Skip to main content

คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง

หรือหากจะพูดอีกแบบหนึ่ง ความกักขฬะเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่ง วัฒนธรรมกักขฬะ ไม่รู้กาละเทศะ ดิบห่าม ไร้มารยาท เหยียดเพศ เหยียดชนชั้นในสังคมไทยนั้นมีอยู่เต็มไปหมด ไม่อย่างนั้นคนแบบพลเอกประยุทธ์ก็ไม่มีทางได้ดิบได้ดีจนทุกวันนี้ได้ 

แต่จะพูดอย่างนี้ก็ออกจะเหมารวมเกินไปสักหน่อย เพราะคุณหลายคนที่อ่านข้อเขียนนี้อยู่ก็คงไม่ได้เป็นคนแบบนี้ แต่คนแบบนี้มีอยู่จริง คนแบบนี้คือคนที่นิยมชมชอบการอยู่ในอำนาจของพลเอกประยุทธ์ 

ที่เห็นชัดๆ เลยคือ ผมว่าคนแบบพลเอกประยุทธ์น่าจะอยู่ในกลุ่มคนที่นิยมความรุนแรง นิยมการใช้อำนาจ นิยมระบบชายเป็นใหญ่ แล้วเป็นคนที่เติบโตในระบบสังคมที่ปิด ปิดหูปิดตาตนเอง ปิดโลกตัวเอง ไม่ค่อยคบค้าสมาคมกับคนในโลกกว้าง  

พูดง่ายๆ คือคนส่วนใหญ่ที่เติบโตในระบบทหารในประเทศไทยนั่นแหละ ดูเอาเถอะ ไม่อย่างนั้นคนอย่างพลเอกประยุทธ์จะขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นคนอย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณจะขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตได้อย่างไร 

ตรงกันข้าม คนในโลกยุคปัจจุบันคือคนที่ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่น ไม่ว่าจิตใจเบื้องลึกของเขาจะหยาบช้าอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน อยู่ต่อหน้าสังคม อยู่ในสังคมแล้ว จะต้องเข้าใจว่าระเบียบสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไร จะมาล้อเล่นกับความเป็นผู้หญิง จะมาดูถูกคนจน อย่างที่พลเอกประยุทธ์เป็นไม่ได้เด็ดขาด 

ที่เป็นอย่างนี้เพราะสังคมปัจจุบันให้คุณค่ากับความเสมอภาคกัน แล้วความเสมอภาคไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันก้าวไปข้างหน้าเสมอ มันผลักให้เราต้องคิดหน้าคิดหลัง คิดอย่างละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้นเสมอ  

เมื่อร้อยปีก่อน เราแค่เรียกร้องความเสมอภาคกันระหว่างชนชั้น แล้วต่อมาก็เรียกร้องความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ต่อมาระหว่างคนต่างชนชาติ ศาสนา ต่างวัย เรื่อยมาจนกระทั่งถึงความเสมอภาคระหว่างความเป็นเพศหรือที่เรียกว่าเพศภาวะที่มีหลากหลายจนเกินกว่าจะนับได้ถ้วนทั่ว  

แทบไม่ต้องพูดถึงความเสมอภาคระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับคนชนบท คนการศึกษาน้อยกับคนการศึกษาสูง เหล่านี้ถือเป็นความเสมอภาคที่สังคมไหนๆ เขาก็ก้าวผ่านมา เรียกว่าโลกทั้งใบเขาใส่ใจกับความเสมอภาคกัน แล้วคนแบบไหนกันที่ไม่ใส่ใจกับความเสมอภาค ดูถูกคนจน คนการศึกษาน้อย อยู่ได้ตลอด 

อย่างในสังคมการศึกษาที่ผมคุ้นเคย ปัจจุบันเมื่อยืนอยู่หน้าห้องเรียนทีไร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ห้องเรียนชวนติดตาม สนุกสนาน ท้าทายให้นักเรียนคิด โดยไม่นำเอาความบกพร่องทางกาย ทางเพศ หรือความแตกต่างด้านต่างๆ มาเป็นเรื่องเล่น ผมเองแค่จะยกตัวอย่างอะไรในห้องเรียน ก็มักจะต้องระวัง 

ทั้งต้องไม่ทำให้ความแตกต่างกลายเป็นของแปลกจนต้องกลายมาเป็นตัวอย่างเสมอ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องไม่ยกเอาความพิกลพิการมาพูดถึงจนเกินเลย อย่าว่าแต่จะพูดให้เสียหายเลย จะพูดให้คนเห็นใจยังต้องระวังว่าทำอย่างไรจะไม่กลายเป็นการสร้างความรู้สึกสงสาร แล้วจะกลับกลายเป็นการดูถูกไปเสียอีก 

ผมคิดว่าความกักขฬะ เหยียดหยามคนอื่นมีที่ทางทางสังคมของมันเองเหมือนกัน นิสัยแบบนี้อยู่ในกมลสันดานของคนจำพวกหนึ่ง เป็นคนที่สมาคมกับคนน้อย เป็นคนที่สังคมของพวกเขาไม่ใส่ใจคนอื่น ใส่ใจอยู่แต่กับระบบพวกพ้องของตนเอง เพราะความก้าวหน้าของพวกเขามาจากการใช้ความกักขฬะมากกว่าการให้ความเคารพผู้อื่น 

ฉะนั้นความกักขฬะอาจมีประโยชน์ของมันเองในสังคมแบบหนึ่ง เช่น สังคมที่ต้องการความเด็ดขาด มีความจำเป็นต้องใช้ความเผด็จการ อย่างเช่น หากเราจะฝึกสัตว์ป่าให้เชื่อง ฝึกคนให้เชื่อฟังอย่างไร้ข้อต่อรองใดๆ ก็จะต้องทำลายความเท่าเทียมลง สร้างระบบช่วงชั้นการบังคับบัญชาขึ้นมา และแน่นอนว่าเราคงต้องใช้ความกักขฬะส่วนหนึ่ง  

ในสังคมที่เต็มไปด้วยชายฉกรรจ์ถืออาวุธ ความกักขฬะในสัดส่วนที่เหมาะสม ผสมกับศรัทธาหรือความเชื่อทางสัญลักษณ์ทำให้คนเชื่อฟังอย่างซาบซึ้ง (ซึ่งจะเกินเลยจากประเด็นในที่นี้มากไป ขอไม่พูดถึง) จึงจะสามารถควบคุมให้ฝูงคนเหล่านั้นปฏิบัติตามคำสั่งได้ ความกักขฬะคงจะจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างสังคมที่มีกฎระเบียบเข้มงวดอย่างสังคมทหาร 

แต่สังคมทั่วไปไม่ใช่สังคมทหาร ประเทศชาติไม่ใช่ค่ายทหาร เราทุกคนไม่ใช่ทหาร หากทุกคนคิดแบบทหารและกลายเป็นทหารหมด ทุกคนกักขฬะหมด เราจะอยู่ในโลกใบเดียวกันนี้กับชาวโลกเขาไม่ได้ หากลูกหลานคุณเป็นคนกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์กันหมด พวกเขาจะต้องย้อนกลับมาต่อว่าคุณที่ปล่อยให้เขาโตขึ้นมากับความกักขฬะเมื่อเขาได้ออกไปเผชิญโลกกว้าง แล้วพบว่าชาวโลกเขาเลิกกักขฬะกันหมดแล้ว 

ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ สังคมกักขฬะคิดไม่เป็นก็จึงไม่เจริญก้าวหน้า ความคิดความอ่านเกิดมาจากการเป็นสังคมที่ไม่เชื่อตามๆ กัน เป็นสังคมที่กล้าแตกแถว เป็นสังคมที่เคารพคนอื่น สังคมที่จะก้าวหน้าได้ต้องเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น ให้โอกาสคนอื่น เห็นอกเห็นใจและคิดเผื่อคนอื่นเสมอ  

เราจะให้สังคมไทยปกครองด้วยคนกักขฬะอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือ เราจะต้องทนกับความกักขฬะไปอีกนานเท่าไหร่ เราอยากให้ชาวโลกเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมกักขฬะอย่างนั้นหรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย