Skip to main content

เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 

อาจารย์ภาสกรให้แนวทางมาก่อนหน่อยนึงว่า ละครดัดแปลงจากบทละครชื่อ Death and the Maiden แสดงในวาระ 40 ปี 6 ตุลา แต่เลื่อนมาแสดงเดือนนี้แทน

ดูละครจบ ผมก็ไม่รู้ว่าละคร "รื้อ" น่ะรื้ออะไรได้บ้าง แต่ผมเสนอให้แลกเปลี่ยนประเด็น 4-5 ประเด็น สำหรับหลายคนประเด็นเหล่านี้ก็คงเป็นเรื่องพื้น ๆ แหละครับ แต่ก็ขอบันทึกไว้สั้น ๆ ไว้ก็แล้วกัน แล้วจะพยายามไม่เล่าเรื่องราวของละครมากนัก
 
1. function of art ความเป็นศิลปะกับการมีบทบาทเสนอความจริง ละครหรืองานศิลปะทั่วมีข้อได้เปรียบงานวิจัยหรือตำราวิชาการหลายอย่าง นอกจากนำเสนอเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าแล้ว ยังสามารถสื่อถึงความจริงที่วิธีการทางวิชาการสื่อไม่ได้ 
 
นอกจากนั้น ในภาวะที่การพูดความจริงถูกปิดกั้น ความจริงหลายอย่างต้องพูดผ่านศิลปะ ที่อาศัยความกำกวม แต่สื่อถึงระดับของความหมายได้หลายชั้น เปิดให้มีการคิดวิเคราะห์ ตีความ ถกเถียงได้มาก นี่ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบของศิลปะ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมเผด็จการ และน่าจะยิ่งมีบทบาทในสังคมไทยยุคเผด็จการปัจจุบัน
 
2. art as analogy หากจะวางละครนี้ในบริบทของมัน แน่นอนว่าเป็นบริบทเฉพาะของการเมืองชิลีหลังยุคเผด็จการปิโนเช่ แต่ละครเรื่องนี้ไม่ได้สื่อถึงเรื่องนี้เฉพาะในบริบทของมันแน่นอน เพราะเมื่อนำมาวางทาบกับการเมืองเผด็จการในประเทศอื่น ๆ แล้ว ก็กลับทำให้เราเข้าใจการเมืองเผด็จการและภาวะหลังเผด็จการของที่อื่น ๆ ได้ดีเช่นกัน การนำละครเรื่องนี้มาทาบกับวาระ 40 ปี 6 ตุลาของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวจึงทำหน้าของของการละครแบบนี้ได้ดีทีเดียว
 
ผมบอกเล่าไปว่า นี่ทำให้นึกถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น หนังสือ 1984 ของ George Orwell ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการอ่านเพื่อเข้าใจภาวะการปิดกั้นเสรีภาพของสังคมเผด็จการอย่างข้ามพื้นที่ ข้ามกาลเวลาได้เช่นกัน ดังที่ผมได้ไปพบว่า ในเวียดนามขณะนี้ก็มีการเผยแพร่ 1984 ฉบับแปลภาษาเวียดนามในความหมายเดียวกันกับที่ประเทศไทย
 
3. trauma representation ผมเคยอ่านงานศึกษาทางมานุษยวิทยา (Charred Lullabies: Chapters in an Anthropography of Violence พิมพ์ปี 1996 เขียนโดย E.V. Daniel) ที่พยายามเข้าใจผู้ประสบกับภาวะบาดแผลทางจิตใจอันเนื่องมาจากถูกกระทำรุนแรงจากวิกฤติการทางการเมือง ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการเป็นเหยื่อของความรุนแรงทำให้ผู้เป็นเหยื่อไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ที่เขาประสบมาได้ ในหนังสือเล่มนั้น คนเขียนจึงอาศัยวิธีอื่นในการรับรู้เรื่องราวของเหยื่อ นั่นคือผ่านงานศิลปะ ทั้งทัศนศิลป์และเรื่องเขียน ของผู้ประสบความรุนแรง
 
ละครเรื่องนี้เป็นหนึ่งในวิธีการเล่า trauma ของคน ไม่ว่าจะเป็นคนชิลี หรือคนที่อื่น ๆ ที่ประสบภาวะการถูกกระทำรุนแรงนั้นได้อย่างดี
 
4. gender of the victim ทำไมบทละครนี้และเราจะเห็นบทละครเกี่ยวกับเหยื่อของความรุนแรงจำนวนมาก จึงเล่าถึงเหยื่อของความรุนแรงด้วยผู้หญิงและความเป็นผู้หญิง ทั้งผู้หญิงในเชิงกายภาพและในเชิงวัฒนธรรมถูกใช้เป็นสื่อแสดงความเป็นเหยื่อของความรุนแรงเสมอ บ่อยมากเสียจนทำให้ทั้งผู้หญิงและเหยื่อความรุนแรงถูกตีตรา พร้อมอาจจะเป็นการสถาปนาสัญลักษณ์หลักของการเป็นเหยื่อความรุนแรง บดบังการเข้าใจเหยื่อความรุนแรงจากมุมมองอื่น
 
ลองคิดดูว่าถ้าเหยื่อความรุนแรงเป็นคนเพศอื่น ๆ เป็นผู้ชาย เป็นคนข้ามเพศที่เป็นชาย เราคงจะเข้าใจทั้งความรุนแรงและเหยื่อความรุนแรงต่างออกไปได้บ้าง เช่น อันที่จริงเหยื่อที่เป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา มักจะเป็นผู้ชาย ด้วยเหตุที่พวกเขาเป็นผู้ชายด้วยหรือเปล่าที่ทำให้สังคมไทยสนใจเหยื่อและความรุนแรงในเหตุการณ์นั้นน้อยเกินไป
 
5. political context บริบททางการเมืองของละครเรื่องนี้กับการเมืองไทยก็น่าสนใจ ในบริบทดั้งเดิมของละครเรื่องนี้ เป็นยุคหลังปิโนเชลงจากอำนาจใหม่ ๆ  ปิโนเช่เป็นประธานาธบดีชิลีปี 1973-1990 ขึ้นสู่อำนาจด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกาเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ 1975 หลังไซ่ง่อนแตก ในไทย ปี 1990 ประชาธิปไตยครึ่งใบเริ่มเสื่อมลง อีกสองปีจากนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 (1992) 
 
เมื่อเทียบกันแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลี ที่หลังปิโนเช่มีการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง มีกระบวนการของการก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือ transitional justice ไม่ถึงกับทำได้ดีนัก แต่ก็ยังดูดีกว่าประเทศไทยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลีเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง เกิดขึ้นแทบจะพร้อม ๆ กับการตกต่ำลงของเผด็จการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในไทย ช่วงทศวรรษ 1980-1990 แต่ทำไมสถาบันทหารไทยถึงหวนกลับมามีอำนาจได้อีกในทศวรรษ 2000-2010 ข้อนี้ยังต้องศึกษากันต่อไป
 
ยังมีประเด็นที่ผู้ชมคนอื่น ๆ และผู้จัดละครเองแลกเปลี่ยนกับผู้ชมอีกมากมาย เป็นบรรยากาศการพูดคุยหลังละครที่เข้มข้น สร้างสรรค์ และได้ความรู้จากหลายกหลายมุมมองและประสบการณ์อย่างยิ่ง ผมได้เรียนรู้ ได้คิดเพิ่มเติมอีกมากมาย
 
ยังไปดูกันได้ครับ ที่สถาบันปรีดีฯ ทองหล่อ โดยคณะละครพระจันทร์เสี้ยว จะแสดงต่อวันนี้ (20 พย.) รอบบ่ายสองและสองทุ่ม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้