Skip to main content

ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา

เนื่องจากปีนั้นเป็นปีแรกที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ต้องเรียนที่รังสิต 1 ปี ห้องสมุดที่ มธ. รังสิตยังโหรงเหรงมาก หนังสือแทบจะไม่มี แต่พอพบว่าห้องสมุดธรรมศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ดีเหลือหลาย เป็นคลังความรู้มหาศาล ผมก็แทบจะไม่ได้เข้าห้องเรียนปี 1 ที่รังสิตอีกเลย ส่วนใหญ่มาขลุกอยู่ห้องสมุดที่ท่าพระจันทร์ (กับมุ่งมั่นฝึกเขียนรูปเพราะอยากย้ายไปเรียนศิลปะที่ศิลปากร)  

ที่ห้องสมุดธรรมศาสตร์ หนังสือของจิตรเล่มแรกๆ ที่ผมอ่านไม่ใช่ "โฉมหน้าศักดินาไทย" เพราะขณะนั้นจำได้ว่าหนังสือเล่มนี้ยังเป็นหนังสือต้องห้ามอยู่ ยังอ่านไม่ได้ แต่ภายหลังเมื่อได้อ่านแล้วก็ไม่ชอบนัก ไม่ประทับใจเท่าใดนัก ผมกลับชอบ "สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยอยุธยา" มากกว่า อ่านแล้วเปิดหูเปิดตามาก แทบจะเป็นการกระแทกทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเรียนมาทั้งหมด ในสายตาของเด็กที่เพิ่งจบมัธยมมา  

สมัยนั้นเพื่อนร่วมรุ่นผมคนหนึ่งคลั่งไคล้งานของจิตรมาก เขาเป็นคนเรียนเก่งมาก ผมรู้จักเขาเพราะเรียน รด. ด้วยกัน เป็นนักเรียน รด. กลุ่มเล็กๆ เพราะพวกเราออกจากโรงเรียนก่อน ม. 6 ก็เลยต้องมาเรียน รด. ต่ออีกปีตอนเรียนปี 1 ซึ่งก็ทำให้ได้เจอเพื่อนต่างคณะหลายคน รวมทั้งคนนี้แหละ เพื่อนๆ เรียกเขาว่า "ไอ้หลง" ไอ้หลงมาเรียน รด. ทีไรหอบหนังสือ 4-5 เล่มมาตลอด  

ผมกับหลงมักคุยกันเรื่องงานเขียนของจิตร ที่จริงไอ้หลงมันคุมบทสนทนามากกว่า เพราะมันช่างพูด ผมชอบฟังมันด้วย น้ำเสียงมันเพราะดีกับมันพูดจาภาษาไทยเพราะดี มันชอบภาษาและวรรณคดี แล้วมันก็บรรยายความงามของงานบทกวีของจิตรได้สนุกมาก มันเอาไปเทียบกับงานท่านจันทร์ เทียบกับใครต่อใครที่ผมไม่รู้จักอีกหลายคน แล้วมันก็อธิบายความงามของเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ให้ฟังอย่างจับใจ ผมก็เลยต้องพลอยไปหางานเขียนบทกวีของจิตรมาอ่านบ้าง แต่ก็ไม่ได้ใจความอะไรลึกซึ้งเท่าที่ไอ้หลงมันอ่านหรอก 

นอกจาก "สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาฯ" แล้ว งานเขียนประวัติศาสตร์ที่ผมชอบมากคือ "ตำนานแห่งนครวัด" เล่มนี้อ่านรวดเดียวจบ อ่านสนุกมาก เพราะนอกจากได้ความรู้ต่างๆ แล้ว จิตรเขียนด้วยลีลาการประพันธ์แบบการเดินทางท่องเที่ยว ที่ตัวเขาเองที่สวมบทผู้เล่าที่ดูเหมือนไม่มีความรู้อะไรมากมาย แต่เล่าไปเล่ามาได้สนุกสนานมาก และนั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่ทำให้ผมสนใจประวัติศาสตร์กัมพูชาและประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเล่มนั้นผมหางานเกี่ยวกับนครวัดอ่านอีกหลายเล่ม แต่ไม่มีเล่มไหนประทับใจเท่าที่จิตรเขียน 

เดิมทีผมก็คิดว่าจิตรเขียนแต่งานประวัติศาสตร์ แล้วก็มองข้ามงาน "ความเป็นมาของคำสยามฯ" ส่วนหนึ่งคงเพราะเป็นหนังสือเล่มหนามาก แล้วขณะนั้นก็คิดว่าอ่านยากมาก แต่หลังๆ มาผมคิดว่า ในบรรดาหนังสือของจิตร ผมชอบงานเขียนแนวชาติพันธ์ุของเขามากที่สุด 

สารภาพเลยว่าครั้งแรกที่ได้อ่าน "ความเป็นมาของคำสยามฯ" ผมกำลังเรียนปริญญาเอก พอดีไปเยี่ยมญาติพ่อที่ทางใต้ บ้านเก่าของพ่ออยู่ริมทะเล ไปอยู่นั่นวันๆ ไม่มีอะไรทำ นั่นแหละถึงได้นั่งอ่านหนังสือเล่มนี้จริงๆ จังๆ นอนในเปลอ่านริมทะเลอย่างสนุกสนานรวดเดียวจบ แล้วได้มาอ่านจริงจังอีกครั้งก็เมื่อ บก. ธนาพล แห่งฟ้าเดียวกัน ให้มาพูดเปิดตัวโครงการพิมพ์หนังสือจิตร ภูมิศักดิ์อีกครั้งหนึ่งที่ธรรมศาสตร์  

สุดท้ายบทความชิ้นนี้ของผมไปพิมพ์ใน "ศิลปวัฒนธรรม" เป็นบทความชิ้นแรกและชิ้นเดียวในชีวิตผมที่ได้รับเกียรติจากวารสารนี้ (แต่ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยและ สกอ. ไม่ให้ค่าบทความที่พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมนะครับ) 

มีครั้งหนึ่งที่หยิบหนังสือ "ภาษาละหุหรือมูเซอร์" ของจิตรมาอ่าน แต่แล้วไม่ค่อยเข้าใจ เข้าใจว่าเป็นผลงานที่จิตรเองไม่ได้เขียนเป็นเรื่องเป็นราวเท่ากับว่าจะรวมรวมคำศัพท์และเรื่องเล่าบางอย่าง แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของผลงานในคุกที่เขาเขียนจากการสัมภาษณ์คนละหุที่มาติดคุกด้วยกัน   

หนังสืออีกเล่มที่อ่านจริงจังคือ "โองการแช่งน้ำฯ" นี่ก็อ่านหลังจบปริญญาเอก อ่านรวดเดียวจบเช่นกัน ตอนนั้นเป็นงานครบรอบจิตรเช่นกัน แต่เป็นที่จุฬาฯ จัด เป็นงานใหญ่ มีนักวิชาการรุ่นเดียวกับผมหลายคนอ่านงานจิตรแล้วมาเสนอความเห็นใหม่ๆ หลายอย่าง นอกจากนั้นยังได้ฟังทัศนะของนักวิชาการรุ่นใหญ่อย่างอาจารย์ยิ้ม โต้โผจัดงานครั้งนั้น สุดท้ายงานผมกลายมาเป็นบทความรวมเล่มอยู่ในหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับจิตรที่อาจายร์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเป็นบรรณาธิการ 

อีกเล่มที่อ่านค่อนข้างจริงจังคือ "ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน" อ่านเพื่อไปพูดเรื่องศิลปะเพื่อชีวิตที่ร้านหนังสือก็องดิด ตอนนั้นร้านยังอยู่ที่ถนนตะนาว ผมอ่านไปหงุดหงิดไปกับวิธีคิดทางศิลปะของจิตร แล้วเถียงในใจไปตลอด ผมเอาวิธีคิดเกี่ยวกับศิลปะแบบมาร์กซิสต์ของ Raymond Williams ไปเถียงด้วยตลอด เพราะเห็นว่าข้อเสนอของจิตรแข็งทื่อเกินไป เสียดายที่ยังไม่มีโอกาสเขียนร่างที่พูดตอนนั้นเป็นบทความสักที ขณะนี้ก็คงหาร่างนั้นไม่เจอแล้วด้วย 

งานของจิตรที่ผมอ่านส่วนใหญ่อ่านสนุก อ่านแล้วชวนให้คิด ชวนให้เถียง มีทั้งหลักฐานและหลักเหตุผลที่หนักแน่นมาก แต่เขาก็เขียนหนังสือแบบท้าทาย เขียนด้วยภาษาที่เหมือนการเล่าเรื่อง เมื่อจบปริญญาเอกแล้วกลับมาสอนหนังสือ ผมให้นักศึกษาอ่านงานของจิตรมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความเป็นมาฯ" ผมให้นักศึกษาอ่านทุกปี ไม่ว่าจะชั้นปริญญาตรี โท หรือเอก ผมคิดว่า ถ้านักศึกษารุ่นหลังๆ จะไม่รู้จักงานเขียนที่ยิ่งใหญ่ของนักวิชาการไทยคนไหนเลย อย่างน้อยเขาจะต้องรู้จักและได้อ่านงานของจิตร ภูมิศักดิ์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา