Skip to main content

ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม

ผมไม่มีปัญหากับการที่จะถ่ายรูปแต่งตัวแบบไหนหรือไม่แต่งมากมาย เพื่อถ่ายรูปคัทเอาต์ เพราะผมเข้าใจดีว่าการทำประชาสัมพันธ์ต้องการอะไร แล้วผ่านการคิดมาบ้างพอสมควร และถึงจะเรื่องโป๊จะเปลือยอย่างไร ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ อย่างที่กลุ่มนักศึกษาซึ่งเคยประท้วงเรื่องชุดนักศึกษา ก็เคยทำคัทเอาต์แรงๆ มาแล้ว ซึ่งผมก็เคยเห็นด้วยกับพวกเขาในตอนนั้น
 
แต่ผมว่า คำถามที่คนถกเถียงกันเรื่องคัทเอาต์ชุดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความสงสัยที่มีต่อกิจกรรมการเชียร์ของนักศึกษาด้วย จะเชียร์กันไปเพื่ออะไร เชียร์ลีดเดอร์มีไว้ทำไมกันแน่
 
ผมไม่แน่ใจว่าการแสดงออกด้วยการส่งเสียงดังๆ การฝึกซ้อมอย่างหนัก จนเรียกว่าหนักเกินกว่าที่อดีตเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัยใกล้ตัวผมจะเข้าใจได้ (คือเธอยืนยันว่า สมัยเธอไม่ได้หนักหนาขนาดนี้) แล้วล่ะก็ ผมก็ไม่รู้ว่ากิจกรรมนี้จะทำไปเพื่ออะไรกันแน่
 
ข้อดีส่วนหนึ่งการเชียร์คงช่วยให้นักศึกษาจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน จะได้ฝึกใช้ชีวิตร่วมกัน ฝึกทักษะทางสังคมต่างๆ ทำความเข้าใจการทำงานร่วมกัน รวมทั้งฝึกการเป็นผู้นำของสังคม ที่อาจเริ่มจากระเบียบความพร้อมเพรียง แต่สำหรับผม นั่นก็เป็นการร่วมสังคมและการมีภาวะผู้นำที่อยู่ในระดับหยาบเสียเหลือเกิน ไม่ต่างกับกิจกรรมวิ่งและทำอะไรให้ตรงตามจังหวะง่ายๆ แบบทหาร
 
แต่หลายต่อหลายครั้ง กิจกรรมนี้กลายเป็นกิจกรรมที่อยู่เหนือการเรียนการสอน จนเหมือนกับว่า พวกเขาเข้ามาเพื่อมีสังคมเป็นหลัก มากกว่าที่จะเข้ามาเพื่อศึษาหาความรู้ หรือมหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ความรู้อีกแล้วจริงๆ นั่นแหละ
 
ผมเคยตักเตือนนักศึกษาคนหนึ่งที่มาขอลาเรียนเพื่อไปร่วมกิจกรรมเชียร์ในห้องเรียนกว่าร้อยคนด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า "คุณเสียเงินแพงๆ มาเรียนโครงการพิเศษภาษาอังกฤษที่ได้สิทธิพิเศษคือการได้เรียนในกรุงเทพฯ ก็เพื่อไปร่วมกิจกรรมเชียร์อย่างนั้นหรือ คุณแน่ใจหรือว่าพ่อแม่ผู้ปกครองคุณที่เสียเงินให้คุณมาเรียนเขาเข้าใจสิ่งที่คุณเลือกจะทำ" ในที่สุดนักศึกษาคนนั้นก็ตัดสินใจนั่งเรียนต่อ อาจจะเพราะอับอายเพื่อนหรือสำนึกได้ก็ไม่ทราบ
 
ปัจจุบันกิจกรรมการเชียร์กลายเป็นกิจกรรมสำคัญและเบียดเบียนการใช้พื้นที่ว่างและพื้นที่เงียบสงบในมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง สมัยก่อนที่ท่าพระจันทร์ โรงอาหารริมน้ำ (เรียกกันว่าโรงอาหารเศรษฐ) เป็นที่พบปะกันของพวกเด็กเนิร์ดที่จะมานั่งถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิด เป็นที่สุมหัวของพวกชอบอ่านชอบเขียน เป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องห้องเรียน อาจารย์คนไหน ฯลฯ
 
แต่ปัจจุบัน ตรงไหนว่าง ไม่ว่าจะเวลาไหน ก็จะกลายเป็นที่ฝึกซ้อมการเป็นเชียร์ลีดเดอร์อย่างไม่เว้นเวลา หรือเพราะพื้นที่ถกเถียงย้ายไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์หมดแล้ว หรือเพราะไม่มีใครสนใจกิจกรรมทางปัญญากันแล้ว
 
ในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงของความขัดแย้งทางการเมืองและการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาใน 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ผมนับถือกิจกรรมการเชียร์ในงานบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ที่กล้าแสดงออก กล้ายืนหยัดที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และกล้าแม้จะต้องฝ่าฝืนการใช้อำนาจป่าเถื่อนของทหาร
 
งานบอลฯ หลายปีที่ผ่านมาจึงทำให้ผมรู้สึกว่า ผมเองก็ต้องทบทวนความเข้าใจของตนเองเสียใหม่ เพราะเดิมที เมื่อเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ผมไม่เคยเข้าร่วมงานบอลฯ และการเชียร์ เพราะผมเข้าใจว่า งานบอลฯ และการเชียร์แบบที่ทำกันนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของโซตัส และเป็นระบบที่สืบทอดความเป็นสถาบันนิยมและระบบชนชั้นทางการศึกษา
 
แต่เมื่อเดี๋ยวนี้การเชียร์กลับมาเน้นการแสดงออกที่เรือนร่างแบบในคัทเอาต์ที่กำลังถกเถียงกัน และกิจกรรมการเชียร์โดยทั่วๆ ไปก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการแสดงออกทางความคิดในฐานะปัญญาชนผู้มีเสรีภาพทางความคิด และมีความกล้าหาญที่จะแสดงออกแม้จะถูกกดทับปิดกั้น ผมก็ชักจะกลับมาไม่แน่ใจว่า ตกลงนักศึกษาธรรมศาสตร์คิดว่าการเชียร์และการมีเชียร์ลีดเดอร์ มีไปเพื่ออะไรกันแน่
 
มากไปกว่านั้น ผมก็ชักสงสัยว่า การเอาจริงเอาจังกับการเชียร์มากจนล้นพ้นนั้น ไปด้วยกันได้กับการพัฒนาการศึกษาหรือไม่ หรือมหาวิทยาลัยมีไว้เพื่อมาฝึกความพร้อมเพรียง ฝึกการยิ้มต่อหน้าคนนับพัน และฝึกการแสดงออกทางเรือนร่างของนักศึกษาบางคน มากกว่าจะมาสร้างการถกเถียงความคิด มาสร้างความรู้ มาพัฒนาการศึกษา กันแน่

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี