Skip to main content

การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป เมื่อวาน (28 กันยายน 2560) หลังสัมมนาที่ธรรมศาสตร์ ในบรรยากาศสรวลเสเฮฮาต่อเนื่องกัน ท่ามกลางสายฝนที่เทลงมาอย่างหนัก ผมได้สนทนากับ "อาจารย์ลี่" อย่างออกรสชาติ 

ที่จริงน่าจะเรียกว่ามันเป็นบทสนทนาที่ต่อเนื่องจากการแลกเปลี่ยนกันทางโทรศัพท์ในไม่กี่วันก่อนหน้านั้นมากกว่า วันก่อนนั้นอาจารย์ลี่ถามคำถามใหญ่ว่า "คิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดพหุวัฒนธรรม" คำตอบที่สรุปกว้างๆ ของผมตอนหนึ่งคือ แนวคิดพหุวัฒนธรรมมักไม่สนใจการเมืองของความแตกต่าง การกดขี่และความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในความแตกต่างทางวัฒนธรรม มักถูกกลบเกลื่อนด้วยการเชิดชู "ความหลากหลาย" 

ส่วนหนึ่งผมคิดว่า การดำเนินนโยบายต่อสังคมที่แตกต่าง ต้องคิดจากสิ่งพื้นฐานคือ "ปากท้อง" ความแตกต่างนั้นจะถูกใช้เป็นพื้นฐานให้สังคมที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันอย่างอิ่มท้องได้อย่างไรด้วย ไม่ใช่แค่ส่งเสริมความหลากหลายโดยไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้เกิดความเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้เขาต่างจากเราอยู่อย่างนั้น โดยไม่ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของเขา

ประเด็นหนึ่งที่ผมไม่ศรัทธาแนวคิดที่ผมติดป้ายว่าเป็น "พหุวัฒนธรรมสายหวาน" ก็คือ การที่นักพหุวัฒนธรรมสายหวานมักเน้น "ความเข้าใจ" ผมแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ลี่ว่า การพยายามสร้างความเข้าใจมันออกจะมากเกินไป ยอมรับเถอะว่าถึงจุดหนึ่ง คนมันไม่มีทางเข้าใจกันได้หรอก อย่างเช่น จะให้คนที่เติบโตมากับการสอนให้เชื่อผีสางเทวดา ถูกสอนให้เชื่อกฎแห่งกรรม ถูกสอนให้เชื่อนรกสวรรค์อย่างผม (ส่วนจะเชื่อหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง) ไปเข้าใจเรื่องพระเจ้าองค์เดียวน่ะ เป็นเรื่องยากมากจนถึงกับเป็นไปไม่ได้หรอก

สิ่งที่เราทำได้อย่างมากก็คือส่งเสริมความเคารพซึ่งกันและกัน ทำได้แค่นั้นแหละ แล้วจะทำอย่างไรต่อไปที่จะทำให้สังคมที่แตกต่างนั้นสามารถพัฒนาความแตกต่างซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรม ให้กลายเป็นทุนทางเศรษฐกิจให้ได้ด้วย ไม่ใช่จะให้เขาต้องแช่แข็งอยู่กับอัตลักษณ์คร่ำครึดั้งเดิมอยู่อย่างนั้น

เมื่อวาน อาจารย์ลี่ถามคำถามใหญ่อีกคำถามว่า "วิชามานุษยวิทยาช่วยอะไรโลกได้ ช่วยอะไรมนุษย์ได้" เพราะในสายตาของอาจารย์ลี่ มานุษยวิทยาเป็นวิชาของเจ้าอาณานิคม ผมอึ้งกับคำถามใหญ่นี้ แต่ก็พยายามตอบเพื่อทดลองความคิดตนเอง

ผมคิดว่าวิชาความรู้ต่างๆ ต่างก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้ปกครองได้ทั้งนั้นแหละ อยู่ที่ว่าใครเป็นคนใช้ แล้วจะหยิบอะไรไปใช้อย่างไรมากกว่า ส่วนที่ว่ามานุษยวิทยาช่วยอะไรโลกได้ ผมตอบไปว่าวิชานี้ช่วยไม่ได้ตรงๆ หรอก แต่สิ่งที่มานุษยวิทยาช่วยได้คือการสร้างมุมมองความคิด 

อย่างแรกเลยที่มานุษยวิทยาสร้างคือ มานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษยชาติ หรือฝรั่งเรียกว่า humanity หรือที่บางคนใช้คำว่า "มนุษยภาพ" ก็คือความเป็นมนุษย์ที่มีเสมอเหมือนกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน อยู่มุมไหนของโลก ก็เป็นมนุษย์เสมอกัน ผมเชื่อว่าการศึกษาคนที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลมาก่อนของนักมานุษยวิทยา ช่วยโน้มนำให้ผู้ศึกษายอมรับนับถือความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เคารพความเป็นคนของกันและกันได้มากขึ้น ลดความเกลียดชังต่อกันได้มากขึ้น 

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ลี่คือ ผมว่ามานุษยวิทยาสนใจมุมมองจากคนด้อยโอกาส มุมมองจากคนไม่มีเสียง มุมมองจากคนเบื้องล่าง มุมมองจากคนชายขอบ แล้วนำเอามุมมองที่ได้จากคนเหล่านี้ไปสร้างข้อถกเถียง โต้แย้ง คัดง้างกับมุมมองของคนที่มีอำนาจ มุมมองที่มีมาก่อนแล้ว หรือมุมมองที่เชื่อมั่นกันอยู่ก่อนแล้ว 

ในทำนองเดียวกันนี้ การที่มานุษยวิทยาสนใจเรื่องราวเล็กๆ ประเด็นเล็กๆ ก็เพื่อทำเรื่องเล็กๆ เหล่านั้นให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ คลิฟเฟิร์ด เกิร์ซคือนักมานุษยวิทยาคนแรกๆ ที่ยืนยันว่า มุมมองจากการศึกษาประเด็นเล็กนั่นแหละที่จะนำไปสู่การถกเถียงในเชิงปรัชญาได้ งานมานุษยวิทยาจึงเป็นงานทางความคิดที่มาจากหมู่บ้าน มาจากสังคมห่างไกล มาจากคนที่เราไม่เคยสนใจเขามาก่อน หลักนี้เกิร์ซเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า microscopic

เมื่อเราได้ทัศนะแบบมนุษยภาพ และเมื่อสามารถเอาเรื่องราว เอามุมมองจากคนเบี้ยล่าง เอาเรื่องเล็กที่ถูกมองข้าม มาทำให้เป็นข้อถกเถียงใหญ่ได้แล้ว ผมเชื่อว่าวิธีที่เราเข้าใจมนุษย์และโลกจะเปลี่ยนไป แล้ววิธีคิดแบบนี้จะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันแบบใหม่ๆ มันจะค่อยๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในที่สุดเอง

คำถามที่ว่ามานุษยวิทยาช่วยอะไรโลกได้คงตอบได้หลายแบบ แต่วิธีหนึ่งที่ผมตอบคำถามของอาจารย์ลี่ช่วยให้ผมต้องกลับมาคิดต่อไปอีกว่า ผมใช้เวลาเกินครึ่งชีวิตที่ผ่านมาเรียนและทำงานด้านนี้ไปเพื่ออะไรกัน ผมเชื่อมั่นอะไรในสิ่งที่ผมทำอยู่ บางทีการเรียนการสอนของเรา ระบบประกันคุณภาพการศึกษาของเรา อาจจะกลบเกลื่อนบดบังเราไปจากการตั้งคำถามและพยายามตอบคำถามพื้นฐานแบบนี้ก็ได้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี