Skip to main content

อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน

 

สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้เสมอ ทั้งจากคนเกาหลีที่เจอที่เกาหลีและที่ประเทศอื่นๆ คือ คนเกาหลีเป็นคนเปิดเผย คุยด้วยไม่เท่าไหร่ก็แลกเปลี่ยนความเห็นแสดงทัศนะได้อย่างสนิทสนม ข้อนี้แตกต่างจากคนเวียดนามเหนือ คนญี่ปุ่น และคนอเมริกันส่วนหนึ่ง แต่คล้ายกับคนไต้หวัน คนไทย คนกลุ่มน้อยในเวียดนาม และคนเวียดนามใต้ ผมไม่รู้ว่าบุคคลิกแบบนี้เกิดขึ้นมาจากอะไรได้อย่างไร เกี่ยวอะไรไหมกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แต่โดยทั่วๆ ไป เท่าที่ผมได้รู้จักคนเหล่านี้ ก็รู้สึกอย่างนั้น

 

ความเป็นสังคมค่อนข้างเปิดของสังคมเกาหลีผมว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นมาพอสมควร และน่าจะสร้างอย่างเป็นระบบด้วยโครงสร้างการเมืองที่เปิดต่อการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากที่เกาหลีล้มระบอบเผด็จการและลัทธิทหารไปแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 1980 สิ่งหนึ่งที่ผมว่าเป็นตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดคือ การที่เกาหลีไม่บังคับให้มีเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อนเกาหลีบอกว่า โรงเรียนประถมส่วนใหญ่และมัธยมส่วนหนึ่งไม่บังคับให้นักเรียนต้องแต่งชุดนักเรียน บางโรงเรียนจะแต่งก็เป็นตามระเบียบของโรงเรียน ไม่ใช่ระเบียบของรัฐบาล ผมจึงเห็นเด็กนักเรียนประถมจำนวนหนึ่งย้อมผมไปเรียนได้ ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย ไม่ต้องพูดถึงว่าพวกเขาจะแต่งตัวอย่างไรก็เรื่องของเด็กกับผู้ปกครอง

 

ในแง่ของชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงโซล โซลนั้นเหนือกรุงเทพฯ ในด้านของการสร้างพื้นที่ของการพักผ่อนหย่อนใจและย่านการค้า ผมไปเดินทั้งย่านการค้ารอบๆ Dongdaemun และอีกหลายย่าน เพื่อนเกาหลีอธิบายว่า ดงแดมุนแปลว่าประตูตะวันออกดง (เสียง ออกเสียงแบบมีลม ฟังดูคล้าย th แต่เป็น dh ซึ่งภาษาไทยไม่มี) แปลว่าตะวันออก เป็นย่านการค้าเก่าแก่ ปัจจุบันมีสวนสาธารณะกับอาคารพิลึกกึกกือขนาดใหญ่เรียก Dongdaemun Design Plaza ด้านนอกและด้านในมีกิจกรรมมากมายและมีร้านค้าจำนวนมาก วันที่ผมเดินผ่านมีการแสดงดนตรีของคณะดนตรีเล็กๆ แบบที่มักเจอในสวนสาธารณะของเมืองใหญ่

 

บริเวณรอบๆ นี้เป็นย่านการค้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าเสื้อผ้าขายส่ง เพื่อนเกาหลีบอกว่าย่านนี้เหมือนประตูน้ำที่กรุงเทพฯ ผมเดาว่านี่น่าจะเป็นที่ที่แม่ค้าไทยเดินทางมาซื้อเสื้อผ้าเกาหลีกลับไปขายต่อที่เมืองไทยกัน ผมก็เลยสนใจอยากเดินดู อยากสำรวจร้านค้าส่ง เพราะผมก็เคยช่วยพี่สาวทั้งขายส่งและซื้อเสื้อผ้าค้าส่งที่ประตูน้ำอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเดินๆ ไปสักพักในช่วงเย็นวันหนึ่ง ก็พบว่า ร้านส่วนใหญ่ยังไม่เปิด เขามักจะเปิดเวลากลางคืน จนถึงเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง ซึ่งผมหมดแรงมาเดินต่อแล้ว ก็เลยได้แค่เดินรอบๆ ช่วงเย็นวันหนึ่ง บริเวณพอให้ได้เห็นบรรยากาศ

 

จากนั้นก็เดินในย่านนั้นเรื่อยมาจนถึงโรงแรมที่พัก ก็พบว่าบริเวณรอบๆ นั้นมีลักษณะเหมือนสำเพ็งปนๆ กับย่านเชียงกง มีทั้งร้านของใหม่และของเก่า ตั้งปะปนกันเต็มไปหมด แถมวันเสาร์ยังมีการจัดตลาดนัด มีคนเอาของมาขายแบกะดินเจ้าเล็กๆ คล้ายรอบๆ สนามหลวงและคลองหลอดเมื่อก่อน หากใครสนใจสำรวจตลาดพวกนี้ในโซลก็แนะนำว่าต้องไปเดินย่านนี้

 

อีกย่านที่เดินอย่างเพลิดเพลินเป็นย่านนักท่องเที่ยว ที่มีทั้งคนเกาหลีและคนต่างชาติเต็มพอสมควร ก็คือย่านเมืองเก่าใกล้ๆ พระราชวัง เป็นย่านการค้าฝั่งตะวันออกของพระราชวังกีอองบุ๊กคุง อยู่บริเวณถัดจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดใหญ่ ที่เพื่อนเกาหลีบอกว่าเป็นเหมือน MOMA ของเกาหลี ย่านนี้ชวนให้นึกถึงย่านร้านค้าตามรายทางเดินขึ้นวัดคิโยมิสึและกิอองของเกียวโตในญี่ปุ่น เพราะนอกจากร้านค้าเล็กๆ แล้ว ยังเป็นถนนเล็กๆ ที่มีอาคารบ้านเรือนโบราณ เป็นตรอกซอกซอยที่มีเค้ารางของเส้นทางเก่าๆ และมีร้านให้เช่าชุดประจำชาติเกาหลีทั้งชายและหญิง ก็เลยมีคนเช่าชุดมาใส่เดินถ่ยรูปเป็นจำนวนจำนวนมาก นอกจากนั้นบริเวณนี้ยังมีร้านอาหารมากมาย ผมเดินเล่นแถวนี้อย่างเพลิดเพลินแล้วก็นั่งจิบเครื่องดื่มร้านหนึ่งอยู่ยาวนาน หากกลับไปโซลอีกก็อยากจะกลับไปเดินย่านนี้อีก

 

อีกย่านที่มีโอกาสได้ไปเดินแม้จะเพียงสั้นๆ คือ ย่านประตูใต้หรือ Namdaemun ย่านนี้เป็นย่านช้อปปิ้ง ที่มีร้านค้ามากมาย ร้านเสื้อผ้าและร้านเครื่องสำอางจำนวนมากตั้งอยู่บริเวณนี้ เพื่อนเกาหลีบอกว่า ถ้าไม่ไปเดินที่คังนัม (Gangnam แปลว่า ด้านใต้ของแม่น้ำ เพราะตั้งอยู่ทางใต้ของแม้น้ำ Han ที่มีขนาดกว้างใหญ่) คนก็จะมาช้อปปิ้งที่นี่กัน ซึ่งราคาส่วนใหญ่ถูกกว่าที่คังนัม แต่เพื่อนก็ยังบอกว่า ปัจจุบันคนเกาหลีไม่ค่อยเดินย่านนี้กัน เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินจับจ่ายกันจำนวนมาก จนทำให้ราคาสินค้าบางอย่างสูงขึ้นไปโดยไม่จำเป็น แต่เหตุที่ผมได้ไปเดินผ่านย่านนี้เพราะเดินทางไปเที่ยวที่เขานามซาน ซึ่งใกล้บริเวณนั้น แล้วเพื่อนพาเดินมาหาของกินที่ร้านซึ่งเพื่อนอยากแนะนำให้กิน ร้านตั้งอยู่ในย่านนี้พอดี

 

ย่านเดินเล่น กิน ดื่ม จับจ่ายของที่มีลักษณะเฉพาะตัว และเป็นย่านเกิดใหม่ไม่เกินสิบกว่าปีนี้ที่คนเกาหลีเองก็ชอบไปเดินไปออกเดทกันคือย่านนกซาปีออง (Noksapyeong) เพื่อนเกาหลีบอกว่า ย่านนี้มีคนต่างชาติอาศัยอยู่มาก จึงมาเดินจับจ่ายจำนวนมาก สังเกตดูก็เป็นอย่างนั้น แต่คนต่างชาติเหล่านี้เพื่อนบอกว่ามักไม่ใช่นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวไม่ค่อยมาเดินย่านนี้กัน คนเกาหลีก็เลยชอบมาเดิน ย่านนี้คนละอารมณ์กับย่านรอบพระราชวังเลย เพราะหนุ่มสาวที่มาที่นี่แต่งตัวทันสมัยกัน เขามาหาของกินแปลกๆ ร้านรวงแถวนี้แข่งขันกันด้วยความเฉพาะตัว ด้วยฝีมือการทำอาหาร ด้วยสินค้าเฉพาะร้าน เสียดายที่มีเวลาน้อย จึงแทบไม่ได้เดินย่านนี้ นอกจากมาพักดื่มกาแฟหลังกลับจากเดินพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ย่านนี้อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ

 

ผู้คนที่เปิดเผย เป็นกันเอง กับการสร้างเมืองให้มีที่เดินเล่น จับจ่าย และแสดงออก เป็นบรรยากาศของสังคมเมืองที่น่าอยู่ทีเดียว เว้นแต่ว่าคนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่สามารถอยู่ในเมืองโซลได้ ต้องๆ ไปๆ กลับๆ การเดินทางฝ่ารถติดแสนสาหัสบางเวลาบางช่วง และการขนส่งมวลชนก็ยังรองรับได้ไม่เต็มที่ ทำให้คนเกาหลีขับรถกันอย่างก้าวร้าว ยังดีที่แท็กซี่ราคาไม่สูงนัก

 

ชมภาพที่ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=783827708422282&id=173987589406300

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้