูดถึงความเสมอภาคระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับคนชนบท คนการศึกษาน้อยกับคนการศึกษาสูง เหล่านี้ถือเป็นความเสมอภาคที่สังคมไหนๆ เขาก็ก้าวผ่านมา เรียกว่าโลกทั้งใบเขาใส่ใจกับความเสมอภาคกัน แล้วคนแบบไหนกันที่ไม่ใส่ใจกับความเสมอภาค ดูถูกคนจน คนการศึกษาน้อย อยู่ได้ตลอด 

อย่างในสังคมการศึกษาที่ผมคุ้นเคย ปัจจุบันเมื่อยืนอยู่หน้าห้องเรียนทีไร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ห้องเรียนชวนติดตาม สนุกสนาน ท้าทายให้นักเรียนคิด โดยไม่นำเอาความบกพร่องทางกาย ทางเพศ หรือความแตกต่างด้านต่างๆ มาเป็นเรื่องเล่น ผมเองแค่จะยกตัวอย่างอะไรในห้องเรียน ก็มักจะต้องระวัง 

ทั้งต้องไม่ทำให้ความแตกต่างกลายเป็นของแปลกจนต้องกลายมาเป็นตัวอย่างเสมอ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องไม่ยกเอาความพิกลพิการมาพูดถึงจนเกินเลย อย่าว่าแต่จะพูดให้เสียหายเลย จะพูดให้คนเห็นใจยังต้องระวังว่าทำอย่างไรจะไม่กลายเป็นการสร้างความรู้สึกสงสาร แล้วจะกลับกลายเป็นการดูถูกไปเสียอีก 

ผมคิดว่าความกักขฬะ เหยียดหยามคนอื่นมีที่ทางทางสังคมของมันเองเหมือนกัน นิสัยแบบนี้อยู่ในกมลสันดานของคนจำพวกหนึ่ง เป็นคนที่สมาคมกับคนน้อย เป็นคนที่สังคมของพวกเขาไม่ใส่ใจคนอื่น ใส่ใจอยู่แต่กับระบบพวกพ้องของตนเอง เพราะความก้าวหน้าของพวกเขามาจากการใช้ความกักขฬะมากกว่าการให้ความเคารพผู้อื่น 

ฉะนั้นความกักขฬะอาจมีประโยชน์ของมันเองในสังคมแบบหนึ่ง เช่น สังคมที่ต้องการความเด็ดขาด มีความจำเป็นต้องใช้ความเผด็จการ อย่างเช่น หากเราจะฝึกสัตว์ป่าให้เชื่อง ฝึกคนให้เชื่อฟังอย่างไร้ข้อต่อรองใดๆ ก็จะต้องทำลายความเท่าเทียมลง สร้างระบบช่วงชั้นการบังคับบัญชาขึ้นมา และแน่นอนว่าเราคงต้องใช้ความกักขฬะส่วนหนึ่ง  

ในสังคมที่เต็มไปด้วยชายฉกรรจ์ถืออาวุธ ความกักขฬะในสัดส่วนที่เหมาะสม ผสมกับศรัทธาหรือความเชื่อทางสัญลักษณ์ทำให้คนเชื่อฟังอย่างซาบซึ้ง (ซึ่งจะเกินเลยจากประเด็นในที่นี้มากไป ขอไม่พูดถึง) จึงจะสามารถควบคุมให้ฝูงคนเหล่านั้นปฏิบัติตามคำสั่งได้ ความกักขฬะคงจะจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างสังคมที่มีกฎระเบียบเข้มงวดอย่างสังคมทหาร 

แต่สังคมทั่วไปไม่ใช่สังคมทหาร ประเทศชาติไม่ใช่ค่ายทหาร เราทุกคนไม่ใช่ทหาร หากทุกคนคิดแบบทหารและกลายเป็นทหารหมด ทุกคนกักขฬะหมด เราจะอยู่ในโลกใบเดียวกันนี้กับชาวโลกเขาไม่ได้ หากลูกหลานคุณเป็นคนกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์กันหมด พวกเขาจะต้องย้อนกลับมาต่อว่าคุณที่ปล่อยให้เขาโตขึ้นมากับความกักขฬะเมื่อเขาได้ออกไปเผชิญโลกกว้าง แล้วพบว่าชาวโลกเขาเลิกกักขฬะกันหมดแล้ว 

ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ สังคมกักขฬะคิดไม่เป็นก็จึงไม่เจริญก้าวหน้า ความคิดความอ่านเกิดมาจากการเป็นสังคมที่ไม่เชื่อตามๆ กัน เป็นสังคมที่กล้าแตกแถว เป็นสังคมที่เคารพคนอื่น สังคมที่จะก้าวหน้าได้ต้องเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น ให้โอกาสคนอื่น เห็นอกเห็นใจและคิดเผื่อคนอื่นเสมอ  

เราจะให้สังคมไทยปกครองด้วยคนกักขฬะอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือ เราจะต้องทนกับความกักขฬะไปอีกนานเท่าไหร่ เราอยากให้ชาวโลกเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมกักขฬะอย่างนั้นหรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย