Skip to main content

รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่เพราะคนไทยติดใจรักใครรถกระบะเป็นพิเศษหรอก แต่เพราะโครงส้รางราคารถและราคาน้ำมัน รวมทั้งโครงสร้างการขนส่งในประเทศไทยต่างหาก ที่ทำให้รถกระบะเป็นที่นิยม การที่รัฐไม่พัฒนาระบบการขนส่งมวลชน ไม่พัฒนาระบบรถไฟทั่วประเทศ แต่อาศัยหากินกับการผลิตและการขายรถยนตร์นี่แหละ ที่ทำให้การบริโภครถกระบะเติบโตขึ้นมา
หลายคนคงรู้ดีกว่าผมว่า ประเทศไทยผลิตรถกระบะทั้งขายและส่งออกมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หากกวาดตาดูประเทศรอบบ้าน หรือมองให้ไกลไปว่าประเทศไทย มีประเทศไหนบ้างที่ใช้รถกระบะมากทั้งจำนวนและประเภทการใช้งานเท่าประเทศไทย ไม่มีหรอกครับ
เมื่อสักยี่สิบปีที่ผ่านมา รถกระบะจึงเป็นที่นิยมอย่างล้นหลาม ไม่เพียงคนซื้อรถกระบะแบบใช้นั่งสองคนแล้วมีกระบะบรรทุกด้านหลัง รถกระบะเองยังพัฒนาการออกแบบให้มี "แคป" นั่งหลังได้ แถมพัฒนาประตูให้เปิดกลับด้าน เพื่อให้ขึ้นนั่งบนแคปได้ รถกระบะจึงกลายเป็นรถอเนกประสงค์ แล้วมีการดัดแปลงใช้โครงสร้างรถกระบะต่อเติมเป็นรถแวน เรียกลูกค้าที่อยากใช้รถแวนราคาประหยัดได้อีกจำนวนมาก
การดัดแปลงรถกระบะเป็นรถสองแถวก็ไม่ใช่สิ่งที่เก่าแก่อะไรนัก เพิ่งจะมีมาเมื่อไม่เกิน 30 ปีมานี้เอง เดิมทีสมัยผมเด็กๆ ในกรุงเทพฯ หรือรวมทั้งรถโดยสารราคาถูกในต่างจังหวัด รถสองแถวล้วนแต่เป็นรถบรรทุก 6 ล้อที่ดัดแปลงมาเป็นรถโดยสารประจำทาง รถกระบะถูกดัดแปลงเป็นรถสองแถวเมื่อไม่นานมานี้เอง อาจจะด้วยความคุ้มทุนกว่า ขนาดเล็กเหมาะกับถนนเมืองไทยมากกว่า คล่องตัวกว่า และน่าจะประหยัดกว่ารถบรรทุก
เพื่อนๆ ญาติๆ ผมหลายคนเปรยอยู่เสมอๆ ว่า หากจะซื้อรถ เขาไม่อยากซื้อรถเก๋งหรอก ซื้อรถกระบะดีกว่า ได้ประโยชน์กว่า ขนได้ทั้งของและคน เรื่องบรรทุกคนท้ายรถกระบะเป็นเรื่องธรรมดา ผมเองก็ยังเคยนั่งท้ายรถกระบะระยะทางเป็นร้อยกิโลมาแล้ว แถมรถกระบะยังสมบุกสมบัน อายุการใช้งานยาวนาน และประหยัดค่าน้ำมันมากกว่า
ความผูกพันกับรถกระบะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ดัดแปลงไปมากมาย คนอยู่บนเขา นอกจากจะเชี่ยวชาญการขับรถบนที่สูงแล้ว รถกระบะแรงดี พอถึงหน้าฝน ถนนเข้าหมู่บ้านมีแต่ดินเบน รถกระบะยังถูกดัดแปลงเอาโซ่พันล้อ ให้วิ่งได้ราวรถตีนตะขาบ ตะกุยดินเลนได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่ารถขับเคลื่อนสี่ล้อ
เมื่อสิบกว่าปีมานี้ รถกระบะจึงกลายเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของคนจำนวนหนึ่ง และยิ่งกว่านั้นคือ รถกระบะกลายเป็นวัตถุทางวัฒนธรรม รถกระบะถูกใช้เป็นพาหนะบรรทุกคนและถังน้ำเล่นสาดน้ำกันในช่วงสงกรานต์ นั่นเป็นภาพที่เห็นกันทั่วไป
นอกจากนั้น สักสิบปีมานี้ ยังมีการดัดแปลงรถกระบะติดเครื่องเสียง เปิดเสียงดังชนิดจะเรียกเผื่อแผ่หรือยัดเยียดเพื่อนร่วมท้องถนนก็แล้วแต่มุมมอง แต่ชมรมคนรักเครื่องเสียงติดท้ายรถกระบะก็สร้างวัฒนธรรมการใช้รถพ่วงไปกับรสนิยมการฟังเพลงเน้นจังหวะและการเต้นท้ายรถกระบะ งานมอร์เตอร์โชว์ไทยจึงไม่เหมือนที่ไหนในโลก ที่รถกระบะกลายเป็นสื่อทางเพศแบบเน้นผู้ชายมองเรือนร่างผู้หญิงยิ่งกว่ารถเก๋ง ใครจะชอบหรือไม่ชอบวัฒนธรรมแบบนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง
หากเห็นว่าการใช้รถกระบะอย่างทุกวันนี้เป็นความผิดเพี้ยน มันก็ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวกันมาตั้งแต่โครงสร้างการจัดการการคมนาคม และเหนืออื่นใดคือความด้อยประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการนโยบายการขนส่งนั่นแหละ แทนที่จะมาไล่เบี้ยเล่นงานแต่กับคนรายได้จำกัด สู้เอาสมองไปคิดถึงการจัดการเรื่องใหญ่ๆ ไม่ดีกว่าเหรอครับ หรือเพราะไม่เคยถูกฝึกให้คิดเรื่องใหญ่ ถูกฝึกให้ใช้แต่กำลัง ก็เลยเห็นแต่วิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย