Skip to main content

หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด

ที่จริงจะพูดไปเรื่องนี้อย่างไรเสียก็ว่ากันได้ทุกคน ว่ากันได้ตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯ คนที่เป็นที่นิยมมาก จนถึงผู้มีอำนาจในทุกวันนี้ จนถึงชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราๆ ใครๆ ก็ทำผิดกันได้ทั้งนั้น แล้วหลายคนก็ไม่ยอมรับผิดของตนเองกันได้ทั้งนั้น แต่ความผิดบางกรณีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม เพราะเป็นความผิดต่อสาธารณชน ไม่ใช่ความผิดต่อใครคนใดคนหนึ่ง

เช่นว่า ความผิดที่ดูเล็กน้อย เหมือนไม่เป็นภัยแต่ดูใจบุญอย่างกรณีนกเงือก หรือความผิดที่ดูผู้กระทำกลับอ้างการตกเป็นเหยื่อของการลวงโลกเสียเองอย่างกรณี GT200 รวมทั้งกรณีศิลปินที่มีส่วนร่วมกับการปูทางไปสู่การรัฐประหารที่บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แต่ผู้กระทำกลับปฏิเสธราวกับว่าขณะนั้นรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งๆ ที่ก็ยังร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการทำลายสิทธิเสรีภาพมาจนหลังรัฐประหาร ตลอดจนกรณีก่อนหน้านั้นที่ใหญ่ๆ ก็คงจำกันได้ที่อดีตนายกฯ คนหนึ่งยอมรับเองว่ามีการสั่งให้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ยอมรับผิด กลับบอกว่า "โชคร้ายที่มีคนตาย" 

เรื่องนี้มีสามคำถามที่น่าคิดคือ 1. ทำไมสังคมจึงสนใจบางความผิดของบางคนเป็นพิเศษ 2. ทำไมการยอมรับผิดของบางคนจึงยากเย็นนัก แล้ว 3. ทำไมประเทศไทยจึงไม่สามารถเอาผิดกับผู้มีอำนาจได้เสียที 

แน่นอนบางคนคงอยากจะบอกว่า เรื่องนี้มันก็เลวกันทุกฝ่ายนั่นแหละ แต่ที่ผมว่าที่เลวร้ายยิ่งกว่า สร้างความผิดหวังต่อสังคมยิ่งกว่า และทำลายความเชื่อมั่นต่อความดีงามมากที่สุด ก็คือกรณีของคนที่ออกตัวแรงกับสังคมว่าเป็นคนดี อยู่ข้างความถูกต้อง อยู่ตรงข้ามกับคนโกง ทำดีให้สังคมรับรู้สม่ำเสมอ แต่เมื่อตนเองทำผิดพลาด กลับเฉไฉแถไปมาด้วย "คำแก้ตัว" (คำนี้สำคัญนะครับ เป็นคนละคำกับ "เหตุผล") ต่างๆ นานา 

นี่ชวนให้คิดถึงข้อเท็จจริงทางสังคมอย่างหนึ่งของวัฒนธรมไทยว่า การรักษาหน้าตาสำคัญกว่าความละอายต่อการทำบาป สังคมไทยให้ความสำคัญกับหน้าตาทางสังคม มากกว่าหลักการในอุดมคติ เขาจึงยอมผิดหลักการแต่ไม่ยอมเสียหน้า อุดมคติเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ หลายครั้งทำดีตามอุดมคติแล้วไม่ได้หน้า ได้เพียงความรู้สึกดีอยู่ในใจคนเดียว แต่คนไทยชอบทำดีพร้อมกับได้หน้า เพราะหน้าตามาพร้อมกับฐานะพิเศษทางสังคม 

หน้าตาสำคัญเพราะหน้าตารักษาความคาดหวังต่อบทบาทตามสายสัมพันธ์ทางสังคม คนที่มีอำนาจ ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้ที่สังคมให้ความนับถือยกย่อง ย่อมไม่อยากสูญเสียสถานภาพทางสังคม เพราะในกลไกทางสังคมของสังคมไทย เมื่อใครก็ตามมีอำนาจ มีคนยกย่องสรรเสริญ เขาย่อมมีโอกาสได้รับอภิสิทธิ์พิเศษ และยิ่งมีโอกาสได้สืบทอดให้คงอยู่ในสถานภาพพิเศษนั้นไปได้นานๆ มากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะเช่นนั้น 

ลึกไปกว่านั้น ผมว่ามีอีกส่วนที่ผมคิดว่าอาจจะทำให้คนเหล่านี้ไม่ยอมรับผิด คนเหล่านี้อาจจะเกรงกลัวโทษทัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการเสียหน้า เพราะการรับผิดทางสังคมย่อมอาจจะส่งผลให้เขากลายเป็นผู้สารภาพผิดในทางนิตินัยไปด้วยโดยปริยาย ข้อนี้ผมไม่รู้เหมือนกันว่าในทางกฎหมายจะถือได้หรือเปล่าว่า เมื่อผู้ทำผิดได้รับสารภาพผิดต่อสาธารณชนไปแล้ว ก็เหมือนปูทางไปสู่การต้องรับผิดในกระบวนการยุติธรรมไปด้วย 

ประเด็นที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้นคือ "วัฒนธรรมการปล่อยให้คนผิดลอยนวล"(impunity) ที่จริงผมไม่ได้รู้เรื่องนี้มากนัก ก็อ่านเอาจากหลายๆ คนที่เคยเขียนไว้แล้ว แนวคิดนี้พูดถึงการปล่อยปละละเลยไม่ให้เกิดความรับผิดชอบของความผิดในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ก่อความผิดเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง  

นี่ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็น "นักการเมือง" ในความหมายแคบ แต่ยังรวมถึงคนมีอำนาจในการบริหารประเทศ พูดง่ายๆ คือ ผู้นำเผด็จการที่อ้างว่าเข้ามายึดอำนาจเพื่อกำจัดนักการเมือง ตัวเขาเองก็เป็นนักการเมืองด้วยเหมือนกัน และต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองที่ต้องสามารถถูกดำเนินการด้วยกระบวนการยุติธรรมได้เช่นกัน แต่คนผิดที่ขี้ขลาดและหน้าด้านส่วนมากก็ย่อมนิรโทษกรรมตนเองให้ปลอดจากความผิดทั้งหมดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็คือประกาศตั้งแต่แรกที่ทำผิดว่า พวกเขาไม่ยอมรับผิด

ความไม่รับผิดต่อความผิดสาธารณะของผู้มีอำนาจ เป็นพื้นฐานของการปล่อยให้ผู้มีอำนาจที่กระทำผิดลอยนวล เมื่อเราปล่อยปละละเลยต่อการลงโทษผู้มีอำนาจที่กระทำผิด ผู้ที่เป็นเหยื่อของความผิดเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมก็ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ สุดท้ายสังคมก็ไม่อาจไปสู่การให้อภัยกันแล้วหันหน้ากลับมากล้ำกลืนจนสุดท้ายยอมปรองดองกันได้  

แล้วสุดท้าย วัฎจักรการไม่รู้จักรับผิดก็ผลิตซ้ำตัวมันเอง สังคมจึงปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอำนาจกระทำผิดต่อประชาชนได้ต่อไปอย่างซ้ำซาก จนกลายเป็นวัฒนธรรมไม่รับผิดของสังคมไทย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้