Skip to main content

คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 

งานเริ่มด้วยการฉายหนังสยองขวัญที่มีชั้นเชิงพอสมควรเรื่อง "ผีสามบาท ตอน ท่อนแขนนางรำ" ที่สร้างจากเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ แล้วนักศึกษาก็ชวนแลกเปลี่ยนเรื่องหนัง ว่าจะลองวิเคราะห์ได้อย่างไรบ้าง  

 

ผมก็ลองวิเคราะห์ไป ด้วยวิธีแบบโครงสร้างนิยมบ้าง ด้วยแนวคิดแบบความขัดแย้งเชิงชนชั้นบ้าง ด้วยแนวคิดแบบผีขวัญในของกำนัลบ้าง จะเล่าให้ครบก็จะยืดยาวเกินไป ขอเล่าเรื่องอื่นดีกว่า

 

แต่เริ่มแรกเลยก่อนสนทนาเรื่องหนัง นักศึกษาถามว่า "อาจารย์ศึกษาเรื่องเวียดนาม ทำวิจัยที่เวียดนาม ที่นั่นมีผีไหมคะ" 

 

นี่เป็นคำถามใหญ่มาก แน่นอนว่าเวียดนามมีผี ทุกที่ผมก็ว่ามีผีทั้งนั้นแหละ เพราะทุกที่มีคนตาย เพียงแต่ ผมพยายามนึกดู นึกย้อนกลับไปว่า ผมเคยเจอผีไหม ผมคิดว่าผมไม่เคยเจอผี เจอแต่ปรากฏการณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจอคนวิเศษที่เหนือมนุษย์ธรรมดา อะไรแบบนี้เคยเจอ แต่ไม่เคยเจอปรากฏการณ์ผี

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่กลัวผี ผมกลัวผี ผมบอกว่า ถ้าจะถามว่าผมนับถือศาสนาอะไร ศาสนาที่ผมอยากนับถือที่สุดคือศาสนาผีนี่แหละ ผมถือผี เมื่อก่อนผมเคยเจอปรากฏการณ์ผีอำอยู่บ่อยๆ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเป็นแล้ว ผมว่าส่วนหนึ่งมาจากความเครียด ส่วนหนึ่งมาจากร่างกาย 

 

แต่เวลาผีอำแต่ละที ผมก็ตกใจนั่นแหละ เพียงแต่ไม่คิดว่ามันเป็นการกระทำของผี แล้วผมก็จะพยายามสะกดความคิดตัวเองว่า ไม่ให้ท่องบทสวดของพุทธศาสนา เพราะผมกลัวพุทธศาสนาครอบงำมากกว่ากลัวผีอำ

 

กลับไปที่มานุษยวิทยา เมื่อคืนวานผมพยายามยกตัวอย่างสั้นๆ ความรู้มานุษยวิทยาทุกยุคทุกสมัยหมกมุ่นกับผีมากอย่างไร เช่น ย้อนไปถึงยุคเจมส์ เฟรเซอร์ เขาอธิบายว่าผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อที่คนสมัยก่อนมีเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พวกเขาเข้าใจเอาเองว่ามันเป็นอย่างนั้น คือ ผีเป็นวิธีหนึ่งที่คนสมัยก่อนอธิบายโลก เมื่อมีวิทยาศาสตร์แล้ว วิทยาศาสตร์ก็มาอธิบายโลกแทน

 

ยุคต่อมา ปรมาจารย์อย่างเอมิล เดอร์ไคม์เขียนหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตเขาว่าด้วยเรื่องศาสนา ซึ่งแท้จริงก็คือเรื่องผีนั่นแหละ ว่าผีก็คือสังคม สมการผี=สังคมมาจากการที่ผีคือพลังลึกลับของสังคม เ็นสัญลักษณ์ที่มีพลังดึงดูดทางจิตวิทยาในระดับชุมชน ระดับสังคม แล้วถูกถ่ายทอดให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์ที่เป็นรูปบูชา 

 

เดอร์ไคม์ในภาคนี้เป็นภาคที่เซอร์เรียล เด็มไปด้วยสัญวิทยาและการตีความ ต่างจากเดอร์ไคม์ภาควิทยาศาสตร์และสถิติ ที่นักสังคมวิทยามักให้ความสำคัญกัน เดอร์ไคม์ภาคนี้ส่งอิทธิพลต่อนักมานุษยวิยารุ่นต่อๆ มาอีกหลายคน ที่ขบคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์แะลสิ่งสาธารณ์ต่อจากเขา 

 

เช่น มาร์เซล โมส ที่พูดเรื่องของขวัญ ซึ่งมีวิญญาณของเจ้าของอยู่ หรือแมรี ดักลาส ที่พูดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากการรับรู้ต่อสิ่งที่อยู่ในสภาวะกำกวม ก้ำกึ่ง ไม่เสถียร สุ่มเสี่ยง 

 

ไปจนกระทั่งนักคิดอย่างจอร์จ บาไตล์ ที่เสนอความคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจทั่วไป ซึ่งต้องนับรวมทั้งการทำลายล้างหรือการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยไร้เหตุผล ว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าการผลิตและการคิดคำนวณอย่างสมเหตุสมผล แนวคิดนี้น่าจะมีอิทธิพลต่อปิแอร์ บูดิเยอร์ในยุคต่อมาไม่น้อยทีเดียว

 

ทางด้านของการต่อต้านการควบคุมของสังคมเองก็ใช่ย่อย เช่น มาร์กซ ที่เสนอว่าศาสนา ซึ่งผีก็เป็นหนึ่งในนั้น ถูกใช้เป็นยาฝิ่นหลอกลวงเพื่อควบคุมคน แต่สำหรับงานแนวฟูโกเดียน หรือนักรัฐศาสตร์ที่นักมานุษยวิทยาชองเอางานเขามาใช้อย่างเจมส์ สก็อตต์ ก็เสนอว่า ผู้ถูกกดขี่ก็อาจพลิกผีกลับมาใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านอำนาจได้เช่นกัน 

 

ในงานยุคหลังจากหลังโครงสร้างนิยม อย่างบรูโน ลาตูร์, ฟิลลิป เดสโกลา, และดอนนา ฮาราเวย์ ผีเป็นภาวะพ้นมนุษย์ที่ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ โดยไม่ควรพยายามลากเข้าสู่วิธีคิดที่ยังยึดเอามนุษย์และวิธีคิดแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง นอกเหนือจากการเข้าใจโลกจากมุมของสัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ มากกว่าจากมุมของมนุษยนิยมแล้ว การหามุมมองของผีที่หลุดออกจากวิธีคิดแบบเดิมเป็นความมุ่งมั่นของพวกเขา

 

สำหรับงานของผมเอง ไม่ว่านักมานุษยวิทยาคนอื่นจะทำงานกับอะไร แต่ผมเอง งานเขียนเกี่ยวกับคนไตของผมอยู่กับผีตลอด ผมชอบไปป่าช้า ผมชอบไปงานศพ อะไรที่เกี่ยวกับความเข้าใจเฉพาะตนของชาวไต มักจะเกี่ยวกับผี ผีอยู่ทั้งในชีวิตประจำวันและยิ่งอยู่ในพิธีกรรมของชาวไตที่ผมรู้จัก ผมคิดว่า โลกคนกับผีของชาวไตเป็นโลกแบบ magical realism อย่างยิ่ง

 

มาร์กซกับเองเกลส์พูดเป็นประโยคแรกใน "คำประกาศพรรคคอมมิวนิสม์" ว่า "ผีตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป นั่นคือผีคอมมิวนิสม์" มาร์กซและเองเกลส์คงไม่รู้ว่า ใน พ.ศ. นี้ ผีตนนั้นยังหลอกหลอนชนชั้นนำไทยอยู่เลย ภาวะผีจึงเป็นภาวะที่พ้นการจัดการของสังคม ตราบใดที่ยังมีภาวะเหนือการจัดการของมนุษย์อยู่ ก็ยังมีภาวะผี ไม่ว่าผีตนนั้นจะอยู่ในรูปใด

 

ผมว่า ที่นิชเชอบอกว่า "พระเจ้าตายแล้ว" น่ะ ก็คงจริงอยู่กับคนส่วนน้อยมากๆ อยู่นั่นเอง เพราะความสำนึกต่อการมีอยู่ของผียังคงหลอกหลอนผู้คนอยู่เสมอ ที่แน่ๆ คือ สำหรับนักเรียนมานุษยวิทยา ผีหลอกหลอนวิชานี้ตลอดเวลา นี่ทำให้ผมเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยประการหนึ่งคือ วิชามานุษยวิทยานั้นหมกมุ่นกับผีมาก ถ้าไม่มีผี วิชามานุษยวิทยาคงอยู่ไม่ได้  

 

แต่นอกจากความกลัวที่คนมีต่อผีแล้ว ผมว่าผีเป็นสิ่งน่ากลัวที่พิเศษอยู่อย่างคือ คนกลัวผีแต่ก็ชอบผี เรากลัว แต่ก็อยากเจอ อยากเห็น คนชอบเรื่องผี คนพึ่งพิงผี คนไม่อยากอยู่ใกล้ แต่ไม่ได้รังเกียจผีขนาดที่จะต้องกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วเลิกกลัวผีกันไปหมด เป็นไปได้ที่ผีจะมีพลังเร้นลับบางอย่างที่อาจจะคอยแอบสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยู่เงียบๆ ไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมมนุษย์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา