เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไรจากบทสนทนา ผมจับได้ว่าเธอคงคาดหวังให้ผมตอบอะไรประเภทที่ว่า สังคมควรช่วยกันตรวจสอบการสะกดผิด และคนใช้ภาษาควรใช้ภาษาให้ถูกต้องไม่วิบัติ แต่ผมกลับตอบไปตรงกันข้าม จนทำให้ผมต้องบอกเธอว่า "นี่เป็นความเห็นของผม คุณจะไม่เอาไปพิมพ์ในวารสารของคุณก็ได้นะ"
ผมตอบว่า หนึ่ง สังคมคาดหวังกับเรื่องนี้มากเกินไป การพิมพ์ผิดไม่ได้มีแต่การพิมพ์คะ ค่ะ แต่คำง่ายๆ อื่นๆ อย่าง "เพิ่ง" ก็พิมพ์เป็น "พึ่ง" หรือแม้แต่ผมเอง บางทีก็เขียน "มั้ย" เป็น "ไม๊" ซึ่งผิดหลักการเขียนภาษาไทย แต่คนก็พิมพ์ผิดกันเป็นประจำอยู่แล้ว
ผมว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะมันเป็นการใช้ภาษาอย่างไม่เป็นทางการ ภาษาที่ไม่เป็นทางการ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน มันไม่จำเป็นต้องถูกต้องตรงตามหลักอะไรชัดเจนหรอก ผมถามนิสิตคนนั้นดูว่า "คุณคิดว่าถ้าในระหว่างที่มีการสนทนากัน แล้วใครมาคอยบอกคุณทุกคำควบกล้ำและการออกเสียง "ร" ว่าต้องออกเสียงให้ชัดทุกคำ คุณจะอยากคุยกับเขามั้ย" แล้วผมถามอีกว่า "คุณพิมพ์ "การันต์" ทุกตัว ทุกคำ ในการเขียนบทสนทนากับเพื่อนคุณเหรอ"
ความคาดหวังนี้ ผมว่ามาจากการที่สังคมเรามีสำนึกอำนาจนิยมในการใช้ภาษา ต้องการสร้างความมาตรฐานของภาษาแล้วเอามาตรฐานนั้น ที่กำหนดโดยคนบางกลุ่ม ในกรุงเทพฯ ไปครอบคนใช้ภาษาปากทั่วๆ ไป และคนใช้ภาษาถิ่นอื่นๆ
อีกประเด็น ผมว่าการแยกคำว่า "คะ" กับ "ค่ะ" เป็นภาระของผู้หญิงมากเกินไป ทำไมผู้ชายไม่ใช้ "ครับ" "ขรั่บ" บ้างล่ะ ออกเสียงให้ต่างกันและเขียนให้ต่างกันในการถามและตอบรับบ้างสิ ผมว่ามันเป็นภาระของผู้หญิงที่จะต้องทำเสียงให้แตกต่างออกไป ส่วนผู้ชายสบายกว่า ไม่ว่าจะออกเสียงอย่างไร ก็เขียนแบบเดียวพอ อันนี้เป็นอุดมการณ์เพศที่แบ่งแยกหญิง-ชายในภาษา แยกเพศแบบมีแค่คู่หญิง-ชายเท่านั้นยังไม่พอ ยังไปคาดคั้นให้ผู้หญิงมีความลำบากในการใช้ภาษามากกว่าอีก
ประเด็นสุดท้าย ผมถามเธอว่า "แล้วคุณคิดว่าทำไม "ไ" กับ "ใ" ถึงเขียนไม่เหมือนกัน" เธอตอบว่า "คงเพราะเป็นเอกลัษณ์ของภาษาไทย" ผมบอก ถ้าตอบแค่นั้นมันไม่พอ คุณต้องลองค้นคว้าดูแล้วจะพบว่า "ไ" กับ "ใ" เดิมทีมันออกเสียงไม่เหมือนกัน แล้วคุณจะไปบอกว่าปู่ย่าตาทวดคุณทำไมไม่อนุรักษ์ภาษาไทย ทำไมทำลายภาษาไทย ไม่คงความแตกต่างของเสียงไว้แล้วมาทำให้คนรุ่นหลังสับสนทำไม อย่างนั้นหรือ
เธอถามผมว่า "แล้วอาจารย์คิดว่าเราไม่ต้องทำอะไรเหรอคะ" ผมตอบว่า "ตราบใดที่มันเป็นการเขียนแบบไม่เป็นทางการ ก็ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย ถ้าในการเขียนแบบเป็นทางการ ค่อยว่ากัน มันแค่เป็นคนละบริบทการใช้ภาษากัน ก็ใช้ภาษาไม่เหมือนกัน เท่านั้นเอง"
ภาษาเปลี่ยนแปลงตลอด เราไม่ได้พูดแบบเดียวกันกับที่คนเมื่อร้อย สองร้อยปีที่แล้วพูดหรอก เราไม่ได้เขียนแบบเดียวกับที่คนเมื่อก่อนเขียนเหมือนกันหรอก อย่าไปใช้อำนาจนิยมภาษากับอุดมการณ์ความเป็นเพศแบบตายตัวกำหนดอะไรในภาษาให้มากนักเลย ไม่ต้องคาดคั้นให้คนใช้ภาษาแบบเดียวตลอดเวลาหรอก สังคมไทยมันไม่ล่มสลายเพราะภาษาเปลี่ยนไปทุกวันหรอก