Skip to main content

ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา

เนื่องจากปีนั้นเป็นปีแรกที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ต้องเรียนที่รังสิต 1 ปี ห้องสมุดที่ มธ. รังสิตยังโหรงเหรงมาก หนังสือแทบจะไม่มี แต่พอพบว่าห้องสมุดธรรมศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ดีเหลือหลาย เป็นคลังความรู้มหาศาล ผมก็แทบจะไม่ได้เข้าห้องเรียนปี 1 ที่รังสิตอีกเลย ส่วนใหญ่มาขลุกอยู่ห้องสมุดที่ท่าพระจันทร์ (กับมุ่งมั่นฝึกเขียนรูปเพราะอยากย้ายไปเรียนศิลปะที่ศิลปากร)  

ที่ห้องสมุดธรรมศาสตร์ หนังสือของจิตรเล่มแรกๆ ที่ผมอ่านไม่ใช่ "โฉมหน้าศักดินาไทย" เพราะขณะนั้นจำได้ว่าหนังสือเล่มนี้ยังเป็นหนังสือต้องห้ามอยู่ ยังอ่านไม่ได้ แต่ภายหลังเมื่อได้อ่านแล้วก็ไม่ชอบนัก ไม่ประทับใจเท่าใดนัก ผมกลับชอบ "สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยอยุธยา" มากกว่า อ่านแล้วเปิดหูเปิดตามาก แทบจะเป็นการกระแทกทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเรียนมาทั้งหมด ในสายตาของเด็กที่เพิ่งจบมัธยมมา  

สมัยนั้นเพื่อนร่วมรุ่นผมคนหนึ่งคลั่งไคล้งานของจิตรมาก เขาเป็นคนเรียนเก่งมาก ผมรู้จักเขาเพราะเรียน รด. ด้วยกัน เป็นนักเรียน รด. กลุ่มเล็กๆ เพราะพวกเราออกจากโรงเรียนก่อน ม. 6 ก็เลยต้องมาเรียน รด. ต่ออีกปีตอนเรียนปี 1 ซึ่งก็ทำให้ได้เจอเพื่อนต่างคณะหลายคน รวมทั้งคนนี้แหละ เพื่อนๆ เรียกเขาว่า "ไอ้หลง" ไอ้หลงมาเรียน รด. ทีไรหอบหนังสือ 4-5 เล่มมาตลอด  

ผมกับหลงมักคุยกันเรื่องงานเขียนของจิตร ที่จริงไอ้หลงมันคุมบทสนทนามากกว่า เพราะมันช่างพูด ผมชอบฟังมันด้วย น้ำเสียงมันเพราะดีกับมันพูดจาภาษาไทยเพราะดี มันชอบภาษาและวรรณคดี แล้วมันก็บรรยายความงามของงานบทกวีของจิตรได้สนุกมาก มันเอาไปเทียบกับงานท่านจันทร์ เทียบกับใครต่อใครที่ผมไม่รู้จักอีกหลายคน แล้วมันก็อธิบายความงามของเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ให้ฟังอย่างจับใจ ผมก็เลยต้องพลอยไปหางานเขียนบทกวีของจิตรมาอ่านบ้าง แต่ก็ไม่ได้ใจความอะไรลึกซึ้งเท่าที่ไอ้หลงมันอ่านหรอก 

นอกจาก "สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาฯ" แล้ว งานเขียนประวัติศาสตร์ที่ผมชอบมากคือ "ตำนานแห่งนครวัด" เล่มนี้อ่านรวดเดียวจบ อ่านสนุกมาก เพราะนอกจากได้ความรู้ต่างๆ แล้ว จิตรเขียนด้วยลีลาการประพันธ์แบบการเดินทางท่องเที่ยว ที่ตัวเขาเองที่สวมบทผู้เล่าที่ดูเหมือนไม่มีความรู้อะไรมากมาย แต่เล่าไปเล่ามาได้สนุกสนานมาก และนั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่ทำให้ผมสนใจประวัติศาสตร์กัมพูชาและประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเล่มนั้นผมหางานเกี่ยวกับนครวัดอ่านอีกหลายเล่ม แต่ไม่มีเล่มไหนประทับใจเท่าที่จิตรเขียน 

เดิมทีผมก็คิดว่าจิตรเขียนแต่งานประวัติศาสตร์ แล้วก็มองข้ามงาน "ความเป็นมาของคำสยามฯ" ส่วนหนึ่งคงเพราะเป็นหนังสือเล่มหนามาก แล้วขณะนั้นก็คิดว่าอ่านยากมาก แต่หลังๆ มาผมคิดว่า ในบรรดาหนังสือของจิตร ผมชอบงานเขียนแนวชาติพันธ์ุของเขามากที่สุด 

สารภาพเลยว่าครั้งแรกที่ได้อ่าน "ความเป็นมาของคำสยามฯ" ผมกำลังเรียนปริญญาเอก พอดีไปเยี่ยมญาติพ่อที่ทางใต้ บ้านเก่าของพ่ออยู่ริมทะเล ไปอยู่นั่นวันๆ ไม่มีอะไรทำ นั่นแหละถึงได้นั่งอ่านหนังสือเล่มนี้จริงๆ จังๆ นอนในเปลอ่านริมทะเลอย่างสนุกสนานรวดเดียวจบ แล้วได้มาอ่านจริงจังอีกครั้งก็เมื่อ บก. ธนาพล แห่งฟ้าเดียวกัน ให้มาพูดเปิดตัวโครงการพิมพ์หนังสือจิตร ภูมิศักดิ์อีกครั้งหนึ่งที่ธรรมศาสตร์  

สุดท้ายบทความชิ้นนี้ของผมไปพิมพ์ใน "ศิลปวัฒนธรรม" เป็นบทความชิ้นแรกและชิ้นเดียวในชีวิตผมที่ได้รับเกียรติจากวารสารนี้ (แต่ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยและ สกอ. ไม่ให้ค่าบทความที่พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมนะครับ) 

มีครั้งหนึ่งที่หยิบหนังสือ "ภาษาละหุหรือมูเซอร์" ของจิตรมาอ่าน แต่แล้วไม่ค่อยเข้าใจ เข้าใจว่าเป็นผลงานที่จิตรเองไม่ได้เขียนเป็นเรื่องเป็นราวเท่ากับว่าจะรวมรวมคำศัพท์และเรื่องเล่าบางอย่าง แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของผลงานในคุกที่เขาเขียนจากการสัมภาษณ์คนละหุที่มาติดคุกด้วยกัน   

หนังสืออีกเล่มที่อ่านจริงจังคือ "โองการแช่งน้ำฯ" นี่ก็อ่านหลังจบปริญญาเอก อ่านรวดเดียวจบเช่นกัน ตอนนั้นเป็นงานครบรอบจิตรเช่นกัน แต่เป็นที่จุฬาฯ จัด เป็นงานใหญ่ มีนักวิชาการรุ่นเดียวกับผมหลายคนอ่านงานจิตรแล้วมาเสนอความเห็นใหม่ๆ หลายอย่าง นอกจากนั้นยังได้ฟังทัศนะของนักวิชาการรุ่นใหญ่อย่างอาจารย์ยิ้ม โต้โผจัดงานครั้งนั้น สุดท้ายงานผมกลายมาเป็นบทความรวมเล่มอยู่ในหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับจิตรที่อาจายร์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเป็นบรรณาธิการ 

อีกเล่มที่อ่านค่อนข้างจริงจังคือ "ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน" อ่านเพื่อไปพูดเรื่องศิลปะเพื่อชีวิตที่ร้านหนังสือก็องดิด ตอนนั้นร้านยังอยู่ที่ถนนตะนาว ผมอ่านไปหงุดหงิดไปกับวิธีคิดทางศิลปะของจิตร แล้วเถียงในใจไปตลอด ผมเอาวิธีคิดเกี่ยวกับศิลปะแบบมาร์กซิสต์ของ Raymond Williams ไปเถียงด้วยตลอด เพราะเห็นว่าข้อเสนอของจิตรแข็งทื่อเกินไป เสียดายที่ยังไม่มีโอกาสเขียนร่างที่พูดตอนนั้นเป็นบทความสักที ขณะนี้ก็คงหาร่างนั้นไม่เจอแล้วด้วย 

งานของจิตรที่ผมอ่านส่วนใหญ่อ่านสนุก อ่านแล้วชวนให้คิด ชวนให้เถียง มีทั้งหลักฐานและหลักเหตุผลที่หนักแน่นมาก แต่เขาก็เขียนหนังสือแบบท้าทาย เขียนด้วยภาษาที่เหมือนการเล่าเรื่อง เมื่อจบปริญญาเอกแล้วกลับมาสอนหนังสือ ผมให้นักศึกษาอ่านงานของจิตรมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความเป็นมาฯ" ผมให้นักศึกษาอ่านทุกปี ไม่ว่าจะชั้นปริญญาตรี โท หรือเอก ผมคิดว่า ถ้านักศึกษารุ่นหลังๆ จะไม่รู้จักงานเขียนที่ยิ่งใหญ่ของนักวิชาการไทยคนไหนเลย อย่างน้อยเขาจะต้องรู้จักและได้อ่านงานของจิตร ภูมิศักดิ์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก