Skip to main content

คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง

หรือหากจะพูดอีกแบบหนึ่ง ความกักขฬะเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่ง วัฒนธรรมกักขฬะ ไม่รู้กาละเทศะ ดิบห่าม ไร้มารยาท เหยียดเพศ เหยียดชนชั้นในสังคมไทยนั้นมีอยู่เต็มไปหมด ไม่อย่างนั้นคนแบบพลเอกประยุทธ์ก็ไม่มีทางได้ดิบได้ดีจนทุกวันนี้ได้ 

แต่จะพูดอย่างนี้ก็ออกจะเหมารวมเกินไปสักหน่อย เพราะคุณหลายคนที่อ่านข้อเขียนนี้อยู่ก็คงไม่ได้เป็นคนแบบนี้ แต่คนแบบนี้มีอยู่จริง คนแบบนี้คือคนที่นิยมชมชอบการอยู่ในอำนาจของพลเอกประยุทธ์ 

ที่เห็นชัดๆ เลยคือ ผมว่าคนแบบพลเอกประยุทธ์น่าจะอยู่ในกลุ่มคนที่นิยมความรุนแรง นิยมการใช้อำนาจ นิยมระบบชายเป็นใหญ่ แล้วเป็นคนที่เติบโตในระบบสังคมที่ปิด ปิดหูปิดตาตนเอง ปิดโลกตัวเอง ไม่ค่อยคบค้าสมาคมกับคนในโลกกว้าง  

พูดง่ายๆ คือคนส่วนใหญ่ที่เติบโตในระบบทหารในประเทศไทยนั่นแหละ ดูเอาเถอะ ไม่อย่างนั้นคนอย่างพลเอกประยุทธ์จะขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นคนอย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณจะขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตได้อย่างไร 

ตรงกันข้าม คนในโลกยุคปัจจุบันคือคนที่ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่น ไม่ว่าจิตใจเบื้องลึกของเขาจะหยาบช้าอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน อยู่ต่อหน้าสังคม อยู่ในสังคมแล้ว จะต้องเข้าใจว่าระเบียบสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไร จะมาล้อเล่นกับความเป็นผู้หญิง จะมาดูถูกคนจน อย่างที่พลเอกประยุทธ์เป็นไม่ได้เด็ดขาด 

ที่เป็นอย่างนี้เพราะสังคมปัจจุบันให้คุณค่ากับความเสมอภาคกัน แล้วความเสมอภาคไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันก้าวไปข้างหน้าเสมอ มันผลักให้เราต้องคิดหน้าคิดหลัง คิดอย่างละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้นเสมอ  

เมื่อร้อยปีก่อน เราแค่เรียกร้องความเสมอภาคกันระหว่างชนชั้น แล้วต่อมาก็เรียกร้องความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ต่อมาระหว่างคนต่างชนชาติ ศาสนา ต่างวัย เรื่อยมาจนกระทั่งถึงความเสมอภาคระหว่างความเป็นเพศหรือที่เรียกว่าเพศภาวะที่มีหลากหลายจนเกินกว่าจะนับได้ถ้วนทั่ว  

แทบไม่ต้องพูดถึงความเสมอภาคระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับคนชนบท คนการศึกษาน้อยกับคนการศึกษาสูง เหล่านี้ถือเป็นความเสมอภาคที่สังคมไหนๆ เขาก็ก้าวผ่านมา เรียกว่าโลกทั้งใบเขาใส่ใจกับความเสมอภาคกัน แล้วคนแบบไหนกันที่ไม่ใส่ใจกับความเสมอภาค ดูถูกคนจน คนการศึกษาน้อย อยู่ได้ตลอด 

อย่างในสังคมการศึกษาที่ผมคุ้นเคย ปัจจุบันเมื่อยืนอยู่หน้าห้องเรียนทีไร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ห้องเรียนชวนติดตาม สนุกสนาน ท้าทายให้นักเรียนคิด โดยไม่นำเอาความบกพร่องทางกาย ทางเพศ หรือความแตกต่างด้านต่างๆ มาเป็นเรื่องเล่น ผมเองแค่จะยกตัวอย่างอะไรในห้องเรียน ก็มักจะต้องระวัง 

ทั้งต้องไม่ทำให้ความแตกต่างกลายเป็นของแปลกจนต้องกลายมาเป็นตัวอย่างเสมอ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องไม่ยกเอาความพิกลพิการมาพูดถึงจนเกินเลย อย่าว่าแต่จะพูดให้เสียหายเลย จะพูดให้คนเห็นใจยังต้องระวังว่าทำอย่างไรจะไม่กลายเป็นการสร้างความรู้สึกสงสาร แล้วจะกลับกลายเป็นการดูถูกไปเสียอีก 

ผมคิดว่าความกักขฬะ เหยียดหยามคนอื่นมีที่ทางทางสังคมของมันเองเหมือนกัน นิสัยแบบนี้อยู่ในกมลสันดานของคนจำพวกหนึ่ง เป็นคนที่สมาคมกับคนน้อย เป็นคนที่สังคมของพวกเขาไม่ใส่ใจคนอื่น ใส่ใจอยู่แต่กับระบบพวกพ้องของตนเอง เพราะความก้าวหน้าของพวกเขามาจากการใช้ความกักขฬะมากกว่าการให้ความเคารพผู้อื่น 

ฉะนั้นความกักขฬะอาจมีประโยชน์ของมันเองในสังคมแบบหนึ่ง เช่น สังคมที่ต้องการความเด็ดขาด มีความจำเป็นต้องใช้ความเผด็จการ อย่างเช่น หากเราจะฝึกสัตว์ป่าให้เชื่อง ฝึกคนให้เชื่อฟังอย่างไร้ข้อต่อรองใดๆ ก็จะต้องทำลายความเท่าเทียมลง สร้างระบบช่วงชั้นการบังคับบัญชาขึ้นมา และแน่นอนว่าเราคงต้องใช้ความกักขฬะส่วนหนึ่ง  

ในสังคมที่เต็มไปด้วยชายฉกรรจ์ถืออาวุธ ความกักขฬะในสัดส่วนที่เหมาะสม ผสมกับศรัทธาหรือความเชื่อทางสัญลักษณ์ทำให้คนเชื่อฟังอย่างซาบซึ้ง (ซึ่งจะเกินเลยจากประเด็นในที่นี้มากไป ขอไม่พูดถึง) จึงจะสามารถควบคุมให้ฝูงคนเหล่านั้นปฏิบัติตามคำสั่งได้ ความกักขฬะคงจะจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างสังคมที่มีกฎระเบียบเข้มงวดอย่างสังคมทหาร 

แต่สังคมทั่วไปไม่ใช่สังคมทหาร ประเทศชาติไม่ใช่ค่ายทหาร เราทุกคนไม่ใช่ทหาร หากทุกคนคิดแบบทหารและกลายเป็นทหารหมด ทุกคนกักขฬะหมด เราจะอยู่ในโลกใบเดียวกันนี้กับชาวโลกเขาไม่ได้ หากลูกหลานคุณเป็นคนกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์กันหมด พวกเขาจะต้องย้อนกลับมาต่อว่าคุณที่ปล่อยให้เขาโตขึ้นมากับความกักขฬะเมื่อเขาได้ออกไปเผชิญโลกกว้าง แล้วพบว่าชาวโลกเขาเลิกกักขฬะกันหมดแล้ว 

ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ สังคมกักขฬะคิดไม่เป็นก็จึงไม่เจริญก้าวหน้า ความคิดความอ่านเกิดมาจากการเป็นสังคมที่ไม่เชื่อตามๆ กัน เป็นสังคมที่กล้าแตกแถว เป็นสังคมที่เคารพคนอื่น สังคมที่จะก้าวหน้าได้ต้องเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น ให้โอกาสคนอื่น เห็นอกเห็นใจและคิดเผื่อคนอื่นเสมอ  

เราจะให้สังคมไทยปกครองด้วยคนกักขฬะอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือ เราจะต้องทนกับความกักขฬะไปอีกนานเท่าไหร่ เราอยากให้ชาวโลกเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมกักขฬะอย่างนั้นหรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"