Skip to main content

ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม

ผมไม่มีปัญหากับการที่จะถ่ายรูปแต่งตัวแบบไหนหรือไม่แต่งมากมาย เพื่อถ่ายรูปคัทเอาต์ เพราะผมเข้าใจดีว่าการทำประชาสัมพันธ์ต้องการอะไร แล้วผ่านการคิดมาบ้างพอสมควร และถึงจะเรื่องโป๊จะเปลือยอย่างไร ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ อย่างที่กลุ่มนักศึกษาซึ่งเคยประท้วงเรื่องชุดนักศึกษา ก็เคยทำคัทเอาต์แรงๆ มาแล้ว ซึ่งผมก็เคยเห็นด้วยกับพวกเขาในตอนนั้น
 
แต่ผมว่า คำถามที่คนถกเถียงกันเรื่องคัทเอาต์ชุดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความสงสัยที่มีต่อกิจกรรมการเชียร์ของนักศึกษาด้วย จะเชียร์กันไปเพื่ออะไร เชียร์ลีดเดอร์มีไว้ทำไมกันแน่
 
ผมไม่แน่ใจว่าการแสดงออกด้วยการส่งเสียงดังๆ การฝึกซ้อมอย่างหนัก จนเรียกว่าหนักเกินกว่าที่อดีตเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัยใกล้ตัวผมจะเข้าใจได้ (คือเธอยืนยันว่า สมัยเธอไม่ได้หนักหนาขนาดนี้) แล้วล่ะก็ ผมก็ไม่รู้ว่ากิจกรรมนี้จะทำไปเพื่ออะไรกันแน่
 
ข้อดีส่วนหนึ่งการเชียร์คงช่วยให้นักศึกษาจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน จะได้ฝึกใช้ชีวิตร่วมกัน ฝึกทักษะทางสังคมต่างๆ ทำความเข้าใจการทำงานร่วมกัน รวมทั้งฝึกการเป็นผู้นำของสังคม ที่อาจเริ่มจากระเบียบความพร้อมเพรียง แต่สำหรับผม นั่นก็เป็นการร่วมสังคมและการมีภาวะผู้นำที่อยู่ในระดับหยาบเสียเหลือเกิน ไม่ต่างกับกิจกรรมวิ่งและทำอะไรให้ตรงตามจังหวะง่ายๆ แบบทหาร
 
แต่หลายต่อหลายครั้ง กิจกรรมนี้กลายเป็นกิจกรรมที่อยู่เหนือการเรียนการสอน จนเหมือนกับว่า พวกเขาเข้ามาเพื่อมีสังคมเป็นหลัก มากกว่าที่จะเข้ามาเพื่อศึษาหาความรู้ หรือมหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ความรู้อีกแล้วจริงๆ นั่นแหละ
 
ผมเคยตักเตือนนักศึกษาคนหนึ่งที่มาขอลาเรียนเพื่อไปร่วมกิจกรรมเชียร์ในห้องเรียนกว่าร้อยคนด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า "คุณเสียเงินแพงๆ มาเรียนโครงการพิเศษภาษาอังกฤษที่ได้สิทธิพิเศษคือการได้เรียนในกรุงเทพฯ ก็เพื่อไปร่วมกิจกรรมเชียร์อย่างนั้นหรือ คุณแน่ใจหรือว่าพ่อแม่ผู้ปกครองคุณที่เสียเงินให้คุณมาเรียนเขาเข้าใจสิ่งที่คุณเลือกจะทำ" ในที่สุดนักศึกษาคนนั้นก็ตัดสินใจนั่งเรียนต่อ อาจจะเพราะอับอายเพื่อนหรือสำนึกได้ก็ไม่ทราบ
 
ปัจจุบันกิจกรรมการเชียร์กลายเป็นกิจกรรมสำคัญและเบียดเบียนการใช้พื้นที่ว่างและพื้นที่เงียบสงบในมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง สมัยก่อนที่ท่าพระจันทร์ โรงอาหารริมน้ำ (เรียกกันว่าโรงอาหารเศรษฐ) เป็นที่พบปะกันของพวกเด็กเนิร์ดที่จะมานั่งถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิด เป็นที่สุมหัวของพวกชอบอ่านชอบเขียน เป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องห้องเรียน อาจารย์คนไหน ฯลฯ
 
แต่ปัจจุบัน ตรงไหนว่าง ไม่ว่าจะเวลาไหน ก็จะกลายเป็นที่ฝึกซ้อมการเป็นเชียร์ลีดเดอร์อย่างไม่เว้นเวลา หรือเพราะพื้นที่ถกเถียงย้ายไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์หมดแล้ว หรือเพราะไม่มีใครสนใจกิจกรรมทางปัญญากันแล้ว
 
ในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงของความขัดแย้งทางการเมืองและการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาใน 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ผมนับถือกิจกรรมการเชียร์ในงานบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ที่กล้าแสดงออก กล้ายืนหยัดที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และกล้าแม้จะต้องฝ่าฝืนการใช้อำนาจป่าเถื่อนของทหาร
 
งานบอลฯ หลายปีที่ผ่านมาจึงทำให้ผมรู้สึกว่า ผมเองก็ต้องทบทวนความเข้าใจของตนเองเสียใหม่ เพราะเดิมที เมื่อเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ผมไม่เคยเข้าร่วมงานบอลฯ และการเชียร์ เพราะผมเข้าใจว่า งานบอลฯ และการเชียร์แบบที่ทำกันนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของโซตัส และเป็นระบบที่สืบทอดความเป็นสถาบันนิยมและระบบชนชั้นทางการศึกษา
 
แต่เมื่อเดี๋ยวนี้การเชียร์กลับมาเน้นการแสดงออกที่เรือนร่างแบบในคัทเอาต์ที่กำลังถกเถียงกัน และกิจกรรมการเชียร์โดยทั่วๆ ไปก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการแสดงออกทางความคิดในฐานะปัญญาชนผู้มีเสรีภาพทางความคิด และมีความกล้าหาญที่จะแสดงออกแม้จะถูกกดทับปิดกั้น ผมก็ชักจะกลับมาไม่แน่ใจว่า ตกลงนักศึกษาธรรมศาสตร์คิดว่าการเชียร์และการมีเชียร์ลีดเดอร์ มีไปเพื่ออะไรกันแน่
 
มากไปกว่านั้น ผมก็ชักสงสัยว่า การเอาจริงเอาจังกับการเชียร์มากจนล้นพ้นนั้น ไปด้วยกันได้กับการพัฒนาการศึกษาหรือไม่ หรือมหาวิทยาลัยมีไว้เพื่อมาฝึกความพร้อมเพรียง ฝึกการยิ้มต่อหน้าคนนับพัน และฝึกการแสดงออกทางเรือนร่างของนักศึกษาบางคน มากกว่าจะมาสร้างการถกเถียงความคิด มาสร้างความรู้ มาพัฒนาการศึกษา กันแน่

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ